อินเดียในไสยเวทจีน (2) : พระอุจฉุษมะวิทยาราช พระครูไสยเวท

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในบทเทพมนต์อัญเชิญครู (สีนจิ่ว) ของสำนักไสยเวทซำตั๋วหรือตรีปะรำนั้น มีกล่าวถึงเทวาจารย์ต่างๆ ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานกับไสยเวทจีนได้อย่างดี

เหตุว่าเทวาจารย์หลายองค์ที่กล่าวถึงนั้น มาจากสายมนตรยานตะวันออกโดยตรงทีเดียว

ที่จริงต้องบอกก่อนนะครับว่า แม้บทจิ่วจะเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ไสยเวทในบ้านเราเป็นอย่างดีโดยเฉพาะ “ปุนตั๋วจิ่ว” เพราะมักใช้ในการประกอบพิธีอย่างแพร่หลาย

แต่ก็ยังมีจิ่วที่เรียกว่า “เจี่ยจิ่ว” หรือ “จิ่วแท้” ที่มิค่อยแพร่หลายเท่าใด จิ่วเหล่านี้เป็นร่องรอยอย่างดีของอดีตกาล

เทวาจารย์องค์แรกที่ปรากฏใน “ซำต๋านเจี่ยจิ่ว” (ตั๋วกับต๋าน เป็นคำเดียวกัน แปลว่า ปะรำ, แท่นพิธีหรือมณฑล เพียงแต่เป็นภาษาปากกับภาษาหนังสือ) หรือบทเทพมนต์อัญเชิญครูสายตรีปะรำ คือ “โห้ยเจ็กกิมก๊องเบ๋งอ๋อง” ซึ่งมีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า “อุจฺฉุษฺมะ มหาวิทยาราช” หรือพระวัชรเทพอุจฉุษมะ วิทยาราช

 

พุทธศาสนาสายมนตรยานตะวันออก นอกจากจะนับถือพระพุทธะและพระโพธิสัตว์หลากหลายแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ที่การนับถือ “วิทยาราช” หรือราชาแห่งความรู้ แต่คำว่าวิทยาในที่นี้มิได้หมายถึงความรู้โดยทั่วไป เพราะหมายถึงมนต์หรือพระธารณี อันเป็นมหาวิทยาคือยังให้ผู้ภาวนาเข้าถึงความหลุดพ้นได้ตามมโนทัศน์ของมนตรยาน/วัชรยาน

พระวิทยาราช (ภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยนเรียกเบ๋งอ๋อง ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงเป็น เมียวโอ) หากอธิบายโดยสังเขป คือผู้ช่วยของพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ เพื่อขจัดอุปสรรค ความโชคร้ายอาภัพอัปภาคย์ ตลอดจนสิ่งขัดขวางการบรรลุธรรมและการประกอบกรณียกิจต่างๆ จึงต้องปรากฏในปางพิโรธ พร้อมพรั่งด้วยสรรพาวุธต่างๆ

วิทยาราชเหล่านี้ เดิมก็เป็นเทพของชาวบ้านซึ่งนับถือกันทั้งฝ่ายฮินดูและพุทธในอินเดีย เช่น พระอุจฉุษมะเองก็พัฒนามาจากปางดุร้ายของพระศิวะ

ทว่า พุทธศาสนาได้แปลงให้เข้ากับคติพุทธโดยถือว่า วิทยาราชเหล่านี้เป็น “นิรมาณกาย” ของพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

วิทยาราชจึงมีมากมายหลายพระองค์ จัดเป็นกลุ่มแปดองค์บ้าง สิบองค์บ้าง แต่ที่นิยมนับถือในมนตรยานตะวันออกมีทั้งสิ้นห้าพระองค์ ได้แก่ วัชรยักษะหรืออุจฉุษมะ, ไตรโลกยวิชัย, กุณฑาลี, ยมานตกะ และอจละ

องค์หลังนี้ คนที่สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอาจพอรู้จัก เพราะไปเที่ยววัดไหนๆ ในญี่ปุ่นก็มักจะเจอรูปเคารพของท่าน รวมทั้งปรากฏในมังงะหรืออนิเมะด้วย ญี่ปุ่นเรียกอจลวิทยาราชว่า ฟุโดเมียวโอ

 

ปัญจวิทยาราชทั้งห้า เป็นนิรมาณกายของพระปัญจพุทธะดังนี้ พระอจละมาจากพระไวโรจนะ อยู่ในมณฑลกลาง, พระไตรโลกยวิชัยมาจากพระอักโษภยะอยู่ในทิศตะวันออก, พระกุณฑาลีมาจากพระรัตนสัมภวะ อยู่ทิศใต้, พระยมานตกะมาจากพระอมิตาภะ อยู่ในทิศตะวันตก และพระอุจฉุษมะหรือพระวัชรยักษะมาจากพระอโมฆสิทธิ อยู่ในทิศเหนือ (ขนบชินงอนและเทนได)

