ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เป็นเรื่องราวของกษัตริย์วงศ์เทวัญซึ่งถือตัวว่าสูงส่งกว่ากษัตริย์วงศ์อื่น จึงเปรียบเทียบความสูงต่ำของชั้นวรรณะไว้หลายตอนเกี่ยวกับการครองคู่ของตัวละครชายหญิง
เมื่อระเด่นมนตรีหรืออิเหนาไปหลงรักนางจินตะหรา และตัดสัมพันธ์นางบุษบา คู่หมั้นวงศ์เทวัญด้วยกัน ท้าวดาหาได้ยกนางบุษบาให้ระตูจรกาผู้มาสู่ขอ
ก่อนถึงกำหนดวันอภิเษก อิเหนาได้พบนางบุษบา เกิดหลงรักและเสียดายนางจับใจ
ผู้ที่ผิดหวังกับเรื่องนี้ยังมีบุพการีของทั้งสองฝ่าย ท้าวกุเรปันไม่เห็นด้วยที่ท้าวดาหาจะให้นางบุษบาครองคู่กับจรกา พยายามคัดค้านว่า
“จรกาซึ่งจะมาร่วมวงศ์ ชั่วทั้งรูปทรงแลศักดิ์ศรี
ดังเอาปัดมาปนกับมณี ไม่ควรที่จะให้ครองกัน” (ปัด = ลูกปัด)
ท้าวดาหาทูลตอบว่าความหวังที่จะให้ลูกทั้งสองของเราครองคู่กันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก
“แต่หากบุญไม่เคยคู่กัน จึ่งบันดาลให้ชายเอาตัวหนี
ดังหงส์ไม่ลงชลธี ราชสีห์หนีถ้ำสุรกานต์
เหมือนหมู่บุหรงทั้งปวง ไม่เป็นห่วงด้วยพฤกษาสาร
สำหรับที่จะได้รับอัประมาณ จึ่งบิดผันบันดาลไปทั้งนี้”
จะเห็นได้ว่าท้าวดาหากล่าวถึงสองสิ่งคู่กันหรืออยู่คู่กัน เปรียบอิเหนากับหงส์ ราชสีห์ และหมู่นก เปรียบนางบุษบากับหนองน้ำ ถ้ำแก้ว และต้นไม้ หงส์ย่อมอาศัยในหนองน้ำ ราชสีห์มีถ้ำแก้วเป็นที่พำนัก นกทั้งหลายมีต้นไม้เป็นที่พักพิง
ท้าวดาหาชี้ให้ท้าวกุเรปันยอมรับความจริงว่าแม้อิเหนาและนางบุษบาจะเหมาะสมกัน เลิศทั้งรูปลักษณ์และศักดิ์ตระกูลสูงส่ง แต่ฝ่ายชายกลับตัดสัมพันธ์พยายามแยกตัวหนี ทั้งๆ ที่ถ้าผิดไปจากอิเหนาแล้วจะหาใครคู่ควรเป็นคู่ครองของนางบุษบานั้นไม่มี
การที่อิเหนาตัดสัมพันธ์จากนางจึงเปรียบได้กับหงส์ไม่ยอมลงหนองน้ำ ราชสีห์หนีจากถ้ำแก้ว และมวลหมู่นกบินหนีจากต้นไม้ที่อาศัยโดยไม่อาลัยอาวรณ์
บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” นอกจากจะเปรียบเทียบคู่ครองที่เหมาะสมกัน ยังใช้สำนวน ‘กากับหงส์’ เปรียบเทียบคู่ครองที่ไม่เหมาะสมกัน ห่างไกลกันทั้งรูปลักษณ์และศักดิ์ตระกูล เช่น วงศ์ระตูกับวงศ์เทวัญ เพื่อเน้นถึงความไม่ควรระหว่างระตูจรกา ชายอัปลักษณ์ต่ำศักดิ์ กับนางบุษบา หญิงสูงศักดิ์งามเลิศลักษณ์
ดังตอนที่อิเหนาใช้อุบายทำให้นางยุบลค่อมนำสาส์นดอกปะหนัน (ดอกลำเจียก) หรือจดหมายที่อิเหนาใช้เล็บจารึกบนกลีบดอกไม้ดังกล่าวไปถวายนางบุษบา
