แกงแค เมนูแถวหน้าอาหารพื้นบ้านล้านนา ต้าน NCDs

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “คิกออฟ” มอบนโยบายสร้างวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ ลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ท่านเล็งยุทธศาสตร์ลึกล้ำนำเสนอการให้ความรู้ มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการกินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หรือท่องคาถาให้ขึ้นใจ “ลดหวานมันเค็ม” เจ็บป่วยน้อยลงแน่ และที่ขาดไม่ได้ต้องมีกิจกรรมทางกาย “ไม่เนือยนิ่ง” หรือ “ติดความสบายเกินไป” กินดีแค่ไหนถ้ายังไม่ได้ออกกำลังกายสุขภาพก็ยังไม่ดีแท้แน่นอน

ท่าน รมต.ประกาศมาตรการแก้ปัญหาโรค NCDs ให้ อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สวมบทหน่วยรบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูบทเรียนช่วงโรคระบาดโควิด-19 พลัง อสม.พิสูจน์ศักยภาพให้ชาวโลกต้องมาศึกษาและถอดบทเรียน ในครั้งนี้เสนาบดีหมอสมศักดิ์ เทพสุทิน เลือกเอาถิ่นล้านนาที่ จ.แพร่ ประกาศสยบโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่กำลังกัดกร่อนชีวิตคนไทยทุกปี จากสถิติในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 4 แสนคน ใช้เงินทองค่ายา เวชภัณฑ์ นับแสนล้านบาท

ถ้านับค่าใช้จ่ายที่ญาติมิตรมาดูแล และค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ อีกก็นับว่าหลายแสนล้านบาท

 

เรื่องลดโรค สร้างสุขภาพนี้ ช่างบังเอิญพอดิบพอดีที่มูลนิธิสุขภาพไทยมีพื้นที่ภาคสนาม จ.แพร่ ทำงานกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และ อสม. “นักเปลี่ยนแปลงสุขภาพ” ที่ทรงพลัง จึงมีเรื่องเล่าเสนอให้เป็นโมเดลน้อยๆ ให้ฝ่ายนโยบายหยิบไปขยายผล เรื่องมีอยู่ว่า มูลนิธิสุขภาพไทยและเครือข่ายในพื้นที่เชื่อมั่นในสมุนไพรทั้งรูปแบบอาหารและยา และเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวไม่ว่าป่าชุมชน ป่าข้างบ้าน หรือแม้แต่สวนผักหลังบ้าน ก็คือขุมทรัพย์กำจัด NCDs ได้

เมื่อปี 2566 มีงานร่วมมือกับ น.ส.จินตนา ฉาใจ ประธาน อสม. พร้อมทีม อสม.ใน ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ ได้นำเอาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งอาหารและยา (หมอพื้นบ้านแพร่) มาผสมผสานจัดอบรมให้ชาวบ้านโดยนำตัวเองและทีม อสม.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำแดงให้เห็นว่าน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูงลดลงได้เพราะอาหารพื้นบ้าน กินผักเยอะๆ

ยิ่งกว่านั้นน้ำหนักตัวยังลดลง หุ่นเพรียวเดินคล่องกันด้วย

เคล็ดลับที่ไม่ลับ 4 ประการที่สมาชิกพร้อมใจกันทำในช่วง 5 เดือน คือ

1) รับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หันกลับมากินอาหารพื้นบ้าน

2) ลับคมสมอง ไตร่ตรอง รู้ทันผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยอาหารขยะหวานมันเค็ม ต้องห่างไว้

3) ทำตัวลำบากอย่าติดสบายสุขภาพจะดี ที่เคยขับรถขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งฉิวไปตลาด ให้เดินหรือขี่จักรยานทุกวัน ขากลับแวะคุยกับเพื่อนบ้านสร้างสุขภาพจิตไม่มีเครียด

4) รวมกันคือพลังการเปลี่ยนแปลงโลก เหมือนนิทานอีสปให้เด็กเรียนรู้ว่า แขนงไม้ไผ่เมื่อมารวมเป็นกำมือ ใครจะหักก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าแยกออกเป็นซีกเล็กๆ หักทีละอันก็หมดกำมือ

