‘คิดใหม่’ สร้างเมืองสู้น้ำ (จบ)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

พายุเฮอร์ริเคน “ฮาร์วีย์” ถล่มรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ทำลายบ้านเรือนมากกว่า 2 แสนหลัง เสียชีวิต 89 คน คำนวณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมีจำนวน 158,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.4 ล้านล้านบาท) ถือว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ

ฮาร์วีย์ เป็นเฮอร์ริเคนจัดอยู่ในความรุนแรงระดับที่ 4 (Category4) ความเร็วกระแสลมราว 209-251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หอบเอามวลน้ำฝน 127,000 ล้านตันเทใส่รัฐเท็กซัส เฉพาะเมืองฮุสตันและพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเท็กซัส มีฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงราวๆ 1.2 เมตร

มวลน้ำฝนปริมาณดังกล่าวมีความจุเทียบเท่ากับซูเปอร์โดมที่ใช้แข่งขันอเมริกันฟุตบอลซึ่งมีความจุพอๆ กับสนามราชมังคลากีฬาสถานของบ้านเรา รวมกันราวๆ 26,000 สนาม

ปรากฏการณ์ “ฮาร์วีย์” เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาเป็นพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ต้องสยบ และทางออกวันนี้มีเพียงการคิดหาวิธีป้องกันตั้งรับให้ดีๆ เท่านั้น เพราะจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งมนุษย์ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีพลังเหมือนเช่นเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์หรือซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิเพิ่มมากขึ้น อาจจะพูดได้ว่าธรรมชาติเอาคืน

นักวิทยาศาสตร์ประมวลข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ทำให้เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์มีพลังมหาศาลพบว่า ตลอดเวลากว่า 20 ปีพื้นผิวมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นเส้นทางของฮาร์วีย์มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นราว 0.4 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นผิวโลกเปลี่ยนสภาพจากป่าไม้สมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่เกษตร แปลงเป็นเมือง เป็นตึกสูง

ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนผันผวนรุนแรง

โลกยิ่งร้อนมาก ชั้นบรรยากาศโลกร้อนก็ยิ่งเกิดความชื้นมากขึ้น

ในปี 2559 ก่อนเกิดเฮอร์ริเคน “ฮาร์วีย์” 1 ปี อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงทำลายสถิติ มีคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่รัฐอลาสกาสหรัฐเพิ่มสูง

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ถ้ามนุษย์ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกเหมือนที่ทำอยู่ในขณะนี้ ภายใน 80 ปีข้างหน้าโลกจะเดือดขึ้นราว 1-1.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มอีก 10%

 

ผลพวงหลัง “ฮาร์วีย์” ถล่มเมืองเท็กซัสและอีกหลายเมืองในรัฐเท็กซัสพังย่อยยับ ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาดาวเทียมดวงใหม่ๆ ติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคตรวจสอบติดตามทิศทางพายุ คำนวณความชื้น กระแสความเร็วลม อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรได้แม่นยำขึ้น พยากรณ์พายุได้ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน

ทางผู้บริหารเมืองฮุสตันยังปฏิรูปผังเมืองจัดทำแผนที่น้ำท่วมใหม่ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียม ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาวิเคราะห์คำนวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม

เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้การวางแผนจัดการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วแม่นยำ รู้ล่วงหน้าภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงภัยน้ำท่วมจากฝน 100 ปี หรือบางแห่งเสี่ยงมากที่จะเกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 500 ปี

การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมมีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคและยังมีผลกับบริษัทประกันภัย ถ้าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูง ค่าประกันก็จะสูงขึ้นด้วย

แผนที่ดังกล่าว ทางเมืองฮุสตันร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐ หรือฟีมา (Federal Emergency Management Agency) วางแผนจัดทำตั้งแต่ปี 2561 ภายหลังเกิดภัยพิบัติจากเฮอร์ริเคน “ฮาร์วีย์” คาดว่าแผนที่เสี่ยงภัยจะนำมาใช้อย่างเป็นทางการภายในปี 2568

ภาพอินฟราเรดของพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 มีความแรงระดับที่ 4 ระหว่างพัดถล่มรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 158,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา : นาซา)

หันไปดูแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมในทวีปแอฟริกากันบ้าง หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศเคนยา แทนซาเนีย บูรุนดี และอีกหลายประเทศระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญของเคนยา ดึงผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก และอังกฤษ มาร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุทำไมจึงมีฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ระหว่างปี 2563-2566 หลายประเทศในทวีปแอฟริกาเกิดภัยแล้ง

ภัยพิบัติทั้งหมดนั้นมีผลต่อชาวแอฟริกาเนื่องจากน้ำท่วมและภัยแล้งจะทำให้พื้นที่เกษตรเสียหาย เกิดภาวะอดอยากและโรคระบาด

ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นมีความผิดปกติและรุนแรงมากกว่าในอดีต อย่างเช่น ฝนตกนานขึ้น ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น หรือภาวะแห้งแล้งยาวนาน กินพื้นที่กว้าง ความผิดปกตินี้มาจากฝีมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซพิษจนทำให้ชั้นบรรยากาศโลกแปรปรวนผันผวน และคาดว่าค่าเฉลี่ยความรุนแรงเพิ่มอีกเท่าตัว

แนวทางในการป้องกันภัยพิบัติ ต้องให้ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริการ่วมกันติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ให้รู้ว่าจะมีฝนมากเมื่อไหร่ ปริมาณฝนเท่าใด และวางแผนป้องกันเมืองหรือโยกย้ายอพยพชาวเมืองได้ทันท่วงที

 

