สังคมปลอดทุจริต ไม่ได้ตั้งต้นที่เราทุกคน

วันก่อนผมไถฟีดส์เฟซบุ๊กเจอโพสต์ขององค์กรปราบปรามคอร์รัปชั่นหนึ่ง เขาว่า

“สร้างสังคมให้โปร่งใสไร้การทุจริต เริ่มได้จากพวกเราคนไทยทุกคน”

อ่านปุ๊บสงสัยปั๊บ

ว่าถ้าให้เริ่มที่ตัวเรา ผมว่าผมเองก็เริ่มไปแล้ว ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยทุจริตเงินหลวงหรือเงินใคร ภาษีก็จ่ายครบ เรื่องขโมยของอะไรยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะเคยมีบ้างก็ตอนเด็กๆ เคยลอกการบ้าน ลอกข้อสอบ แต่โตมาก็ไม่เคยทำอีก

แล้วคะแนนที่ได้มาจากการลอกก็ไม่เคยใช้ยื่นแข่งขันหรือสมัครมหาวิทยาลัยอะไรเพราะสอบตรง

แต่ทำไมพอเงยหน้ามองขึ้นไปข้างบนก็ยังเห็นแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นเต็มสังคมไปหมด

หรือผมอาจจะเข้าใจผิด ใจความสำคัญของโพสต์อาจอยู่ที่ “พวกเราคนไทยทุกคน” พูดง่ายๆ คือไม่ได้ขึ้นกับผมคนเดียว สังคมให้โปร่งใสไร้การทุจริตต้องเริ่มจากทุกคนพร้อมใจกัน (ขีดเส้นใต้คำว่า “พร้อมใจ”)

พอลองนึกตามไปทางนี้ผมก็อดขำไม่ได้ ว่าถ้าสมมติพรุ่งนี้คนไทยทุกคนตื่นมาแล้วพร้อมใจกันไม่โกงขึ้นมาคงตลกร้ายน่าดู เพราะผู้เล่นในระบบทั้งหน่วยงาน บริษัทห้างร้าน กลุ่มทุนจำนวนมาก หรือแม้แต่ประชาชนหลายคนคงวางตัว ปฏิบัติตัวกันไม่ถูก โกลาหลไปสักระยะ

 

ก็ในเมื่อกลไกการจ่ายใต้โต๊ะ แบ่งผลประโยชน์สาธารณะกันส่วนตัวมันฝังลึกเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานในสังคมไทยไปแล้ว ถ้ากลไกนี้หายไปที ทุกคนคงเกาหัวกันว่าแล้วต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ กันยังไงต่อ

เช่น ผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกับระบบประมูลสัมปทานบางประเภทคงงงกันเป็นไก่ตาแตก เพราะแต่ไหนแต่ไรมาสัมปทานเขาเจรจาแบ่งกันอย่างไม่เป็นทางการบนโต๊ะอาหาร ห้องทำงานส่วนตัว กว่าจะถึงวันประมูลเขาก็มีการวิ่งเต้น ล็อกสเป๊ก ประเมินราคา แบ่งผลประโยชน์กันระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ (ที่เตรียมจะ) ชนะ ก่อนส่งสัญญาณบอกเจ้าอื่นเรียบร้อยแล้วว่าให้เอาเค้กก้อนเล็กไป รอรอบหน้า หรือไสหัวไปซะ

พอกลไกแบ่งเค้กอย่างไม่เป็นทางการที่ว่าหายไป ผู้เล่นเอกชนต้องเปลี่ยนเกมทั้งหมดไปที่การพัฒนาข้อเสนอของตนในแง่ราคาต้นทุนและคุณภาพของการให้บริการ ผู้มีอำนาจก็ต้องมาคิดถึงหลักเกณฑ์ประเมินที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ทั้งหมดนี้ไม่ง่ายนะครับ ถ้าไม่เคยสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และลงมือทำมาก่อน

 

หรือหากเกิดพรุ่งนี้ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายผูกขาดทางการค้าอย่างตรงไปตรงมาขึ้นมา ทุนใหญ่จำนวนมากคงโดนทุบ เจ้าสัวทั้งประเทศคงโดนรัฐเข้ามาจัดการขนานใหญ่ ต้องปฏิวัติโครงสร้างธุรกิจตัวเอง ราคาข้าวของตามร้านสะดวกซื้อหรือสัญญาณมือถือคงปั่นป่วนไปพักใหญ่

ชนชั้นกลางรอบตัวผมจำนวนมากก็คงทำอะไรกันไม่ถูกหากญาติมิตรเจ็บป่วยหนักเป็นโรคซับซ้อนขึ้นมา เพราะปกติจะเข้าโรงพยาบาลทีก็ใช้วิธีโทร.ฝากเพื่อนฝากญาติที่เป็นหมอให้ช่วยเปิดช่องทางในโรงพยาบาลรัฐที่เครื่องมือพร้อมให้

