ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลยวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางไปยังเขตดินแดนของคนพื้นเมืองชาวอินเดียนหรือที่คนไทยเรียกว่า “อินเดียนแดง” ตามอย่างหนังคาวบอยของฮอลลีวู้ด ที่วาดภาพให้คนพื้นเมืองอินเดียนเป็นผู้ร้ายในหนังมายาวนาน
ไบเดนเดินทางไปอย่างเงียบๆ ไม่มีการออกข่าวหรือจัดฉากให้แก่กิจกรรมนี้
เขาไปยังดินแดนที่ไม่อยู่ในความสนใจของใครโดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่กำลังหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้
แล้วไบเดนอุตส่าห์เสียเวลาอันเหลือไม่มากในทำเนียบขาวเพื่อไปยังเขตแดนอินเดียนนี้ทำไม
โจ ไบเดน เดินทางไปเพื่อกล่าวแสดงคำขอโทษอย่างเป็นทางการ ในนามของรัฐบาลอเมริกัน ต่อคนอินเดียนพื้นเมืองซึ่งเป็นเจ้าของผืนดินส่วนใหญ่ในสหรัฐก่อนที่บรรพบุรุษของไบเดนและทรัมป์จะเดินทางมาตั้งรกรากและชีวิตใหม่ในอเมริกา
สิ่งที่ต้องขอโทษคือการกระทำของรัฐบาลอเมริกันตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 มาถึงปี 1960 ที่ดำเนินนโยบายในการผสมกลมกลืนคนพื้นเมืองอินเดียนให้เป็นอเมริกัน ด้วยการบังคับให้เด็กอินเดียนทุกคนเข้าโรงเรียนประจำของรัฐ เพื่อเรียนภาษาและวัฒนธรรมความคิดอ่านแบบอเมริกัน
ทั้งหมดเพื่อทำให้เด็กอินเดียนลืมภาษาถิ่น ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพวกเขาเสียสิ้น
ผลจากการดำเนินนโยบายการผสมกลมกลืนแบบบังคับนี้มีผลทำให้เด็กเหล่านั้นถูกแยกออกจากครอบครัว ถูกส่งไปยังโรงเรียนประจำที่ห่างไกล ลบชื่อเดิมของพวกเขาออก
กลายเป็นคนอเมริกันที่รัฐบาลต้องการ
ไบเดนกล่าวคำขอโทษต่อประชาคมในชุมชนคนพื้นเมืองแห่งแม่น้ำกิลาในมลรัฐแอริโซนา ว่า “รัฐบาลกลางไม่เคยกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการในสิ่งที่ได้เกิดขึ้น…กระทั่งถึงวันนี้”
เขากล่าวต่อกลุ่มคนที่ตอบรับอย่างยินดีซึ่งรวมบรรดาครอบครัวของคนที่ได้รับผลกระเทือนจากนโยบายนี้
“ข้าพเจ้าเสียใจในฐานะของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาต่อสิ่งที่เราได้กระทำไป ซึ่งเขาประณามว่าคือ “บาปในวิญญาณของพวกเรา (a sin in our soul) ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ มันนานเกินเวลาไปแล้ว” เขากล่าวเสริมว่า “พูดอย่างตรงๆ ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้นที่คำขอโทษนี้กินเวลาถึง 50 ปีกว่าจะทำได้”
เขายอมรับว่ามันมีความหมายไม่มากเท่าใดภายหลังเวลาที่ผ่านไปอย่างยาวนาน
“ข้าพเจ้ารู้ว่าไม่มีคำขอโทษใดที่สามารถหรือจะลบล้างในสิ่งที่ได้สูญหายไปในห้วงเวลาอันมืดมิดของการดำเนินนโยบายโรงเรียนประจำของรัฐบาลกลาง แต่วันนี้ในที่สุดเราเคลื่อนไปข้างหน้าไปสู่แสงสว่าง”
การที่ประธานาธิบดีไบเดนผลักดันการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการนี้ออกมาเป็นผลจากการค้นคว้าศึกษาข้อมูลปัญหาดังกล่าวที่กระทำโดยนางเด็บ ฮาร์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกิจการในประเทศซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอินเดียนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี
เธอลงไปศึกษาความเป็นมาและผลกระทบของนโยบายการศึกษาแบบบังคับ ที่บังคับเด็กอินเดียนไปราว 19,000 คนให้ต้องเข้าโรงเรียนประจำ มีผลให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตราว 1,000 คน
รายงานการศึกษานี้ยังเสนออีกว่า ควรมีการประกาศวันรำลึกแห่งชาติเพื่อรำลึกถึงความตายของเด็กและให้การศึกษาแก่คนอเมริกันว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต
ควรมีการวิจัยต่อไปเพื่อหาทางเยียวยาและสมานฉันท์แก่คนพื้นเมืองต่ออดีตอันเจ็บปวดของพวกเขา
และที่สำคัญรื้อฟื้นภาษาถิ่นของคนพื้นเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีก
รัฐบาลไบเดนได้จัดงบประมาณผ่านรัฐสภาจำนวน 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้แก่ชนชาติต่างๆ ของคนอินเดียนพื้นเมือง ในการปฏิรูปจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุข เช่น จัดสร้างระบบส่งน้ำเพื่อบรรเทาภาวะการขาดน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง
มาตรการรูปธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการชาวพื้นเมืองได้เสนอเหมือนกัน
เขากล่าวว่า “การเยียวยาที่แท้จริงเรียกร้องให้มีการกระทำอย่างเป็นรูปธรรม อันรวมถึงการคืนที่ดินที่ได้ขโมยไปจากคนอินเดียน ยอมรับอธิปไตยของคนพื้นเมืองและปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ในพันธผูกพันตามสนธิสัญญา (ระหว่างคนอินเดียนกับรัฐบาลอเมริกัน) “ปราศจากย่างก้าวที่จับต้องได้เหล่านั้น คำขอโทษก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเพียงคำกล่าวที่เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่นำไปสู่การรับผิดชอบและความยุติธรรมที่แท้จริง” หลายเรื่องคงต้องผลักดันและร่วมมือกันระหว่างสองฝ่ายในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่าย เช่น เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในความหมายของอธิปไตยแบบของคนพื้นเมืองกับของรัฐสมัยใหม่
สุดท้ายถ้าจะไม่คิดถึงผลได้ในการหาเสียงเลือกตั้งเสียเลยก็จะดูไร้เดียงสาไปหน่อย เนื่องจากประชากรผู้ลงคะแนนเสียงในแอริโซนาที่เป็นคนอินเดียนพื้นเมืองมีประมาณร้อยละ 6 ของประชากรในมลรัฐ ก็ไม่น้อยหากคะแนนที่ผู้สมัครทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างคู่คี่สูสีกันอย่างรดต้นคอ
ใครที่ได้คะแนนของคนพื้นเมืองอินเดียนนี้ไปก็อาจสร้างผลลัพธ์ที่เป็นการตัดสินในชัยชนะในรัฐนี้ได้เช่นกัน
ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษได้แก่คติความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ระหว่างชนพื้นเมืองส่วนน้อยกับคนผิวขาวอเมริกันส่วนใหญ่ว่าประธานาธิบดีไบเดนจะมองอย่างไร ในฐานะที่เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนและรัฐ
ไบเดนซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ที่ได้ไปเยือนเขตแดนพื้นเมืองอินเดียน กล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอเมริกันที่ต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ของเขาแม้ว่ามันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเกลียดชัง
“เราต้องรู้ด้านที่ดี ด้านที่เลว สัจธรรมของเราว่าเป็นอย่างไรในฐานะของชาติ”
“นั่นคือสิ่งที่ประเทศยิ่งใหญ่ทำ เราเป็นประเทศยิ่งใหญ่ เราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่สุดของประเทศทั้งหลาย เราไม่ลบประวัติศาสตร์ เราสร้างประวัติศาสตร์ เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และเราจดจำเพื่อที่เราจะสามารถเยียวยาในฐานะของชาติได้”
ผมสนใจประเด็นดังกล่าวเพราะเร็วๆ นี้ก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยภายใต้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดำเนินการเยียวยาต่อกรณีการฆาตกรรมตากใบ
แต่คำตอบรับจากรัฐบาลกลับสร้างความผิดหวังและคับข้องใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียหายและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย
ผมจึงนำเรื่องการกล่าวขอโทษและมาตรการรูปธรรมของรัฐบาลไบเดนมาให้พิจารณาว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทุกรัฐชาติแทบไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีปัญหาการดำเนินนโยบายบีบบังคับต่อชนชาติส่วนน้อยในเรื่องหนึ่งเรี่องใด
เพราะสมัยโน้นทุกประเทศเชื่อและสมาทานความคิดในการสร้างรัฐให้เข้มแข็งและทรงอำนาจเหนือชุมชน