ส่วนที่ยุโรปนั้น นอกเหนือเนเธอร์แลนด์ที่วางแผนสร้างบ้านลอยน้ำ ฟาร์มเลี้ยงวัวลอยน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ได้นำเสนอไปในฉบับที่แล้ว ยังศึกษาวิจัยว่าด้วยการวางผังเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม

การศึกษาวิจัยครอบคลุมการวางเลย์เอาต์เมืองให้อาคารเป็นเสมือนแนวกำแพงป้องกันน้ำทะลักล้น เป็นตัวเบี่ยงกระแสน้ำไหลไปลงแหล่งรับน้ำ หรือออกแบบให้ตึกช่วยป้องกันกระแสลม

การออกแบบถนนให้มีวงเวียน ออกแบบตึกเป็นทรงกลม เมื่อมีน้ำท่วมหนักจะช่วยลดความแรงของกระแสน้ำ

นักวิจัยยังคำนึงถึงทางเท้าซึ่งจะมีบทบาทสำคัญระหว่างที่เกิดน้ำท่วม เพราะไม่เพียงจะช่วยเป็นทางระบายน้ำ ลดปริมาณน้ำแล้ว ยังต้องออกแบบให้เป็นทางเท้าที่มีความปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงจากการลื่นหกล้ม

ในข้อสรุปของการศึกษาพบว่า ชาวโลกเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ถี่บ่อยขึ้น และรุนแรงมากขึ้น นักออกแบบวางผังเมืองต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรจึงให้เมือง อาคารที่พักอาศัยหรือตึกสูงเป็นส่วนหนึ่งของแนวป้องกันภัยพิบัติ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม เป็นเมืองอัจฉริยะและผู้พักอาศัยจะอยู่อย่างปลอดภัย

สายน้ำ “สวินเดล เบค” ในมณฑลคัมเบรีย ประเทศอังกฤษ ได้รับการขุดฟื้นฟูให้กลับสู่ธรรมชาติมีความโค้งคดเคี้ยวเหมือนอดีต ลดความเร็วความแรงของกระแสน้ำ ช่วยบรรเทาผลกระทบเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำหลาก (ที่มา : บีบีซี)

ที่อังกฤษ มีผลการศึกษาเรื่องแม่น้ำพบว่า แม่น้ำที่มีความคดเคี้ยวเป็นธรรมชาติ กระแสน้ำไหลอย่างอิสระ ไม่มีวัชพืชหรือกำแพงกีดขวางทางน้ำ จะช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม

แนวคิดนี้นำมาใช้จริงกับสายน้ำชื่อ “สวินเดล เบค” ในมณฑลคัมเบรีย โดยส่งทีมไปศึกษาสายน้ำในอดีตที่ยังไม่มีสิ่งกีดขวาง จากนั้นขุดทางน้ำให้มีลักษณะเช่นเดิมทั้งโค้งคดเคี้ยว การเพิ่มความโค้งคดเคี้ยวจะลดความเร็ว ความแรงของกระแสน้ำ น้ำไหลช้าลง ความเชี่ยวกรากก็ลดลงด้วย

นอกจากขุดทางน้ำ ยังปลูกต้นไม้และสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นและดึงสรรพสัตว์กลับเข้ามาอยู่อาศัย

ส่วนในผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงคุณสมบัติต้นไม้ใหญ่พบว่า เมื่อมีฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนที่ต้นไม้ดูดซับมีความแตกต่างอย่างมาก ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ปลูก และการปลูกเดี่ยวๆ หรือปลูกร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ

ต้นไม้ใหญ่บางชนิดมีเนื้อเยื่อเส้นทางลำเลียงน้ำสามารถเคลื่อนย้ายน้ำไปยังลำต้นส่วนบนได้มาก ต้นไม้ที่อยู่เดี่ยวใช้การดึงน้ำไปหล่อเลี้ยงมากกว่าต้นไม้ที่ปลูกรวมกลุ่มกับต้นไม้ชนิดอื่น แม้ว่าต้นไม้ชนิดนั้นๆ จะดูดซับน้ำได้ดีก็ตาม

นักวิจัยชี้ว่า ต้นไม้จึงมีบทบาทสำคัญในการลดการไหลบ่าของน้ำฝน การกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ ถ้าศึกษาทำความเข้าใจต้นไม้แต่ละชนิดและนำมาปลูกอย่างมีแบบแผนจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพสูงมาก

ผลการศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Urban Forestry & Urban Greening

 

ไม่แน่ใจว่า ในเมืองไทยมีการศึกษาว่าด้วยเรื่องต้นไม้กับประสิทธิภาพการดูดซับน้ำและบทบาทของต้นไม้ในการวางผังเมืองป้องกันน้ำท่วมหรือไม่

แต่ปรากฏการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในบ้านเรา มีเหตุสำคัญมาจากการทำลายพื้นที่ป่าไม้ เมื่อฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนมีมาก แต่ไม่มีแผนป้องกันหรือชะลอน้ำ การสร้างเมืองที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ปิดขวางทางน้ำ

การฟื้นฟูสภาพป่าจึงเป็นเรื่องใหญ่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการคิดใหม่ในระบบวางผังเมือง

สุดท้ายขอวกกลับไปถามรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ว่า หลังเกิดเหตุน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่เกิดความสูญเสียมากมาย รัฐบาลเกิดประกายความคิดใหม่ๆ ในการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาตินอกเหนือจากแจกเงินเยียวยาบ้างหรือยัง? •

 

 

‘คิดใหม่’ สร้างเมืองสู้น้ำ (1)

‘คิดใหม่’ สร้างเมืองสู้น้ำ (2)