ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร ยุคต้นสงครามเย็น (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร

ยุคต้นสงครามเย็น (3)

 

มหาวิทยาลัยศิลปากรถือกำเนิดขึ้นจาก “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2476 ภายใต้สังกัดกรมศิลปากร ต่อมาได้รวมส่วนที่เป็นโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์เข้ามาไว้ด้วยกันโดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเป็น “โรงเรียนศิลปากร” แบ่งการศึกษาเป็น 3 แผนก คือ แผนกประณีตศิลปกรรม แผนกศิลปอุตสาหกรรม และแผนกนาฎดุริยางค์ ใน พ.ศ.2478

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ภายใต้การดูแลของ ศิลป์ พีระศรี ผนวกกับรัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญต่อการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมไทย โรงเรียนศิลปากรจึงได้รับการยกระดับครั้งใหญ่ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2486

มหาวิทยาลัยในยุคแรกคือส่วนหนึ่งของกรมศิลปากร อาจารย์ทั้งหมดคือข้าราชการกรมศิลปากร แม้แต่ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย (อธิการบดี) ก็ให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นควบโดยตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเริ่มแยกขาดจากกัน หน่วยงานแรกยังดำรงสถานะการเป็นกลไกรัฐที่รับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรม ดูแลรักษาโบราณวัตถุสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ

ส่วนหน่วยงานหลังรับบทบาทเชิงวิชาการ รับผิดชอบการผลิตบัณฑิตและสร้างองค์ความรู้ทางด้านทางด้านศิลปะไทย สถาปัตยกรรมไทย และโบราณคดี

ในส่วนบุคลากร แม้ยุคเริ่มต้นจะใช้ร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน แต่ไม่นานนักก็เริ่มการโอนย้ายถาวรมาจากกรมศิลปากร หรือใช้วิธีจ้างข้าราชการกรมศิลปากรที่เกษียณอายุราชการมาเป็นอาจารย์ เช่น หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (พ.ศ.2498), หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (พ.ศ.2507) และ พระพรหมพิจิตร (พ.ศ.2498) เป็นต้น

จุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงการแยกตัวออกมาของมหาวิทยาลัยศิลปากร คือ พ.ศ.2508 ที่มีการกำหนดให้อธิการบดีเป็นตำแหน่งที่แยกขาดออกจากอธิบดีกรมศิลปากร

ภายใต้กระบวนการแยกตัวออกมาเป็นหน่วยงานทางวิชาการดังกล่าว ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การเริ่มต้นกระบวนการ “การทำให้เป็นวิชาชีพ” (professionalization) ขึ้นในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

ในทัศนะผม ปรากฏการณ์นี้คือหัวใจของการถือกำเนิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “สำนักศิลปากร”

 

ความรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยใหม่ในสังคมไทย แม้เริ่มขึ้นนานแล้วตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แต่งานเขียนยุคแรกก็ยังมีลักษณะลูกผสมของระเบียบวิธีการศึกษาที่ปนเปกันไประหว่างจารีตดั้งเดิมของการเล่าตำนานตามขนบแบบนักเลงของเก่า, การประเมินสุนทรียภาพตามอัตวิสัย และความรู้แบบสมัยใหม่ทางโบราณคดียุคแรกเริ่ม

แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2490 พร้อมกับการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร งานเขียนทางด้านนี้เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบใหม่

ซึ่งในแง่ของระเบียบวิธีการศึกษาจะเน้นการหาความรู้บนฐานการศึกษาที่อิง “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” แบบ “ประจักษ์นิยมเชิงตรรกะ”

ความรู้ทุกอย่างที่ถือว่าเป็นความรู้ที่แท้จะต้องเกิดจากการศึกษาที่เป็น “วัตถุวิสัย” มีกระบวนการสังเกตและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและพิสูจน์ด้วยเหตุผลหรือตรรกะเชิงประจักษ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่รับอิทธิพลมาจากวงวิชาการสหรัฐในขณะนั้น

กระบวนการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสถานภาพของกลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทในสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ในยุคก่อน งานเขียนทั้งหมดคือผลผลิตของนักการเมือง นักปกครอง หรือชนชั้นนำระดับสูงที่ผลิตงานประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในลักษณะ “สมัครเล่น” เช่น รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น (การใช้คำว่า “สมัครเล่น” มิได้ต้องการสื่อถึงคุณภาพงานนะครับ แต่ต้องการสื่อถึงการผลิตงาน ที่มิใช่ภาระหน้าที่หลัก และมิได้มีระเบียบวิธีศึกษาที่เป็นระบบ)

ในขณะที่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทจะเริ่มย้ายมาสู่คนกลุ่มใหม่ที่มีสถานะ “นักวิชาการ” ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร

ซึ่งคนกลุ่มหลังแม้ไม่มีอำนาจการเมืองทางตรงแบบคนกลุ่มแรก แต่ก็ถือครองอำนาจทางอ้อมในรูปแบบใหม่ผ่านการอ้างความเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” (ดูเพิ่มในหนังสือ Making Art History : A Changing Discipline and its Institutions)

ความเป็นนักวิชาการและระเบียบวิธีการศึกษาบนฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนทางอุดมการณ์ของอิทธิพลอเมริกันในการแสวงหาความรู้และความจริงในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่ขยายตัวขึ้นกลายเป็นบรรทัดฐานทางวิชาการไปทั่วโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นเพียงการแสวงหาความรู้ที่เป็นสัจจะความจริง เป็นอิสระปราศจากอคติหรืออุดมการณ์ทางการเมือง

แต่โดยความเป็นจริงแล้วการอ้างถึงความเป็นอิสระทางวิชาการหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายกลับมีความเป็นการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่งที่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมของสหรัฐในโลกยุคสงครามเย็น

 

ในหนังสือ How the Cold War Transformed Philosophy of Science โดย George A. Reisch อธิบายไว้น่าคิดว่า ยุคสงครามเย็นได้ส่งผลทำให้เกิดแนวโน้มสำคัญในวงการวิชาการสหรัฐที่หันมาเน้นการให้คุณค่างานวิชาการว่าต้องปราศจากนัยยะใดๆ ทางการเมือง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าแนวโน้มนี้เป็นเรื่องปกติสากลโดยเป็นผลพวงจากพัฒนาการทางความคิดในเรื่องการเข้าถึงความรู้และความจริงที่ต้องเป็นกลางแบบวิทยาศาสตร์

แต่คุณ Reisch กลับชี้ว่า แนวโน้มนี้มีแรงผลักสำคัญมาจากสงครามอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ โดยเป็นผลของอาการวิตกจริตรวมหมู่ของสังคมอเมริกันที่มีต่อภัยคอมมิวนิสต์ในทุกด้านที่ลามเข้ามาสู่ความระแวงต่องานวิชาการเป็นจำนวนมากว่าโน้มเอียงไปในทางที่สนับสนุนโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการที่ใช้แนวคิดแบบสังคมนิยม (จริงๆ หลายชิ้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยซ้ำ) ถึงขนาดที่ FBI ได้เรียกตัวนักวิชาการเป็นจำนวนมากเข้าไปสืบสวนหาความเชื่อมโยงกับโซเวียต

บรรยากาศแห่งการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการดังกล่าวส่งผลสะท้อนนำไปสู่ทิศทางการศึกษาวิจัยในทุกศาสตร์สาขาที่พยามจะเขียนงานที่ “ปราศจากนัยยะการเมืองจนล้นเกิน” และจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับงานศึกษาที่เน้นแนวทางแบบ logical empiricism สุดโต่ง พร้อมกับการสร้างภาพความเป็นวิชาชีพภายใต้ปรัชญาในงานวิชาการที่ต้องปราศจากการประเมินเชิงคุณค่าใดๆ ทั้งสิ้น (a value-free philosophy of science)