พระอุจฉุษมะ เมื่อพระนามถูกแปลเข้าภาษาจีนก็แยกออกไปสองทาง ทางหนึ่งแปลว่าผู้มีรัศมีไฟบนพระเศียร ตามรูปลักษณะในขนบวัชรยาน ซึ่งไฟหมายถึงพละแห่งมหากรุณาอันจะเผาผลาญเสียซึ่งมารภัยและอุปสรรคต่างๆ อีกทางแปลว่า วิทยาราชผู้เกี่ยวข้องปฏิกูลกับหรือผู้ขจัดปฏิกูล

เหตุที่พระอุจฉุษมะไปเกี่ยวกับปฏิกูลนี้ มีปรากฏในพระสูตรชื่อ “อุจฉุษมะ วัชรปาลสูตร” ความว่า เมื่อพระพุทธะใกล้จะเข้าปรินิพพาน บรรดาปวงเทวาก็มาเฝ้าเพื่อสักการะและฟังธรรมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่พระพรหมองค์หนึ่งด้วยยังเพลิดเพลินอยู่กับนางอัปสรและบริวาร

เทวดาทั้งหลายต่างรู้สึกไม่พอใจ จึงพากันไปเฝ้าพรหมองค์นั้นแล้วเร่งเร้าให้มายังที่ประชุม ทว่า ยิ่งทำให้พรหมองค์นั้นพิโรธ จึงเสกให้เกิดมีอุจจาระและปฏิกูลต่างๆ ลอยพุ่งไปยังพวกเทวดา เพื่อจะให้หลีกหนีไปเสีย ทำให้พวกเทวดาต่างมีเนื้อตัวสกปรก มีกลิ่นเหม็นจนแทบทนอยู่ไม่ได้

ได้รับทุกขเวทนาต่างๆ

 

พระพุทธองค์ผู้มีพระกรุณาธิคุณ เมื่อทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงทรงเข้าสมาธิ จากพระทัยอันบริสุทธิ์หมดจดไร้มลทิน บังเกิดเป็นพระวัชรเทพองค์หนึ่งนามว่าอุจฉุษมะ เหาะขึ้นไปยังวิมานของพรหมองค์นั้น แล้วใช้อำนาจแปรเปลี่ยนให้สิ่งปฏิกูลทั้งหลายกลายเป็นเพียงดินอันสะอาด จากนั้นจึงนำพรหมลงมาเฝ้าขมาพระพุทธองค์ได้

ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า พระอุจฉุษมะ เป็นพระวิทยาราชผู้สามารถขจัดมลทินโทษต่างๆ

ส่วนพระศูรางคมสูตรกล่าวถึงพระอุจฉุษมะ ในเวลาที่พระพุทธองค์โปรดให้เหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายแสดงภูมิธรรมแห่งตน พระอุจฉษมะปรากฏเป็นบุคคลที่สิบแปดผู้แสดงธรรมท่ามกลางสมาคม เพียงแต่มิได้กล่าวถึงรูปลักษณะอะไรเป็นพิเศษ

รูปเคารพของพระอุจฉุษมะ เป็นบุรุษร่างกำยำ กายสีน้ำเงินหรือน้ำตาล มีสามพักตร์ ใบหน้าดุร้ายแสยะเขี้ยว ดวงตาเบิกกว้าง เกศาเป็นเปลวชี้ขึ้นบน มักมีแปดกร แต่ละกรทำมุทราและถืออาวุธ เช่น ดาบ บ่วงบาศ วัชระ ฯลฯ

ที่กรทั้งแปดปรากฏนาคที่มีพิษร้ายกระหวัดพันอยู่ พระองค์ยกบาทขึ้นหนึ่งข้าง นุ่งห่มด้วยหนังเสือและมีเครื่องประดับตามแบบวัชรเทพปางพิโรธ มีเปลวไฟล้อมรอบเศียรหรือล้อมกายทั้งหมด บนเศียรมักสร้างเป็นรูปพระศากยมุนีองค์เล็กๆ เพื่อแสดงให้ทราบว่า พระองค์เป็นนิรมาณกายของพระศากยมุนีนั่นเอง

ภาพ – อุสุซามะ เมียวโอ (อุจฉุษมะ วิทยราช) ภาพเขียนศิลปะญี่ปุ่น สมัยคามาคุระ ศตวรรษที่ 14 อยู่ที่ Nara National Museum

ความเชื่อเรื่องพระอุจฉุษมะ ปรากฏและเป็นที่นิยมมากสมัยปลายราชวงศ์ถัง ผ่านความแพร่หลายของนิกายมนตรยานตะวันออก จนเกิดมีลัทธิ (cult) ที่นับถือพระอุจฉุษมะขึ้นมาเอง

รูปเคารพของพระอุจฉุษมะจึงพบได้ในวัดวาอารามต่างๆ ทั้งยังเป็นที่เคารพนอกเหนือจากนิกายมนตรยานอีกด้วย โดยเฉพาะนิกายฉานหรือนิกายเซนและนิกายเทียนต๋ายหรือเทียนไท้

เมื่อทั้งนิกายชินงอน นิกายเซนและนิกายเทียนต๋ายไปแพร่หลายอยู่ในญี่ปุ่นแล้ว ความนิยมนับถือพระอุจฉุษมะก็แพร่หลายในญี่ปุ่นด้วย