เหตุนี้ อสม.และกลุ่มเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบโดยเริ่มที่หมู่ 2 ตำบลป่าแดงรวมตัวพบกันทุกเดือนจะมาทำอาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพกินกัน และเรียนรู้ว่าผักรอบบ้านที่ไม่นึกว่ากินได้นั้นให้นำมาช่วยกันปรุงอาหารสุขภาพชั้นเยี่ยม แต่ละเดือนก็จะได้เมนูหลายเมนูกลับไปทำกินเองที่บ้าน แต่บอกใครๆ ว่าพบกันเดือนละครั้งแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงเบาหวานความดันโลหิตได้ คงไม่มีใครเชื่อ ความจริงของกลยุทธ์อยู่ที่ “พบกันทุกวัน” ผ่านกลุ่มออนไลน์ แต่ละคนจะ “โชว์ แชร์” เมนูที่ตนเองทำกิน และกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไปจากความนิ่งเฉยสู่ “แอ็กทีฟ”

ผลงานที่ไม่น่าเชื่อว่า การเก็บข้อมูลเบื้องต้นโดยอดีตพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าแดง พบว่า สมาชิกที่เข้าร่วมร้อยละ 75 -80 สามารถลดน้ำตาลในเลือดและความดันลงได้อย่างน่าพอใจ และน้ำหนักตัวลดลง หลายคนที่เคยต้องกินยาลดน้ำตาลและความดันโลหิตมาถึงวันนี้ไม่จำเป็นต้องกินยาแล้ว ใช้การกินอาหารพื้นบ้านและปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน

ถ้าใครผ่านไปเมืองแพร่ลองคุยกับนายกสมาคมผู้นำพัฒนาสตรีจังหวัดแพร่ ท่านไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่ท่านสนใจมาร่วมขบวนกับมูลนิธิสุขภาพไทยต่อเนื่อง ช่วยให้ท่านเป็นสตรีสูงวัยสุขภาพดี NCDs เบาบางไปมาก

 

บทเรียนกิจกรรมที่ตำบลป่าแดง พบว่าเมนูพื้นบ้านที่นิยมและเสมือนทัพหน้าอาหารต้าน NCDs นั้น ต้องยกให้ “แกงแค” ที่ไม่ใช่หมายถึงแกงดอกแค แต่คำว่า แคทางภาคเหนือ หมายถึง การนำผักหลากหลายชนิดมาแกงรวมกัน ใส่เนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา กบ หนัง (ควาย) ก็ได้ ในบางท้องถิ่นเรียก แค ว่าคือต้น ชะพลู เมื่อทำแกงแคก็จะมีใบชะพลู รสเผ็ดซ่า อยู่ในสูตรด้วย

จากการศึกษาของนักวิชาการหลายสถาบันก็ยืนยันตรงกันว่า แกงแค เมนูให้พลังงานต่ำ กินไม่อ้วนและช่วยลดน้ำหนัก วิตามินเพียบ สารต้านอนุมูลอิสระสูง เพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรตามพืชผักที่มีรสยาต่างกัน โดยเฉพาะผักรสขมจากมะระขี้นกหรือมะเขือพวงช่วยแก้ไข้ โดยเฉพาะอากาศเปลี่ยนฤดูเช่นนี้ เป็นฤดูกาลแกงแค ทั้งแกงแคไก่ แกงแคปลา แกงแคกบ และแกงแคหนัง

ตัวอย่างผักในแกงแค เช่น 1.ใบพริก 2.พริก 3.มะระขี้นก 4.ถั่วฝักยาว 5.ผักก้านตรง 6.มะเขือเปาะ 7.มะเขือพวง 8.ผักชีฝรั่ง 9.กะเพรา 10.ยอดพญายอ 11.ตำลึง 12.ผักคราดหัวแหวน 13.หวาย 14.ยอดมะรุม 15.ดอกงิ้ว 16.ผักชีฝรั่ง 17.ชะอม 18.ชะพลู 19. ยอดฟักทอง 20.เชียงดา 21.ดอกแค 22.เห็ด 23.ดอกข่า ฯลฯ ตามชอบ หรือผักตามฤดูกาล

แกงแคต้องใส่จักค้าน (สะค้าน) สมุนไพรรสเผ็ดร้อน กลิ่นเฉพาะตัวไปด้วย แกงแค เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยืดหยุ่นรับกับพืชผักที่ได้ทุกฤดูกาล ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ทำหน้าที่อาหารและยา

ปลายฝนต้นหนาวสุดแสนโรแมนติกนี้ ให้แกงแค ได้ take care of you นะ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org