ปรากฏการณ์นี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความหวาดกลัวการคุกคามของรัฐหรือการที่นักวิชาการบางกลุ่มมีแนวโน้มในแนวนี้เป็นทุนเดิมก็ตาม แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คืองานศึกษาในทัศนะดังกล่าวกลายเป็นกระแสหลักที่แพร่กระจายไปทั่ว เป็นงานวิจัยที่ทั้งปลอดภัยและได้รับทุนสนุบสนุนง่ายด่าย

 

ทิศทางงานศึกษาทางวิชาการดังกล่าวซึ่งคุณ Reisch นิยามว่า เป็นงานวิชาการที่แห้งแล้งเย็นชา (the icy slopes of logic) ในเวลาไม่นานนักก็ได้สถาปนาตนเองขึ้นอย่างแข็งแรงภายใต้วาทกรรมทางความรู้ที่เชื่อกันต่อๆ มาที่ว่า งานวิชาการต้องเป็นกลางจากอคติและจุดยืนทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนทางการเมือง

แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อว่าด้วยงานวิชาการที่เต็มไปด้วยแบบแผนทางวิชาการ แห้งแล้ง ไร้การเมือง และปราศจากการประเมินในเชิงคุณค่าใดๆ สุดท้ายแล้วก็กลายมาเป็น “การเมือง” โดยตัวของมันเอง และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองวัฒนธรรมที่โจมตีโลกคอมมิวนิสต์

เป็นการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่าง “การแสวงหาความรู้แบบโลกเสรี” ที่ปราศจากการเมืองที่สามารถเข้าถึงความจริงได้อย่างถูกต้อง เป็นกลาง ไร้อคติ กับ “การแสวงหาความรู้แบบโลกคอมมิวนิสต์” ที่มิใช่ความรู้ที่แท้จริงเพราะถูกควบคุมและชี้นำด้วยอุดมการณ์รัฐ ทั้งๆ ที่การแสวงหาความรู้ทั้งสองแบบต่างอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น

 

ภายใต้กระบวนการนี้ มีความพยายามที่จะอธิบาย “การแสวงหาความรู้แบบโลกเสรี” ว่ามิใช่อุดมการณ์การเมือง แต่คือสัจธรรมของมนุษยชาติ เช่น งานเขียนของ Sydney Hook (นักปรัชญาอเมริกันที่มีชื่อเสียงและบทบาทในยุคสงครามเย็น) ที่เสนอไว้ในหนังสือ John Dewey : philosopher of science and freedom ว่า ความรู้ทั้งหลายในโลกที่ถูกต้องควรที่จะถูกศึกษาภายใต้การตระหนักถึงคุณค่า 2 แบบไปด้วยกัน

หนึ่ง คุณค่าในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่แสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจความเป็นมนุษย์ในทางสากล

และสอง คือ ต้องนำพาไปมนุษย์ไปสู่โลกที่มีอิสรภาพ (free men) และเป็นสังคมเสรี (free societies)

คุณ Hook ยังเน้นย้ำด้วยว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน (ยุคสงครามเย็น) อันเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่กำลังทุกคุกคามด้วยระบอบเผด็จการ การสร้างความรู้เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ออกจากการเป็นทาสถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของวิชาการความรู้ด้านต่างๆ

ปรัชญาในการเข้าถึงความรู้และความจริงตามทัศนะเช่นนี้ได้ส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางในโลกวิชาการยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกเสรีผ่านองค์กรวิชาการระหว่างประเทศมากมายเช่น Americans for Intellectual Freedom (AIF), Congress for Cultural Freedom (CCF) และ American Committee for Cultural Freedom (ACCF) ซึ่งได้รับทุนจากซีไอเอเพื่อสนับสนุนแนวคิดในการศึกษาหาความรู้แบบนี้ไปทั่วโลกเพื่อใช้ต่อสู้ทางอุดมการณ์กับโซเวียต

ในกรณีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย “มูลนิธิเอเชีย” (Asia Foundation) คือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว

โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการสนุบสนุนงานทางด้านวิชาการและวัฒนธรรมที่เน้น “คุณค่าแบบโลกเสรี”