ทว่า ญี่ปุ่นเน้นบทบาทการขจัดมลทินโทษของพระองค์มากเป็นพิเศษ จึงเชื่อว่าท่านเป็นผู้พิทักษ์ความบริสุทธิ์ของวัดวาอาราม

ประกอบกับตำนานจากอุจฉุษมะ วัชรปาลสูตร จึงมักประดิษฐานรูปของท่านไว้หน้าห้องน้ำ ผิดกับทางจีนที่ประดิษฐานไว้ที่วิหารใหญ่หรือมหาวีระวิหาร

ชาวบ้านจึงเข้าใจไปว่า พระอุจฉุษมะ เป็นเทพเจ้าแห่งห้องน้ำ (god of toilet) ทั้งยังเชื่อว่า อำนาจของท่านที่ชำระมลทินต่างๆ ได้นั้น ก็จะช่วยปกป้องพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากความไม่สะอาด เช่น โรคทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

 

ครั้นถึงสมัยหมิง พระอุจฉุษมะได้รับความนิยมนับถือแพร่หลายอีกครั้ง ด้วยเพราะสมัยนั้นอิทธิพลของศาสนาหลักเช่นพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสานกับศาสนาเต๋าและศาสนาของชาวบ้านมาก ดินแดนทางตอนใต้ของจีนคือมณฑลฮกเกี้ยน อีกทั้งซึ่งยังมีศาสนาและวัฒนธรรมสมัยถังหลงเหลืออยู่มาก จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการนับถือพระอุจฉุษมะ

ในทางศาสนพิธีของพุทธฝั่งจีนใต้ มนต์ธารณีแห่งพระอุจฉุษมะยังนิยมสวดในบททำวัตรและก่อนสวดพระสูตรต่างๆ คือมนต์ชำระวจีกรรม (สันสกฤตว่า โอม ศูริ ศูริ มหาศูริ ศูศูริ สวาหา, จีนออกเสียงว่า อาม ซิวหลี่ ซิลหลี่ มอโฮ ซิวหลี่ ซิวซิวหลี่ สาดโพโฮ ) มนต์ชำระกายกรรม (โอม ศูตารี ศูตาริ ศูมริ ศูมริ สวาหา, จีนออกเสียงว่า อาม ซิวโตหลี่ ซิวโตหลี่ ซิวมอหลี่ ซิวมอหลี่ สาด โพโฮ) เชื่อว่ามนต์ทั้งสองสามารถชำระล้างวาจา และกายให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าสู่พิธีกรรมหรือการสวดสาธยายพระสูตรสำคัญ

ในทางไสยเวท ปกติพิธีเชิญครูก่อนประกอบพิธีทางไสย แม้จะมิได้เชิญพระอุจฉูษมะลงมาปกโปรดศิษย์โดยตรงอย่างพระครูทั้งสามของตรีปะรำ เพราะถือกันว่าท่านสถิตในพุทธเกษตร แต่ในบทครูรวมหรือในบททำน้ำมนต์จะกล่าวถึงท่านเสมอ และในงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมของฝ่ายซำตั๋ว ก็มักมีรูปพระวิทยาราชองค์นี้ปรากฏอยู่

กระนั้น ในบางพิธีกรรม จะอัญเชิญพระอุจฉุษมะเพื่อลงมาเสกน้ำมนต์ดับพิษไข้และขจัดโรคภัยไข้เจ็บ บางพิธียังสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจหรือโรคระบาดโดยบารมีของพระวิทยาราชได้ เพราะในทัศนะทางไสยนั้น ภูตผีปีศาลก็จัดเป็น “มลทินโทษ” หรือความไม่สะอาดบริสุทธิ์อย่างหนึ่งนั่นเอง

 

อันที่จริงการอัญเชิญพระอุจฉุษมะ แม้ในประเพณีไสยศาสตร์ชาวบ้านก็ยังมีความเป็นมนตรยานหรือวัชรยานหลงเหลืออยู่ เพราะไม่ใช่แค่มีเพียงการสวดมนต์อ้อนวอนเท่านั้น แต่ยังต้องมีการภาวนาตั้งนิมิต กระทำมุทราและการเพ่งพีชะพยางค์ตามระบบมนตรยานทุกประการ

ทั้งผู้ประกอบพิธีเองจำจะต้องได้รับการอนุญาตหรือผ่านการครอบครูมาแล้ว จึงจะสามารถอัญเชิญและประกอบพิธีเกี่ยวกับพระวิทยาราชองค์นี้ได้ คล้ายคลึงกับการรับอนุญาตหรือการอภิเษกในวิถีวัชรยาน

พระอุจฉุษมะวิทยาราช จึงเป็นตัวแทนของความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างไสยเวทจีนกับพุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานตะวันออก ระหว่างจีนตอนใต้กับวัฒนธรรมและความเชื่อซึ่งสืบทอดมาจากสมัยถัง

และระหว่างอินเดียกับจีน •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อินเดียในไสยเวทจีน : มนตรยานในไสยเวทจีน (1)