สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [1] เมืองใหญ่ก่อนรับอินเดีย

ชุมชนหมู่บ้านบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง อยู่บนสุวรรณภูมิชุมทางการค้าแร่ธาตุกับอินเดียและการค้ากับจีน ได้รับประโยชน์โดยตรงจนมั่งคั่งจากการค้าระยะไกลทางทะเลสมัยเริ่มแรก ทำให้เติบโต ดังนี้

(1.) ชุมชนหมู่บ้านขยายตัวเติบโตเป็นชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐ ยกย่องหญิง “หมอมด” เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom)

(2.) คนหลากหลายชาติพันธุ์จากหลายทิศทางพากันโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งนั้น ได้แก่ กลุ่มชนจากลุ่มน้ำฮวงโหและแยงซี (ในจีน) และจากภูมิภาคทางทะเลสมุทร เช่น จีน, อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย)

(3.) ขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 (จากรายงานการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี) ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดีย

(4.) รับวัฒนธรรมอินเดียอย่างเลือกสรรเพื่อศาสนา-การเมือง

สัญลักษณ์ของอำนาจศาสนา-การเมืองสมัยแรกๆ (ภาพ) เครื่องประดับทองคำ พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ศาสนาเพื่อการเมือง

ศาสนามิได้แยกอยู่อย่างลอยๆ หรือโดดเดี่ยวจากสังคมและการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับจากอินเดียและลังกา (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงหลังรับจากอินเดียและลังกาตราบจนปัจจุบัน

[อินเดียและลังกาใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขยายการค้าทางทะเลสู่อุษาคเนย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักปราชญ์และนักวิชาการในสากลโลก]

อุษาคเนย์ประกอบด้วยคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์มี “ผี” ของตนเสมือนมี “ร้อยเผ่าพันผี” ต่างขัดแย้งกันเมื่อยกย่อง “ผี” กลุ่มของตนอยู่เหนือ “ผี” กลุ่มอื่น ดังนั้น คนชั้นนำพื้นเมืองเลือกรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธมาใช้งานการเมืองการปกครองเพื่อหลอมคน “ร้อยเผ่าพันผี” มาร่วมนับถือศาสนาและ “ศาสดา” เดียวกัน ซึ่งเป็นศาสนาใหม่ประสมกลมกลืนระหว่างผี, พราหมณ์, พุทธ

นับแต่นั้นศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ ถูกใช้งานการเมืองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (เพศชาย) ในการปกครองคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ศาสนาจากอินเดียมีพลังอำนาจยกฐานะของหัวหน้าเผ่าพื้นเมือง (นักวิชาการบอกว่าตรงกับศัพท์สากลว่า Chiefdom) ขึ้นเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” จากนั้นศาสนาจากอินเดียทำหน้าที่ผู้พิทักษ์โดยผ่านพิธีกรรมและภาษากับวรรณกรรม

วัฒนธรรมอินเดียเพื่อผดุงอำนาจชนชั้นนำและเป็นสาระสำคัญของภาษาและวรรณกรรมไทย คือข้อมูลความรู้หลายอย่างเป็นแกนหลักทางศาสนา-การเมือง ได้แก่ กำเนิดโลกและมนุษย์, จักรพรรดิราช, สมมุติราช, เทวราช, มหาภารตะ-รามายณะ

“ทวารวดี” ชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ พบทั่วไปในอุษาคเนย์ ไม่เป็นหลักฐานของเมืองใดเมืองหนึ่งตามที่นักโบราณคดีไทย (ปัจจุบัน) กำหนดจากอคติ (ภาพ) เหรียญเงินมีจารึก “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย” (การบุณย์แห่งพระเจ้าศรีทวารวดี) พบที่คอกช้างดิน นอกเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

วัฒนธรรมอินเดียผดุงอำนาจชนชั้นนำ

วัฒนธรรมอินเดียมีศักยภาพสูงในการเพิ่มพลังทางภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์รวมทั้งไทย เพื่อผดุงอำนาจชนชั้นนำเหนือคนกลุ่มอื่น

