เหรียญหล่อหน้าเสือ มงคล ‘หลวงพ่อน้อย’ วัดธรรมศาลานครปฐม

“พระครูภาวนากิตติคุณ” หรือ “หลวงพ่อน้อย อินทสาโร” อดีตเจ้าอาวาสอดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุค

เป็นตำนานแห่งนครปฐมอีกรูป ได้ชื่อเป็นเจ้าตำรับ “เหรียญหน้าเสือ-เหรียญหล่อคอน้ำเต้า” อันลือลั่น

อีกทั้งเป็นสหธรรมิกร่วมยุคสมัยกับหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงปู่เส่ง วัดกัลยาณ์ ฯลฯ

วัตถุมงคลได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ เหรียญทรงเสมารุ่นแรก, เหรียญหล่อหน้าเสือรุ่นแรก สร้างราวปี 2497-2498, เหรียญหล่อคอน้ำเต้า สร้างปี 2497-2498

นอกจากนี้ ยังมีรูปหล่อ, พระพิมพ์สมเด็จ, พระยอดธง, พระปิดตา และเครื่องรางของขลังอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ตามปกติ ไม่ค่อยชอบและไม่อนุญาตการจัดสร้างวัตถุมงคล บรรดาศิษย์ได้กราบขออนุญาตหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ซึ่งเป็นสหธรรมิก

สุดท้ายบรรดาศิษย์ก็ได้ขออนุญาตจัดสร้างอีก แต่ครั้งนี้ ไม่ได้กล่าวตอบรับหรือปฏิเสธ บรรดาศิษย์จึงถือว่าอนุญาตแล้ว

สำหรับ “เหรียญหล่อหน้าเสือ รุ่นแรก” จัดสร้างราวปี พ.ศ.2498 ลักษณะเป็นรูปใบเสมา

ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหน้าตรง จีวรห่มคลุม เหนือศีรษะเป็นแถบลายไทยมีจุดกลมอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยลายไทย มีเส้นคู่วิ่งรอบอยู่ด้านใน

ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์นะทรงแผ่นดิน

ในการหล่อครั้งแรก สั่งให้ลูกศิษย์ทุบหุ่นออก เพื่อดูรูปพิมพ์ ครั้นเมื่อดูเหรียญ ถึงกับอุทานว่า “หน้าดุอย่างกับเสือ ใครเขาจะเอาไปใช้”

จนกลายเป็นว่า เหรียญหล่อรุ่นแรกพิมพ์นี้ ถูกเรียกขาน เหรียญหล่อหน้าเสือ เรื่อยมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันหายาก

เหรียญหล่อหน้าเสือ หลวงพ่อน้อย

อัตโนประวัติ เกิดที่บ้านหนองอ้อ ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2426

ในวัยเยาว์ บิดานำไปฝากไว้กับพระครูปริมานุรักษ์ (นวม) เจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา เพื่อการศึกษาเล่าเรียนและรับการอบรม จนมีความรู้ความสามารถการอ่านและเขียนภาษาไทยกับภาษาขอม

อายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดธรรมศาลา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2446 มีพระอธิการทอง วัดละมุด อ.นครชัยศรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปริมานุรักษ์ (นวม) วัดธรรมศาลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์แสง วัดใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า “อินทสโร”

มีความสนใจศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคม ศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นเบื้องต้นจากอาจารย์หลายรูป ได้แก่ พระอธิการทอง วัดละมุด พระครูปริมานนุรักษ์ (นวม) พระครูทักษิณานุกิจ (แจ้ง) พระสมุห์แสง วัดใหม่ รวมทั้งอาจารย์อู๊ด ฆราวาสผู้มีวิทยาคม

มีความรู้ภาษาขอมมาแต่เดิมและมีสมาธิมั่นคงแน่วแน่ จึงทำให้การศึกษาทางวิทยาคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ร่ำเรียนวิชาชนิดไหนก็สำเร็จไม่มีติดขัด

