ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
นิรโทษกรรม
ที่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก)
แต่สภาไม่ยอมผ่าน
23 พฤษภาคม 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า…
“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”
พ.ร.ก.นี้จึงเป็นนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ให้กับผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ จึงถูกมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการสังหารผู้ชุมนุม
พอวันรุ่งขึ้น 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมดังกล่าว จึงทำให้พระราชกำหนดตกไป
9 พฤศจิกายน 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยว่า
“โดยที่มาตรา 172 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 บัญญัติว่า การที่พระราชกำหนดตกไปไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ดังนั้น กิจการนั้นการนิรโทษกรรมจึงไม่ถูกกระทบกระเทือน แม้ว่าพระราชกำหนดนั้นจะตกไป”
สรุปว่าการนิรโทษกรรมที่มีผลไปแล้วแก้ไขกลับคืนมาไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่กระทำความผิดในช่วงวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 ย่อมพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และตลอดไป
เกมการเมืองในปี 2535 จบลงแบบเสมอกันคณะ รสช.ซึ่งทำการรัฐประหารถอยออกไปโดยที่ไม่ได้รับโทษอะไรและไม่ต้องหนีออกไปเมืองนอกแต่ก็ปล่อยให้การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นไปตามระบบการเมืองเต็มตัว ยาวนานเกือบ 15 ปี
การนิรโทษกรรม
ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ของคณะรัฐประหาร 2549 และ 2557
ปี 2544 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ต่อมาจนครบสมัยถึง 2548 และก็ชนะอย่างท่วมท้นสมัยที่สอง แต่ก็มาถูกรัฐประหารในปี 2549
นี่เป็นรัฐประหารที่งี่เง่าและไร้เหตุผลที่สุด ที่ทำให้ความขัดแย้งขยายเป็นแตกแยกไปทั้งแผ่นดิน และผู้มีอำนาจก็เขียนกฎหมาย…
รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2549 เนื้อหาโดยสรุปของมาตรา 37…
…การกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของ คมช. รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย…
…ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษ และการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง…
หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีก็มีการเลือกตั้งขึ้นในปลายปี 2550 ผลการเลือกตั้งพรรคพลังประชาชน ที่ตั้งแทนพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบไปได้รับชัยชนะท่วมท้นเป็นรัฐบาล จึงมีการเดินขบวนยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ขับไล่รัฐบาล ใช้ศาลยุบพรรคพลังประชาชนและตั้งรัฐบาลใหม่โดย ปชป.เป็นแกนใน ปี2552 แต่ก็ถูกประท้วงในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 และมีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงจนมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก
เหตุการณ์นี้ยังไม่มีการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายใดทั้งสิ้น
เมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งแปลงกายจากพรรคพลังประชาชนก็ยังชนะเลือกตั้งอยู่ดีและชนะเกินครึ่งก็เลยต้องจัดม็อบ กปปส.มาประท้วงอีก แล้วก็จัดการปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สุดท้ายก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้จึงต้องทำการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557
การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร คสช. ก็ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557
ในมาตรา 48 เนื้อหาก็เหมือนกับที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2549 เพียงแต่เปลี่ยนชื่อคณะรัฐประหารและวันเวลาเท่านั้น
ความพยายาม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
…ของผู้ไร้อำนาจ
ย้อนกลับมาดูฝ่ายประชาธิปไตยที่นิยมการเลือกตั้งที่พยายามจะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2556 ซึ่งถูกเรียกว่าฉบับสุดซอย ตอนนั้นกลุ่มพรรคการเมือง คิดว่ามีอำนาจจริงจึงคิดไปร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ก็ถูกคัดค้าน ทั้ง กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง และจบลงด้วยการรัฐประหารปี 2557
มีคำวิจารณ์มากมายมหาศาลกับความพยายามที่จะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยฉบับเหมาเข่ง แต่เวลาที่คณะรัฐประหารทำการนิรโทษกรรมทุกยุคทุกสมัยไม่มีใครกล้าคัดค้านเลย แถมยังออกมารับใช้และสนับสนุน พร้อมทั้งเสนอตัวเข้าไปเป็นข้ารับใช้อยากได้รับการแต่งตั้งไปเป็นสภานิติบัญญัติหรือกรรมการชุดใดชุดหนึ่ง
พฤศจิกายน 2565 มีร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคพลังธรรมใหม่ กำหนดให้การกระทำการที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549-30 พฤศจิกายน 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงความผิดคดีทุจริต และคดีมาตรา 112 แต่สภาปิดไปก่อน
ส่วนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ที่ต้องการให้ประชาชนที่เคยเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ทั้งการกระทำและการแสดงความคิดเห็นที่ผิดทางกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ.นี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง
ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้ง กมธ.นิรโทษกรรม เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567
ที่ทำได้ตอนนี้คือ
1. ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกเลิกหรือยกร่างกฎหมาย เป็นเพียงข้อเสนอแนะแนวทางหากจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
2. ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม ควรเริ่มจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 มาเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม
การกระทำที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ต้องแยกแยะคดีหลักในความผิดฐานเป็นกบฎ ความผิดคดีรอง และได้แยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
3. การเสนอรูปแบบการนิรโทษกรรมทั้งที่เป็นแบบอัตโนมัติและแบบที่มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัย และรูปแบบผสมผสาน
4. กำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรมว่ารวมถึงการกระทำใดบ้างและควรมีการทำบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. และได้เสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ. ว่าอาจทำเป็นหลายฉบับเพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมมีความแตกต่างกัน
5. ข้อสังเกตที่เกิดจากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระหลายชุดรวมทั้งความเห็นของ กมธ. ที่เห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ความผิดฐานประทุษร้ายพระราชินีหรือรัชทายาท) และมาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตของ กมธ. ไม่ได้บังคับผูกมัดคณะรัฐมนตรีว่าจะต้องทำตามที่เสนอ
สรุปว่า บุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญๆ อาทิกลุ่ม พธม. เสื้อเหลือง (ชุมนุมปี 2549-2551) กลุ่ม นปช. เสื้อแดง (ชุมนุมปี 2552-2553) กลุ่ม กปปส. (ชุมนุมปี 2556-2557) กลุ่มนักศึกษาและประชาชนต่อต้าน คสช. (ชุมนุมปี 2557-2562) กลุ่มคณะราษฎร/ราษฎร (ชุมนุมปี 2563-2564) ฯลฯ
แต่จะมีคนสองกลุ่มที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
1. ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ
2. ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลังตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 110 มาตรา 112
เมื่อเป็นเช่นนี้การนิรโทษกรรมจะไม่มีผลอะไรต่อประชาชนฝ่ายก้าวหน้า เพราะการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงก็ได้รับโทษติดคุกกันไปจนออกมาแล้ว
กฎหมายนิรโทษกรรมนี้จึงไม่น่าจะส่งผลให้มีความปรองดอง ฝ่ายประชาชนคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายถ้าหวังพึ่งสภา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022