ระบบการศึกษาภาคบังคับแบบที่สหรัฐกระทำต่อคนพื้นเมืองอินเดียนก็เป็นนโยบายการศึกษาภาคบังคับที่รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชนชาติทั้งหลายมาเหมือนกัน เพียงแต่ความรุนแรงและผลกระเทือนอาจไม่เหมือนกัน
การเปรียบเทียบระหว่างประวัติศาสตร์คนพื้นเมืองอินเดียนในสหรัฐกับประวัติศาสตร์ไทยอาจเป็นการเปรียบที่ไม่ค่อยตรงกันเท่าไร เหมือนกับการเปรียบระหว่างมะม่วงกับแอปเปิล ที่ต่างกันในบริบทและลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่าง ที่เหมือนกันคือเป็นผลไม้ที่กินได้เท่านั้น
แต่ข้อที่น่าเอามาเป็นบทเรียนได้คือการก่อสร้างรัฐชาติในพื้นที่ซึ่งมีคนพื้นเมืองอื่นๆ อยู่ อันเป็นบทบาทสำคัญอันแรกๆ ของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่จินตนาการถึงความเป็นชาติตามความเชื่อและความรู้ในเวลานั้นของผู้นำรัฐ
ในกรณีคนอินเดียนก็เช่นกัน พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดินในทวีปอเมริกาเหนือแต่ไม่ได้มีการจับจองและออกกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินส่วนตัวขึ้นมา เพราะพวกเขาถือว่าที่ดินเป็นธรรมชาติอันเป็นของใช้ร่วมกันของสมาชิกชนเผ่าทั้งหลายเท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในการอ้างความเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว
คนอินเดียนมาตั้งรกรากและทำมาหากินในดินแดนที่ต่อมาคนอังกฤษอพยพมาจากประเทศอังกฤษภายหลังการค้นพบดินแดนโลกใหม่โดยโคลัมบัส คนผิวขาวเริ่มตั้งรกรากและปักเขตแดนเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของในที่ดินของปัจเจกบุคคล
คนอเมริกันที่เป็นชาวอาณานิคมอังกฤษมุ่งทำการผลิตเพื่อการค้ามากกว่าเพื่อการใช้สอยของครอบครัวและชุมชน เพราะระบบเศรษฐกิจในยุโรปกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการค้าและการแลกเปลี่ยนเพื่อตลาดที่กว้างใหญ่มากขึ้นทุกวัน ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างคนอินเดียนเจ้าถิ่นเดิมกับคนผิวขาวเจ้าของใหม่ก็ปะทุขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนำไปสู่การขับไล่ให้คนอินเดียนออกไปจากผืนดินกว้างใหญ่ที่พวกเขาเคยดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ
นำไปสู่การทำสงครามทั้งเล็กและใหญ่ระหว่างคนอินเดียนกับคนผิวขาว ในที่สุดด้วยความเหนือกว่าของอาวุธและเทคโนโลยีและความอยากที่ผลักดันคนขาวให้ยึดครองผืนดินอันกว้างใหญ่ให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ผลิต ขับไล่คนอินเดียนให้เข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองที่รัฐบาลสร้างให้พวกเขาอยู่ จากนั้นนโยบายในการผสมกลมกลืนแบบต่างๆ ก็นำออกมาบังคับใช้
จนในที่สุดแทบไม่เหลือคนอินเดียนแบบดั้งเดิมให้เห็นอีกต่อไป
เมื่อผมเดินทางไปเรียนต่อในอเมริกาในปี 2514 ข่าวใหญ่ที่พวกเราได้ยินซึ่งสร้างความแปลกใจและตื่นเต้นให้อย่างมาก คือข่าวที่ผู้ประท้วงคนอินเดียนบุกเข้าไปยึดที่ทำการสำนักงานว่าด้วยกิจการคนอินเดียนในกรุงวอชิงตัน
ผมงงเพราะยังคิดว่าคนอินเดียนมีแต่ในหนังเคาบอย ไม่เคยรู้เลยว่าคนอินเดียนจะประท้วงในเรื่องอะไร
ในระยะนั้นก็มีหนังสือฉบับกระเป๋าเล่มที่โด่งดังขายดีออกมา ชื่อเรื่อง “ฝังหัวใจฉันไว้ที่วูนเด็ดนี” (Bury My Heart at Wounded Knee) โดย ดี บราวน์ ผมจำได้ว่าเขียนเล่าถึงหนังสือและเรื่องราวที่คนไม่ค่อยรู้ของคนอินเดียนลงพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ด้วย
ไม่น่าเชื่อว่าปัญหาความไม่ยุติธรรมของคนอินเดียนใช้เวลาอีก 50 ปีกว่าผู้นำรัฐบาลจะยอมออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ หวังว่าชาวตากใบและคนสามจังหวัดที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจะไม่ต้องรอเวลานานเท่าคนอินเดียนในอเมริกา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022