มีคุณวิเศษหลายประการ โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิชาการฝังลูกนิมิต การเสกทรายและการลงไม้หลักมงคล ซึ่งใช้สำหรับการประกอบพิธิวางศิลาฤกษ์นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่โจษจันกันมาก

จนปรากฏว่าสังฆเสนาสนะทั้งหลาย ที่ได้สร้างไว้ล้วนเป็นที่น่าอัศจรรย์ ดังมีเรื่องเล่าขานว่า โจรใจบาปหยาบช้าที่เข้ามาโจรกรรมสิ่งของมีค่า ภายในปูชนียสถานเหล่านั้น ไม่อาจเล็ดลอดออกไปได้ ถึงออกไปแล้วก็ต้องกลับมาให้จับกุมจนได้

งานพุทธาภิเษกต่างๆ มักได้รับนิมนต์ให้ร่วมปลุกเสกด้วยแทบทุกครั้ง โดยช่วงเบื้องปลายชีวิต ได้รับนิมนต์ไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษก ณ ที่อื่นๆ อยู่เนืองๆ เช่นเมื่อปี 2500 ได้เข้าร่วมชุมนุมพระอาจารย์ 1,782 รูป ในพิธีพุทธาภิเษกสร้างพระสมเด็จและรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นอนุสรณ์กึ่งพุทธกาล

หลวงพ่อน้อย อินทสาโร

มีบันทึกประวัติในหนังสือชุมนุมพระอาจารย์ ความสำคัญมีว่า

“พระอาจารย์น้อย อินทสโร อายุ 77 ปี พรรษา 57 เจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ลงทางมหาอุตม์กันกระทำ มหานิยม คลอดบุตรง่าย-ปลอดภัยกันภยันตรายต่างๆ เลี้ยงบุตรง่าย ก็เด็กขี้อ่อน กันแท้งลูก ใส่ก้งถุง-มีเงินใช้ไม่ขาด มีอำนาจ”

นอกจากนี้ พิธีเททองหล่อพระพุทธรูปพระกริ่งที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่วัดประสาทบุญญาวาท เมื่อประมาณปี 2508 ร่วมลงแผ่นโลหะปลุกเสกไปเข้าพิธีด้วย ปรากฏว่าแผ่นโลหะนี้ เมื่อใส่ไปในเบ้าหลอมกลับไม่ละลาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของพระอาจารย์ที่เกิดปรากฏการณ์แบบเดียวกัน จนเป็นที่โจษจันในอิทธิปาฏิหาริย์

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ทั้งที่สร้างเป็นรุ่นๆ ในจำนวนมาก และที่ปลุกเสกเป็นการเจาะจงให้ลูกศิษย์เป็นเฉพาะรายในจำนวนน้อย เมื่อรวมกันแล้วถึง 50 กว่าชนิด เพื่อแจกเป็นที่ระลึก รวมทั้งแจกในโอกาสต่างๆ เช่น งานทอดกฐิน และผ้าป่า งานสร้างศาลาการเปรียญ-สร้างพระอุโบสถ-สร้างโรงเรียน-สร้างหอระฆัง หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในวัด

อุปนิสัยเป็นพระที่สงบเสงี่ยมสำรวมอยู่เป็นนิจ มักน้อยสันโดษ มีเมตตาต่อบุคคลและสัตว์

สร้างอาคารโรงเรียนประชาบาล เมื่อปี พ.ศ.2495

สร้างอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ.2501

สร้างสะพานคอนกรีตและถนน ในปี พ.ศ.2502

สร้างอาคารโรงเรียนหลังที่ 2 ในปี พ.ศ.2505

สร้างฌาปนสถาน ในปี พ.ศ.2510

สร้างกุฏิสงฆ์ ในปี พ.ศ.2511

สร้างหอระฆัง ในปี พ.ศ.2512 เป็นต้น

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ในที่สุดก็มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2513

สิริอายุ 87 ปี พรรษา 67 •

 

โฟกัสพระเครื่อง |  โคมคำ

[email protected]