ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Aki Inomata
ศิลปินผู้ทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยนำเสนอภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
และศิลปินที่เราจะนำเสนอในตอนนี้ เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เข้ากับธีมหลักของงานในครั้งนี้อย่างยิ่ง นั่นก็คือศิลปินผู้มีชื่อว่า อากิ อิโนมาตะ (Aki Inomata) ศิลปินสาวจากโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้เป็นที่รู้จักจากการทำงานศิลปะที่เป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์
กระบวนการทำงานศิลปะของอิโนมาตะ เริ่มต้นจากการศึกษาและตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตบางชนิดอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะหาหนทางในการเข้าถึงพวกมันผ่านการแสดงออกทางสุนทรียะ นอกจากนั้น ยังเป็นการสำรวจสังคมมนุษย์ผ่านสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อเป็นการสะท้อนสภาวะในชีวิต และยังเป็นการรื้อฟื้นความรู้สึกที่แท้จริงของเธอที่มีต่อความเป็นจริงในโลกใบนี้
“โดยปกติ ฉันจะทำงานร่วมกันกับสัตว์ต่างๆ และในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ฉันนำเสนอผลงานในสามโครงการ”
“โครงการแรกคือผลงานศิลปะที่ทำงานกับปูเสฉวน ซึ่งเป็นโครงการที่ฉันทำมาอย่างยาวนานที่สุด ที่มีชื่อว่า Why Not Hand Over a ‘Shelter’ to Hermit Crabs? (2009-ปัจจุบัน) ซึ่งฉันทำเปลือกหอยโปร่งใสให้ปูเสฉวน โดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฉันยังใส่แบบจำลองของสถาปัตยกรรมในเมืองต่างๆ ทั่วโลกลงบนเปลือกหอย อย่าง นิวยอร์ก, ซานโตรินี, เนเธอร์แลนด์, ปักกิ่ง ประเทศจีน, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น กระท่อมของอาจารย์ เรียวคัง ไดกุ พระเซนชื่อดังของญี่ปุ่น และวัดของกรุงเทพฯ ประเทศไทยอีกด้วย”
“ทุกชิ้นเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศ หรือประเด็นของตัวตน การอพยพพลัดถิ่นฐาน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนเปลือกหอยของปูเสฉวน จากเปลือกหอยอันเดิมไปสู่เปลือกหอยใหม่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เวลาฉันสร้างเปลือกหอยนี้ออกมา บางครั้งปูเสฉวนก็เข้าไปอยู่ข้างใน บางครั้งก็ไม่เข้าไปอยู่”
“ฉันใช้เครื่องสแกน 3 มิติ เพื่อวัดโครงสร้างที่ถูกต้อง ทั้งภายนอกและภายในของเปลือกหอย เพื่อหาขนาดและสัดส่วนของเปลือกหอยที่ปูเสฉวนจะชอบเข้าไปอยู่ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3 มิติ สร้างแบบจำลองของสถาปัตยกรรมในเมืองต่างๆ ลงไปด้านบนของเปลือกหอยอีกที นอกจากเปลือกหอยแล้ว ฉันยังทำงานแบบเดียวกันบนกระดองเต่าอีกด้วย”
“งานชุดนี้มีที่มาจากการที่ฉันได้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในช่วงเวลาของการรื้อถอนอาคารสถานทูตฝรั่งเศสประจำญี่ปุ่นในปี 2009 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานภาพและสัญชาติจากพื้นที่จากฝรั่งเศส ให้กลายเป็นพื้นที่ของญี่ปุ่น หลังจากถูกใช้งานมาแล้ว 54 ปี”
“สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสลับพื้นที่ไปมาเช่นนี้ให้แรงบันดาลใจฉันอย่างมาก ฉันจึงสร้างเปลือกหอยที่เป็นสัญลักษณ์ของปารีส และโตเกียว เพื่อให้ปูเสฉวนเปลี่ยนพื้นที่อยู่อาศัยไปมา เหมือนกับการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานของมนุษย์ ในขณะเดียวกัน วงจรชีวิตที่ว่านี้ของปูเสฉวน ก็สะท้อนภาพของปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ที่โยกย้ายเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย”
“ในภาษาญี่ปุ่น ปูเสฉวน เรียกว่า ‘ยาโดการิ’ (Yadokari) ที่มีความหมายว่า ‘บางคนที่อาศัยอยู่ในที่อยู่ชั่วคราว’ ซึ่งใกล้เคียงกับแนวความคิดของผลงานชิ้นนี้อย่างมาก ฉันเชื่อมโยงการศึกษาวงจรชีวิตของปูเสฉวนเข้ากับการปรับตัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหาแผ่นดินใหม่, การอพยพลี้ภัย หรือการโยกย้ายที่อยู่ ผลงานชิ้นนี้ฉันต้องการสำรวจว่ามนุษย์เราสามารถเลือกสถานที่หรือประเทศที่เราอยู่ได้จริงๆ หรือไม่?”
