ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
ถือเป็นมหากาพย์ยาวนาน สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ไล่ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เชิญอรหันต์ด้านการศึกษามาร่วมยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด…
แต่จนแล้วจนรอดก็ค้างเติ่งอยู่ในสภา ไปไม่ถึงวาระ 2 และวาระ 3 ในสมัยรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี
จนถึงรัฐบาลเพื่อไทย ถูกตีกลับให้มาทบทวนอีกครั้ง!!
และล่าสุด นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทย, ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ และพรรคกล้าธรรม เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเรื่อง…
ถือเป็นจุดร่วม เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ถือเป็นกฎหมายสำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในยุคการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยนายโสภณกล่าวว่า การที่ประธานสภามารับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และร่าง พ.ร.บฉบับนี้เป็นร่างที่จะปฏิวัติการศึกษาของชาติให้สำเร็จ และหวังว่าประธานสภาจะบรรจุร่างดังกล่าวในสมัยการประชุมครั้งถัดไป และผ่านกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อนำไปพิจารณาในชั้น กมธ.
และหวังว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ในปี 2569
สําหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับดังกล่าว ได้นำข้อสรุปจากการลงพื้นที่ทุกภาคของประเทศ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนและได้นำข้อมูลเหล่านั้น มาวิเคราะห์เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น และสนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคมอย่างแท้จริง จึงมั่นใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้อย่างตรงจุด
พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา โดยได้ปรับเปลี่ยนเป็น 2 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสร้างความเสมอภาค จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนฟรี สำหรับผู้ที่ถนัดสายสามัญ ก็จะถูกพัฒนาให้เป็นมันสมองของชาติ และผู้ที่ถนัดทักษะอาชีพ ก็จะเป็นกลไกสำคัญของตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ ยกฐานะทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและยังมีการปฏิวัติอีกหลายๆ เรื่อง โดยที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. แบ่งออกเป็น 11 หมวด
และบทเฉพาะกาล รวมจำนวน 128 มาตรา
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การศึกษา เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ถ้าหากการศึกษาล้าหลัง อย่างอื่นก็ล้าหลังไปด้วย ดังนั้น การศึกษาเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ถ้าพัฒนาการศึกษาไม่ได้พวกเราทุกคน ก็อยู่ในโลกนี้ไม่ได้เช่นกัน ทุกคนมีความห่วงใยเกี่ยวกับการศึกษาเพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เชื่อว่าทุกคนคงจะถอดบทเรียนจากการศึกษาที่ผ่านมา และดูการศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่การศึกษามีความก้าวหน้า เช่น ประเทศสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าการศึกษามีคุณภาพสูง เนื่องจากได้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อจัดระบบการศึกษา เพราะความเชื่อที่ว่าประชากรคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในประเทศ ทำให้ประเทศมีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม
“ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมาในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด เพื่อจะนำมาสู่การพิจารณาต่อไป แต่การประชุมสมัยนี้คงไม่ทันแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าพวกเราทุกคนจะเห็นการปฏิรูปการศึกษาของไทยต่อไป” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
สอดคล้องกับ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งระบุว่า ขณะนี้พรรคการเมือง 4 พรรค ได้รวมตัวเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่า ควรต้องมี พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะวิกฤตด้านคุณภาพการศึกษา รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเรื่องงบประมาณต่างๆ
“ถ้าเห็นจุดร่วม ข้อดี ข้อเสีย ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ควรจะออกมาในรูปแบบไหน โดยประเด็นที่ต้องระมัดระวังในการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ คือ รวมศูนย์การบริหารจัดการ หรือ ซิงเกิลคอมมานด์ การปรับโครงสร้างและการบริหารงานบุคคล เพราะอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มหรือองค์กรที่เสียประโยชน์ ทำให้ฝ่ายการเมืองกลัวเสียคะแนนนิยม เรื่องเหล่านี้จะส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องมีความกล้าหาญ ตัดสินใจรับฟังทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ให้สำเร็จ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง อยากให้มองเป็นปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ต้อเร่งดำเนินการเพื่ออนาคตของเยาวชนไทย” นายสมพงษ์กล่าว
“การแก้ปัญหาการศึกษา ต้องเริ่มจากผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายลูกแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง การบริหารงานบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน จากสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นผู้ที่มีหน้าที่หลักในการดำเนินการ ซึ่งจะเน้นในส่วนของงานเชิงวิชาการ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ขอให้กำลังใจและอยากให้นักการเมืองร่วมกันทำ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ด้วยความเห็นพ้องต้องกันและสร้างออกมาให้ดีที่สุด เพราะในปัจจุบันการศึกษาของไทยถดถอยลงมาอย่างมากจนเกือบถึงจุดที่ไม่สามารถทนได้แล้ว” นายสมพงษ์กล่าว
หวังว่า จุดร่วมของแต่ละพรรคการเมืองครั้งนี้ จะสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ได้สำเร็จ •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022