ฤๅการเมืองญี่ปุ่น ถึงเวลาพลิกโฉมหน้า

Japanese Prime Minister Shigeru Ishiba delvers his first policy speech during a Diet session at the Lower House of the Parliament Friday, Oct. 4, 2024, in Tokyo. (AP Photo/Eugene Hoshiko)

นายชิเงรุ อิชิบะ (石破茂) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 ตุลาคม หลังเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ เพียง 8 วันเท่านั้น และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

พรรคแอลดีพี (自民党) พรรครัฐบาลต้องเผชิญกระแสความนิยมที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาล นายฟุมิโอะ คิชิดะ เกี่ยวกับการลงบัญชีการเงินในกิจกรรมทางการเมืองอย่างไม่โปร่งใสของแต่ละ “มุ้ง” (派閥) ในพรรค มีเงินซุกเงินซ่อน (裏金問題) ของ ส.ส.ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ้งของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมุ้งใหญ่ในพรรคและมีอิทธิพลมาก

ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการสะสาง แก้ไขอย่างจริงจัง ไม่แต่เพียงเรื่องการเงินในพรรคเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ยังมีปัญหาที่เกี่ยวโยงกับการที่นายชินโซ อาเบะ ถูกลอบสังหารด้วย คือ เรื่องโบสถ์แห่งความเป็นเอกภาพ (旧統一教会) นักการเมืองพรรคแอลดีพีหลายคนมีส่วนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือจากโบสถ์แห่งนี้ ซึ่งมีเบื้องหลังแอบแฝงให้ประชาชนผู้หลงเชื่ออย่างงมงายบริจาคเงินจำนวนมาก จนครอบครัวแตกแยก ฆ่าตัวตาย รวมทั้งครอบครัวของมือปืนผู้ลอบสังหารด้วย แต่นักการเมืองกลับสามารถลอยตัวอยู่ได้จนบัดนี้

นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปยังต้องเผชิญปัญหาปากท้อง พาตัวเองรอดชีวิตจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้ แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนค่าจ้างไม่ได้ขยับขึ้นเลยมานานปี

ประชาชนจะหวังอะไรจากรัฐบาลได้อีกบ้าง?

 

เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (衆院選挙) ครั้งนี้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงพากัน “เซย์ No” (ノー) พรรคแอลดีพีรวมทั้งพรรคร่วมเพียงหนึ่งเดียว คือ พรรคโคเม (公明党) ด้วย ผลจึงเป็นการแพ้อย่างราบคาบของพรรครัฐบาล

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 465 ที่นั่ง ประกอบด้วย ส.ส.เขต 289 ที่นั่ง และ ส.ส.ระบบสัดส่วน 176 ที่นั่ง จำนวนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง คือ 233 ที่นั่ง

การส่งรายชื่อผู้สมัครแต่ละเขตทั่วประเทศของพรรคแอลดีพี ก็สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอีก เนื่องจาก ส.ส.ในพรรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอื้อฉาวเรื่องการเงิน แม้ว่าได้รับโทษหนักบ้างเบาบ้าง หรือยังไม่สิ้นสุดระยะเวลารับโทษระดับต่างๆ ภายในพรรค แต่ก็ยังได้รับการรับรองให้ลงสมัครอีก

มีข้อสรุปว่า ส.ส.ที่เกี่ยวข้องรวม 46 คน พรรคส่งลงสมัครในนามพรรค 34 คน ลงสมัครในนามอิสระ (ซึ่งล้วนเป็นตัวหลักในปัญหา) 10 คน และอีก 2 คนลาออกจากพรรค เป็นผู้สมัครอิสระ ก่อนวันลงคะแนนเพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวรั่วออกมาว่า ทางพรรคได้ให้เงินสนับสนุนการหาเสียงแก่สมาชิก 10 คนที่ลงสมัครในนามอิสระ คนละ 20 ล้านเยนด้วย ทำไมพรรคยังอยู่เบื้องหลังคนผิด?

สร้างความไม่พอใจให้สังคมอีก

 

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลายสำนักข่าวทำนายไว้ไม่ผิด

พรรคแอลดีพี ได้ 191 ที่นั่ง (-56) พรรคโคเม 24 ที่นั่ง (-8) รวม 215 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง!

