ตั้งโจทย์ ‘ของขวัญปีใหม่ 2568’ ถอดบทเรียนแจกเงิน 10,000 ผุดแพ็กเกจ ‘พายุหมุนเศรษฐกิจ’

ภาคเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย ไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ เหมือนในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากหากเศรษฐกิจดี ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ปัญหาในสังคมจะลดน้อยลงไปด้วย เพราะเท่ากับการก่ออาชญากรรมที่ใช้เหตุผลผ่านความจำเป็นจะไม่มี หรือลดน้อยลง

สะท้อนจากภาวะปัจจุบันที่เหตุลักจี้ชิงปล้นมีให้เห็นผ่านภาพข่าวอย่างหนาตา และกลุ่มผู้ก่อเหตุมักเป็นกลุ่มคนระดับกลางลงมา โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอต่อการบริโภคอุปโภค ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หน้ามืด สุดท้ายก็ลงที่การแก้ไขปัญหาในทางที่ผิด

เมื่อภาพเป็นแบบนี้ รัฐบาลจึงพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเรือธงอย่างการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่สุดท้ายต้องเปลี่ยนมาเป็นการแจกเงินสด 10,000 บาทต่อคน ให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนในเฟสแรก เนื่องจากงบประมาณที่จะแจกให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างที่ประกาศไว้ อาจเป็นโครงการที่ขนาดใหญ่จนเกินกำลัง

แต่พอแจกเงินให้กับประชาชนไปแล้วพบว่า กระแสเงินที่ประชาชนได้ไปดูเงียบเหงาเบาบางกว่าที่ควรจะเป็น!!!

รวมถึงการประกาศการแจกเงินหมื่นให้กับประชาชนกลุ่มทั่วไป ในเฟสถัดจากนี้ ซึ่งข้อมูลจาก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 2 นั้น ยังไม่มีข้อสรุป

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งเครื่องทางการคลังไปหนักพอสมควร ก็อาจใช้มาตรการกระตุ้นในระดับที่เหมาะสม โดยจะต้องดูว่าเม็ดเงินมีเท่าไหร่ และยอดคนลงทะเบียนเท่าไหร่ หากอยู่ในระดับที่ทำได้ทั้งหมด รัฐบาลจะดำเนินการในครั้งเดียว แต่หากจำนวนประชาชนที่เหลืออยู่ ยังขาดงบประมาณในการดูแลอีกเยอะ ต้องหาเงินจากที่อื่น ซึ่งอาจกระทบกระบวนการงบประมาณ

หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการแบ่งโครงการแจกเงินดิจิทัลเป็นเฟสย่อยไปอีก อาจเป็นเฟส 2 และเฟส 3

 

เรื่องนี้ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า กระแสการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามที่ฝ่ายวิชาการคาดการณ์ไว้ คือ โครงการนี้คงไม่สามารถสร้างพายุทางเศรษฐกิจได้ 4-5 รอบจริงอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ ผลทั้งหมดของการแจกเงินรอบที่ผ่านมา เต็มที่คงหมุนได้อยู่ที่ 1.2-1.5 เท่า และใช้เวลากระจายไป 4-5 ปี โดยปีแรกจะมากที่สุด จากความตื่นเต้น การตื่นตัวในการจับจ่ายใช้สอยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น ขณะที่ช่วงถัดไปจะเบาบางลงแบบอัตโนมัติ จนไม่ค่อยได้เห็นว่ามีผลกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนักในส่วนของประชาชน

รูปแบบการอัดฉีดด้วยขนาดของโครงการที่จะแจกในเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน ประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาทที่มีการจ่ายออกไป ถือว่าสอดรับกับสถานการณ์ในด้านเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวไม่มากนัก ทำให้หน้าที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะมีเหลือแล้วในความคิดเห็นจากการประเมินภาพรวม

สิ่งที่ภาครัฐบาลควรดำเนินการต่อจากนี้คือ ยังไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แม้กระแสการหมุนของพายุอาจไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่หากพิจารณาสถานการณ์ในด้านเศรษฐกิจ ถือว่าไม่ได้มีเหตุผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ คือ

1. เริ่มต้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาสำคัญอย่างหนี้ พยายามหาทางแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน

2. ดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่บางส่วนเผชิญกับปัญหาหนี้ อีกบางส่วนเป็นปัญหาอื่น