เกิดกลไก “แซงคิว” ที่ว่าหายไป หลายคนคงงงว่าแล้วปกติที่ถูกเขา “ต่อคิว” กันยังไง

ถึงจะโกลาหล แต่นี่ไม่ใช่ปัญหา เพราะเดี๋ยวก็ปรับตัวกันได้ และสุดท้ายสังคมที่ปราศจากทุจริตย่อมดีกว่าสังคมทุจริต ในแง่เป้าหมายแล้วผมจึงเห็นด้วยกับโพสต์ที่เล่าไปแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสูตรที่ว่าการสร้างสังคมปลอดทุจริตต้องเริ่ม “จากพวกเราคนไทยทุกคน” นั้นเป็นไปไม่ได้

ปัญหาไม่ใช่ว่าผมเห็นคนไทยเป็นคนเลวโดยธรรมชาติ เพราะมนุษย์ทุกเชื้อชาติในโลกก็เหมือนกัน คือมีดีบ้างเลวบ้าง มากน้อยแล้วแต่คนและแล้วแต่เรื่องไป

แต่คือสูตรตามโพสต์ข้างต้นผลักภาระปัญหาสาธารณะให้ไปเป็นความรับผิดชอบเชิงศีลธรรมส่วนบุคคล

ซึ่งการทำเช่นนี้สร้างปัญหาสามข้อ

 

หนึ่งคือสูตรการเรียกร้องให้ทุกคนหยุดโกงพร้อมกันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะประสบปัญหาเรื่องความเชื่อใจ

สมมุติผมเป็นบริษัทเอกชนที่แต่ไหนแต่ไรมาได้งานจากรัฐผ่านการจ่ายใต้โต๊ะ เกิดวันนี้ผมอยากหยุดทำ ผมจะรู้และเชื่อใจได้อย่างไรว่าคนอื่นจะหยุดตามด้วย

เกิดคนอื่นไม่หยุดทุจริต ผมก็เสียงาน คนโกงต่อได้เยอะกว่าเดิม เพราะไม่มีผมเป็นคู่แข่งในเกมโกง

พอคิดได้เช่นนี้ ทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดในเกมก็คือการชิงโกงต่อมันเสียก่อน ต่อให้ในใจตัวเองไม่อยากโกงแล้วก็เถอะ

ยิ่งพอคิดแบบนี้ได้ ยิ่งหวาดระแวงว่าคนอื่นจะคิดเช่นเดียวกัน ยิ่งต้องรีบโกง

ทำนองเดียวกับปัญหาที่ทฤษฎีเกมเรียกว่า “ทางแพร่งของนักโทษ” (prisoner’s dilemma)

กล่าวคือ ถ้าเราเอานักโทษสองคนแยกกันสอบสวนคนละห้อง ใครทรยศเพื่อนสารภาพก่อนจะรอด (“โกง” เพื่อน) ส่วนคนที่เลือกไม่สารภาพจะโดนโทษหนัก

ในเกมแบบนี้ทุกฝ่ายเกิดแรงจูงใจที่จะโกง เพราะถ้าตัวเองไม่โกงแล้วมีโอกาสซวย

เอาเจ้าจริงบริษัทห้างร้านจำนวนมากก็ไม่ได้อยากโกง แต่ก็ต้องโกงเพื่อเอาตัวรอดด้วยเหตุผลที่ว่า

 

สอง คือปัญหาเรื่องแรงกดดันจากสังคม

ในโลกที่การโกงกลายเป็นแบบแผนปฏิบัติของสังคม ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ คนไม่โกงอาจกลายเป็นตัวปัญหาสร้างความวุ่นวายให้ระบบและชีวิตคนจำนวนมากเลยทีเดียว

ลองนึกดูนะครับ ในประเทศที่ทุกคนไม่หยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้าม คนที่หยุดอาจโดนบีบแตรไล่ หนักกว่านั้นคือรถคันหลังๆ ที่วิ่งกันมาด้วยความเข้าใจว่าไม่มีใครต้องเบรกก็อาจชนท้ายเข้าให้

ในสถานการณ์เช่นนี้ คนที่ยืนหยัดฝืนกระแสปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องควรได้รับคำชม แต่เราไม่ควรคาดหวังว่าคนทุกคนจะรับและฝืนสู้กลับความกดดันที่สังคมจอมโกงโยนให้ได้

 

เหตุผลข้อที่สามคือปัญหาเรื่องภาระทางศีลธรรมส่วนตัว ปัญหานี้ลึกกว่าสองข้อแรก คือไม่ใช่แค่ว่าการเป็นคนดีมันยาก แต่ต่อให้อยากเป็นคนดี บางครั้งเราก็ต้องเจอกับความรู้สึกขัดแย้งเชิงศีลธรรมภายในจิตใจเราเอง เพราะหลายครั้งศีลธรรมสาธารณะมันไปกันไม่ได้กับศีลธรรมส่วนตัว