คะแนนส่วนใหญ่เทไปที่พรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง คือ พรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (立憲民主党) ได้มากถึง 148 ที่นั่ง (+98) รวมกับพรรคเล็กอื่นๆ ได้ทั้งหมด 250 ที่นั่ง!

พรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ก็เพิ่งได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ นายโยชิฮิโกะ โนดะ (野田佳彦) วัย 67 ปี ก่อนการเลือกหัวหน้าพรรคแอลดีพีเพียง 1 สัปดาห์ นายโนดะ ผู้มากประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี (2011-2012) (อ่าน สุภา ปัทมานันท์ “การเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมืองญี่ปุ่น” มติชนสุดสัปดาห์ 20-26 กันยายน 2567) เตรียมพร้อมจัดทัพเพื่อการเลือกตั้งอย่างมาอย่างดี จึงไม่แปลกที่สามารถคว้าชัยชนะมาได้เพิ่มขึ้นถึง 98 ที่นั่ง ประจวบกับปัญหาภายในพรรคแอลดีพีที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย

พรรคโคเม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็เพิ่งได้หัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 18 กันยายน ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน คือ นายเคอิชิ อิชิอิ (石井啓一) แทนนายนัทสึโอะ ยามากุชิ (山口那津男) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคมา ตั้งแต่ปี 2009 วงในว่าเหตุที่นายยามากุชิยอมสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะร่วมรัฐบาลนายคิชิดะที่มีกรณีอื้อฉาวเรื่องเงินไม่โปร่งใส เมื่อนายคิชิดะไม่ลงชิงตำแหน่งอีก เขาก็ควรทำเช่นเดียวกัน เพื่อรีเซ็ตภาพรัฐบาลใหม่ในอนาคตให้หลุดจากภาพเดิม

แต่ผลที่ออกมาน่าตกใจ เพราะนายอิชิอิ หัวหน้าพรรคคนใหม่ สอบตก! แล้วจะเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างไร? เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งวันที่ 31 ตุลาคม เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ให้ทันก่อนวันเปิดประชุมสภาเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

จึงนับเป็นหนึ่งในเรื่องวุ่นๆ อีก

 

ในจำนวนสมาชิกพรรคแอลดีพีที่มีปัญหากรณีอื้อฉาว 46 คน สอบตก 28 คน ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรีหลายคนรวมอยู่ด้วย ช่างไม่ไว้หน้ากันเลย! ส่วนที่สอบได้ 18 คน มีถึง 6 คน ซึ่งล้วนเป็นตัวหลักของกรณีอื้อฉาว แต่ลงสมัครในนามอิสระ

นายคิชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงครองความไว้วางใจของชาวเมืองฮิโรชิมา จังหวัดบ้านเกิดได้อย่างเหนียวแน่น

คาดว่าวันที่ 11 พฤศจิกายน จะเป็นวันเปิดประชุมสภาเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี พรรครัฐบาลมีเสียงข้างน้อย นายอิชิบะพยายามเจรจากับพรรคเล็กให้มาร่วมด้วยอีกสัก 1 พรรค เล็งไปที่พรรคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (国民民主党) พรรคฝ่ายค้านอันดับ 3 ซึ่งครั้งนี้ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า รวม 28 เสียง และยังได้ดึงบรรดาตัวหลักของพรรครวม 6 คน ที่ลงสมัครในนามอิสระเข้ามาในพรรค แต่จัดให้อยู่ในกลุ่ม “ไม่สังกัดมุ้ง” หากเป็นไปตามนี้ ก็จะมี 249 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่แข็งแรงนัก

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านนำโดยนายโนดะ ก็เร่งประสานสิบทิศผนึกกำลังพรรคเล็กๆ ไม่ให้แตกแถวอย่างสุดความสามารถ

หากไม่มีผู้ใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งในรอบแรก ผู้ได้คะแนนอันดับหนึ่งและสองจะได้รับการโหวตอีกครั้งในรอบตัดสิน ใครได้เสียงมากกว่า ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นหรือไม่?

ฤๅการเมืองญี่ปุ่นถึงเวลาพลิกโฉมหน้าใหม่โดยสิ้นเชิง?