อำนาจของราชาหรือกษัตริย์และสถานะของราชาหรือกษัตริย์เสมอด้วยพระพุทธเจ้า มีขึ้นจากระบบความเชื่อซึ่งได้จากวรรณกรรมทางศาสนาของอินเดีย ต่อมามีชื่อเรียกเป็นคติต่างๆ ว่า คติจักรพรรดิราช, คติเทวราช, คติธรรมราช, คติโพธิสัตว์ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นพลังให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นสูงของไทยสมัยต่อไป เพื่อสรรเสริญราชาหรือกษัตริย์ และสรรเสริญกรุงซึ่งเป็นที่ประทับและศูนย์กลางอำนาจเหล่านั้น

วรรณกรรมชั้นสูงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อพิธีกรรมตามประเพณีในราชสำนัก ไม่ได้มีขึ้นเพื่อการอ่านทั่วไป (ตามลักษณะปัจเจกอย่างที่มีอ่านกันทุกวันนี้) ดังนั้น ผู้อ่านวรรณกรรมจึงมีจำกัดคัดลอกในกลุ่มคนชั้นสูงจำนวนไม่มาก ส่วนประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่รับรู้ เพราะเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

 

เลือกรับวัฒนธรรมอินเดีย

ในการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร บรรดานักเสี่ยงโชคทางการค้าจากอินเดียใต้ต้องเข้าหาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับหัวหน้าเผ่าพันธุ์

ต่อมาหัวหน้าเผ่าพันธุ์ว่าจ้างนักเสี่ยงโชคบางคนบางกลุ่มเป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการค้า, การเมือง, การศาสนา ตลอดจนข้อมูลความรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้โดยไม่มีอำนาจครอบงำและสั่งการใดๆ ดังพบว่าหัวหน้าเผ่าพันธุ์เลือกรับวัฒนธรรมอินเดียด้วยวิธีไม่รับทั้งหมดที่มาจากอินเดีย เช่น ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาขั้นสูง, ไม่รับระบบวรรณะ เป็นต้น

ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาขั้นสูง หมายถึง ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาและวรรณกรรมชั้นสูงทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเน้นพิธีกรรมเป็นสำคัญเหนืออย่างอื่น

ไม่รับระบบวรรณะ หมายถึง ไม่รับระบบวรรณะของอินเดีย ซึ่งมีกษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร (และจัณฑาล) จึงพบว่าในไทยมีระบบไพร่ของพื้นเมือง แต่ไม่มีระบบวรรณะ

ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธจากอินเดียทำให้ผู้ชายมีสถานภาพเหนือผู้หญิงและเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ส่วนผู้หญิงถูกริบอำนาจแต่ยังคงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผี

ภาษาบาลี-สันสกฤตได้รับยกย่องเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ใช้เรียกหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตามวัฒนธรรมอินเดียว่าราชา หรือกษัตริย์ หลังจากนั้นจึงสร้างเครื่องหมายสัญลักษณ์ของราชา, กษัตริย์เป็นรูปต่างๆ ด้วยวัตถุมีค่าเพื่อใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางการเมืองการปกครอง

ไม่อาณานิคม ข้อมูลหลักฐานเหล่านี้เป็นพยานแสดงชัดเจนว่าสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์มีบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐ และมีความมั่งคั่งจากการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรก่อนรับวัฒนธรรมและศาสนาจากอินเดีย

ดังนั้น สุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ไม่เป็นอาณานิคมอินเดียแล้วถึงมีบ้านเมืองตามที่ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ฝรั่งเศส) กล่าวไว้นานแล้วโดยอ้างว่าตำนานกำเนิดรัฐฟูนันเกี่ยวกับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นหญิงพื้นเมืองนุ่งใบมะพร้าวกับพ่อค้านักเสี่ยงโชคทางทะเล ผู้มั่งคั่งด้วยเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนให้เห็นอินเดียเป็นผู้เจริญกว่าได้เข้าไปปราบปรามคนพื้นเมืองอุษาคเนย์และตั้งตัวเป็นใหญ่ แล้วนำอารยธรรมอินเดียเข้ามาสร้างให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่คนพื้นเมือง เท่ากับสร้างอาณานิคมของอินเดียในอุษาคเนย์ หรืออุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย อันเป็นที่รู้ทั่วโลกอยู่ในหนังสือของเซเดส์ว่า Indianized States of Southeast Asia แล้วยังเชื่อถือจนทุกวันนี้จากทางการไทย

[สรุปจากหนังสือ เหล็ก “โลหปฏิวัติ” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 11-12] •