อย่าลืมว่ามนุษย์คนหนึ่งมีหลายสถานะไม่เฉพาะสถานะ เป็นพลเมือง แต่ในมิติชีวิตส่วนตัวยังเป็นลูกน้อง เป็นเจ้านาย เป็นพ่อเป็นแม่คน หลายครั้งสิ่งที่ถูกต้องในพื้นที่สาธารณะไกันไม่ได้กับสิ่งที่ถูกต้องในพื้นที่ส่วนตัว สมมุติลูกคุณป่วยหนักใกล้ตาย ยาก็ขาดแคลน แต่คุณทำงานโรงพยาบาลสามารถตุกติกโกงคิวเอายากลับบ้านมาให้ลูกได้

ในฐานะพลเมืองคุณไม่ควรทำ แต่ในฐานะพ่อแม่ ญาติมิตรที่ต้องปกป้องลูกหรือคนในครอบครัวล่ะ? ถ้าไม่ทำ คุณจะตอบอธิบายกับคนในครอบครัวอย่างไร? คุณจะรู้สึกผิดตลอดชีวิตไหม?

เป็นผมผมโกง

 

ทั้งหมดที่ว่ามา ทางนิติปรัชญาเขาจึงบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่สังคมปราศจากการโกงจะเริ่มจากทุกคน

กลับกันสิ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ตั้งต้นจากการที่หน่วยงานสาธารณะที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เท่าเทียม มีประสิทธิภาพ

เพราะระบบกฎหมายที่เข้มแข็งจะปิดปัญหาทั้งสามข้อข้างต้น

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เท่าเทียม จะเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมรู้ว่าต่อไปจะไม่มีใครกล้าโกง

ทีนี้ปัญหาเรื่องความเชื่อใจข้อที่หนึ่งก็จะหายไป เพราะเท่ากับว่ารัฐได้เข้ามาค้ำประกันให้ว่าใครโกงไม่รอดแน่ ทีนี้เราก็เชื่อใจได้ว่าถ้าเราไม่โกงก็ไม่ถูกเอาเปรียบ เพราะคนอื่นก็กลัวรัฐไม่กล้าโกงเช่นกัน

ปัญหาเรื่องแรงกดดันทางสังคมก็ลดลงไปตามระดับความเข้มแข็งของกฎหมาย คนมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะแสดงออกถึงด้านดีของตนเอง คนอยากโกงกล้าน้อยลง เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ารัฐยืนอยู่ข้างฝ่ายไม่โกง นี่ก็ช่วยคลายปัญหาเรื่องแรงกดดันทางสังคม

และสุดท้าย หากระบบกฎหมายตรวจสอบพฤติกรรมการโกงได้อย่างเข้มแข็ง ทุกคนก็สามารถปลดระวางความขัดแย้งเชิงศีลธรรมในจิตใจ ผมคงไม่โกงเอายากลับบ้านไปให้ลูกตัวเอง โดยสามารถอธิบายให้เหตุผลกับครอบครัวและตัวเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ทำไม่ได้” เพราะกฎหมายมันตรวจสอบเข้ม

ระบบกฎหมายที่เข้มแข็งได้ป้องปราบ ตัดทางเลือกการโกงช่วยลูกตัวเองออกไป ผมไม่ต้องมาสับสนทางความรู้สึกด้วยตัวเองในเมื่อทางเลือกโกงนี้ไม่เคยมีอยู่แต่ต้น นิติปรัชญาเรียกบทบาทของกฎหมายในทำนองนี้ว่าเป็นการบรรเทาความขัดแย้งเชิงศีลธรรมส่วนบุคคล

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสร้างสังคมปราศจากการโกงโดยเริ่มจากทุกคนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะสร้างภาระทางศีลธรรมส่วนบุคคลมากเกินไป

ทั้งเรื่องความเชื่อใจ แรงกดดันทางสังคม และความสับสนทางศีลธรรมมในจิตใจ

แน่นอนว่าความกล้าหาญและคุณธรรมส่วนบุคคลนั้นจะจำเป็นและน่าสรรเสริญ แต่ระบบที่การสร้างภาระให้คนในการเป็นคนดีมากเกินไปก็ยากที่จะเป็นไปได้จริง

นอกจากให้ทุกคนพร้อมใจกันหยุดโกงแล้ว อีกองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสังคมปลอดทุจริตจึงได้แก่การที่ระบบกฎหมายและองค์กรปราบปรามคอร์รัปชั่นทำหน้าที่ตนเองให้เข้มแข็งขึ้นบ้าง