และ 3. แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง อาทิ ภาคการท่องเที่ยวที่รายได้ของท่องเที่ยวกระจุกตัวเพียง 20 จังหวัดใหญ่ๆ ขณะที่จังหวัดอื่นยังไม่ได้เกิดการท่องเที่ยวมากนัก

โดยต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ อาทิ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาคการส่งออกไทยยังพอไปได้ แต่หากรวมกับภาคการนำเข้า หลังๆ เริ่มเกินดุลน้อยลง หรือเกิดการขาดดุลการค้าด้วย จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเชิงโครงสร้างเหล่านี้

 

โครงการแจกเงินหมื่นให้กับประชาชน ที่ปรับรูปแบบมาจากการแจกเงินดิจิทัลนั้น ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจากนี้เป็นต้นไป เพราะภาควิชาการออกมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการประเมินภาพรวมเสมอว่า เห็นต่างจากภาครัฐที่ไม่น่าจะเกิดพายุทางเศรษฐกิจได้มากเท่าที่รัฐบาลประเมินไว้

รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐไม่สามารถแจกได้เท่าเดิมตั้งเป้าไว้ ประมาณ 50 ล้านคน สามารถแจกได้เพียงกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักใช้จ่ายทั้งหมด แต่ไม่เห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรง

สะท้อนถึงภาพทั้งเรื่องการแจกเงินในกลุ่มที่ไม่ได้มีความจำเป็น แม้จะมีความลำบากอยู่ และประสิทธิผลของโครงการ เนื่องจากการแจกในรูปแบบนี้ไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายของภาครัฐได้ ทำให้เปลี่ยนกลุ่มในการแจกเงิน

ภาครัฐบาลจึงต้องหันมาเชื่อภาควิชาการมากขี้น เพราะมีการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ

 

ขณะที่ ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กระแสการแจกเงิน 10,000 บาทให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ประเมินผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนกันยายน พบว่า การโอนเงินหมื่นเป็นการโอนเงินให้ช่วงปลายเดือนกันยายนแล้ว ทำให้เห็นผลต่อเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายบ้าง แต่ยังไม่ได้เยอะมากนัก อาทิ การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในบ้านเพิ่มขึ้นบ้าง จึงคาดว่าจะมีการใช้จ่ายในเดือนตุลาคมนี้มากขึ้นแทน ซึ่งต้องดูเครื่องชี้วัดในช่วงถัดไปอีกครั้ง

ชญาวดีกล่าวเสริมว่า มองไปข้างหน้าทิศทางยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ โดยมีแรงส่งมาจากภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ เดือนกันยายน 2567 ปรับลดลงจากเดือนก่อน 3.2% มีจำนวนอยู่ที่ 2.8 ล้านคน แต่เป็นการปรับลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เร่งไปก่อนหน้า และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ปรับลดลงบ้าง เพราะวันหยุดยาวหมดแล้ว

ส่วนประเทศที่เพิ่มขึ้น มีมาเลเซีย เกาหลีใต้ และลาว นักท่องเที่ยวระยะไกลเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ตามการทยอยเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) แล้ว ส่วนการส่งออกยังคงกดดันอยู่ เดือนกันยายน ส่งออกปรับลดลง 3.3% หลังจากการเร่งตัวไป

ก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มยานยนต์จากการส่งออกไปในตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ส่วนเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เร่งก่อนหน้าจากอุปทานของคู่ค้า ส่วนสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับ อัญมณี ที่ปรับเพิ่มตามการจัดแสดงสินค้า หากดูการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปรับเพิ่มขึ้น 6.1% ซึ่งเป็นผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

จากมุมมองข้างต้น สะท้อนที่ผ่านมาประเทศไทยมีการถอดบทเรียนเหตุการณ์วิกฤตหลายต่อหลายครั้ง ทำให้อาจต้องมาคิดกันอย่างจริงจังแล้วว่า บทเรียนที่ได้ถอดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถือว่าได้มีการเรียนรู้จริงๆ จังๆ กันบ้างหรือไม่

อีกโจทย์ที่รัฐบาลต้องไปทบทวนถึง “ของขวัญปีใหม่ 2568 ที่เตรียมมอบให้ประชาชน” ในเร็วๆ นี้