อ้อ ถ้าใครสงสัยว่าอิโนมาตะไปหาปูเสฉวนเหล่านี้มาจากไหน เธอเฉลยให้เราฟังว่า
“โดยปกติ ปูเสฉวนเป็นสัตว์เลี้ยงที่หาได้ง่ายอย่างมากในญี่ปุ่น ถึงแม้ตอนนี้จะค่อนข้างหาได้ยากแล้ว แต่ในช่วงปี 2009 ปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่หาซื้อได้จากร้านขายสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ฉันยังได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสถาบันของรัฐ ให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ทะเลในหมู่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอีกด้วย”
“ผลงานในโครงการที่สองของฉันคือ Memory of Currency (2018 – 2023) (ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการทำงานกับหอยมุก โดยฉันสร้างไข่มุกจากหน้าของบุคคลที่อยู่ในธนบัตรของสกุลเงินตราต่างๆ ทั่วโลก ทั้งใบหน้าของ จอร์จ วอชิงตัน, เหมา เจ๋อตง, พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2, คาร์ล มาร์กซ์ และ ยูคิจิ ฟุคุซาวะ (นักปฏิรูปแห่งยุคเมจิผู้อยู่บนธนบัตร 10,000 เยนของญี่ปุ่น) โดยฉันทำการสแกนใบหน้าของบุคคลบนธนบัตรของประเทศต่างๆ เพื่อทำเป็นแบบจำลอง 3 มิติเล็กๆ ขึ้นมา และฉันติดต่อฟาร์มหอยมุกให้พวกเขาทำเป็นหอยมุกขึ้นมา ด้วยการเพาะเลี้ยงใบหน้าเหล่านี้เข้าไปในหอย เพื่อให้หอยปล่อยสารมาเคลือบจนกลายเป็นไข่มุกขึ้นมา ระยะเวลาของการสร้างมุกก็จะขึ้นอยู่กับสภาวะของหอยแต่ละตัว และสภาพแวดล้อมของท้องทะเล โดยปกติจะใช้เวลาราวหนึ่งปี หรือมากกว่านั้น”
“หลังจากเก็บมุกเสร็จแล้ว หอยมุกเหล่านี้ก็จะถูกนำไปขายให้คนกินเป็นอาหาร ฉันก็นำเปลือกหอยเหล่านี้ไปปล่อยให้จมลงไปในท้องทะเล และดำน้ำลงไปบันทึกภาพเอาไว้ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพของเปลือกหอยมุกที่กลายเป็น ‘ฟอสซิลของกระแสเงินตรา’ เพื่อสะท้อนถึงระบบเศรษฐกิจในโลกที่เราอาศัยอยู่”
“ผลงานในโครงการที่สามของฉันคือ Think Evolution #1 : Kiku-ishi (Ammonite) (2016-2017) ที่ทำจากฟอสซิลหอยแอมโมไนต์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยฉันสแกนฟอสซิลหอยแอมโมไนต์ แล้วนำไปสร้างเป็นเปลือกหอยจำลองด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แล้วนำไปใส่ในแทงก์ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีหมึกยักษ์อยู่ ซึ่งหมึกยักษ์ชอบเปลือกหอยนี้มาก และเข้าไปอยู่ข้างใน เล่นกับมัน และฉันบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวเอาไว้”
อิโนมาตะยังเปิดเผยถึงเหตุผลของความหลงใหลและมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ให้เราฟังว่า
“ฉันสนใจในการทำงานสร้างสรรค์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างสัตว์ต่างๆ เพราะในโลกเรานั้นไม่ได้มีแค่เพียงมนุษย์อาศัยอยู่เท่านั้น หากแต่ยังมีสัตว์อีกหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันด้วย ซึ่งสัตว์เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อันน่าทึ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรัง หรือที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การสร้างเครื่องมือต่างๆ จากวัตถุในธรรมชาติ (เช่นตัวบีเวอร์ที่เป็นนักสร้างเขื่อน) ฉันสนใจในการสร้างที่อยู่อาศัย และความคิดสร้างสรรค์ของสัตว์เหล่านี้ ฉันต้องการเปลี่ยนความคิดที่ยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ให้เราหันมามองสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน ฉันได้แรงบันดาลใจในการทำงานเหล่านี้จากการอาศัยและเติบโตในประเทศญี่ปุ่นที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ”
“ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน girl, girl, girl… ที่ฉันตัดเสื้อผ้าแฟชั่นให้หนอนผีเสื้อกลางคืนนำไปทำรังดักแด้ ซึ่งการตัดกระดาษสีสันต่างๆ เป็นเส้นยาวๆ ให้หนอนผีเสื้อกลางคืนทำรังดักแด้นั้นเป็นการละเล่นที่เด็กญี่ปุ่นเล่นมานานแล้ว ฉันเองก็เคยเล่นแบบนี้ตอนเด็กๆ แต่ด้วยความที่ทุกวันนี้ เราไม่ใส่ใจและเหินห่างจากธรรมชาติ ทำให้ไม่ค่อยมีการละเล่นแบบนี้หลงเหลืออยู่เท่าไรแล้ว”
“หรือผลงานอีกชุดของฉันอย่าง I Wear the Dog’s Hair, and the Dog Wears My Hair (2014) ที่ฉันเก็บสะสมขนของสุนัขที่ฉันเลี้ยง และเส้นผมของฉันเอง เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนเอาเส้นผมของฉันมาทำชุดให้สุนัขใส่ และเอาขนของสุนัขมาทำเป็นเสื้อผ้าให้ตัวฉันใส่”
“ผลงานศิลปะของฉันเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ฉันมองเห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นทับซ้อนกับชีวิตของมนุษย์ และในการนั้น ฉันสามารถมองมนุษย์จากทัศนมิติใหม่ๆ เพื่อค้นหาตัวเองในมุมมองใหม่”
“พูดง่ายๆ ก็คือ ฉันจับเอาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเล่นบทบาทของมนุษย์ หรืออันที่จริงสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกับฉันก็กำลังเล่นบทบาทของมนุษย์ด้วยกัน”
กับคำถามที่ว่า การทำงานกับสัตว์เหล่านี้ ถือเป็นการเอาเปรียบ บังคับควบคุม หรือหาประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นที่ไม่มีปากมีเสียงหรือสติและสามัญสำนึกในการตอบรับหรือปฏิเสธกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ อิโนมาตะตอบเราว่า
“ในความเป็นจริง ฉันไม่ต้องการเอารัดเอาเปรียบ บังคับควบคุม หรือแม้แต่ทำร้าย หรือฆ่าสัตว์ที่ฉันทำงานด้วย เหตุผลที่ฉันต้องการทำงานกับสัตว์เหล่านี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกจากมนุษย์ให้มากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันสร้างสรรค์และจัดแสดงผลงานเหล่านี้ขึ้นมาให้ผู้คนได้ชม อีกอย่าง ฉันยังได้รับคำแนะนำจากนักวิจัยและนักสัตววิทยาจากหลายสาขา ในการปฏิบัติกับสัตว์เหล่านี้อย่างถูกต้องชอบธรรม และอย่างสมัครใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ในชีวิต เราจะต้องกินสัตว์บางชนิดเป็นอาหารบ้าง เพราะตัวฉันเองก็ไม่ได้เป็นมังสวิรัติ แต่ท้ายที่สุด เราก็สามารถศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และให้ความเคารพกับสัตว์ต่างๆ รวมถึงธรรมชาติได้เช่นเดียวกัน”
ผลงานของ อากิ อิโนมาตะ จัดแสดงใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ณ พื้นที่แสดงงาน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 10:00-20:00 น.
ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ป.ล. วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ ขอเชิญร่วมทัวร์เทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กับ MATICHON HOLIDAY TRIP SERIES BKK Art Biennale Trip นำชมตลอดทริปโดยผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สนใจสำรองที่นั่งที่ LINE โดยคลิก line.me/ti/p/zM-t9v3Y9w หรือค้นหาด้วย LINE ID : Matichonmic, สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ : คุณหญิง (092-2464140)
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022