สาส์นนี้มีข้อความเสียดสีเปรียบเปรยความไม่เหมาะสมระหว่างจรกากับนางบุษบาอย่างเจ็บแสบ
“ในลักษณ์นั้นว่าจรกา รูปชั่วต่ำช้าทั้งศักดิ์ศรี
ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์ ดูไหนไม่มีจำเริญใจ
เกศานาสิกขนงเนตร สมเพชพิปริตผิดวิสัย
เสียงแหบแสบสั่นเป็นพ้นไป รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร
เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่ ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน
ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ มาประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา”
ในที่นี้อิเหนามอง ‘จรกา’ คือ ‘กา’ ‘นางบุษบา’ คือ ‘หงส์’ ส่วนท้าวกุเรปันมอง ‘อิเหนา’ คือ ‘หงส์’ ‘นางจินตะหรา’ คือ ‘กา’ ดังที่ท้าวกุเรปันปรับทุกข์กับท้าวดาหาว่า อิเหนาไปหลงใหลนางจินตะหรา ทำให้นางบุษบาจะตกเป็นคู่ครองของจรกา
“ด้วยอิเหนาเมามัวชั่วนัก หาญหักไม่ฟังว่าขาน
รักแต่ต่ำช้าสาธารณ์ ไม่รักวงศ์วานของตัว
แต่ก่อนบห่อนจะขัดคำ ทีนี้หนำใจที่รักชั่ว
เสียดายนักศักดิ์เราจะหมองมัว ดังหงส์ไปกลั้วตระกูลกา”
แม้ตัวอิเหนาเองก่อนหน้านี้เมื่อประจักษ์ว่า นางบุษบาคู่หมั้นที่ตนปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเพราะมัวหลงใหลนางจินตะหรานั้น มีรูปโฉมงดงามเหนือกว่านางจินตะหราชนิดเทียบกันไม่ติด ยิ่งเมื่อรู้ว่านางบุษบาจะต้องครองคู่กับระตูจรกาเพราะผลการกระทำของตน อิเหนาถึงกับรำพันด้วยความอาลัยระคนแค้นใจตัวเองว่า
“ฉุกใจได้คิดสิผิดนัก ไปพะวงหลงรักจินตะหรา
ประยูรหงส์ไม่จงเจตนา ไปหลงชมสกุลกาว่าดี”
ท้าวกุเรปันและอิเหนาใช้สำนวน ‘หงส์กับกา’ เปรียบเทียบชาติกำเนิดที่แตกต่างกันระหว่างอิเหนากับนางจินตะหรา
สำนวนนี้มีมาแต่โบราณเน้นถึงความไม่เหมาะสมคู่ควรระหว่างชายหญิงที่เกิดในตระกูลสูงหรือต่ำกว่ากันมาก
โดยเปรียบวงศ์ระตูกับกา สัตว์ตระกูลต่ำ ขนดำน่าเกลียด มีนิสัยชั่วร้ายชอบลักขโมย
‘กา’ สื่อถึงความอัปลักษณ์ ความชั่วช้า ความต่ำต้อยด้อยค่า เปรียบได้กับวงศ์ระตูต่ำทราม ไร้คุณงามความดีและศักดิ์ศรีอันคู่ควรเป็นคู่ครองของวงศ์เทวัญ
ตรงกันข้ามกับ ‘หงส์’ ที่สื่อถึงความงามสง่า ความดีงาม ความสูงส่ง เปรียบได้กับวงศ์เทวัญสูงศักดิ์
เมื่อนำ ‘กา’ มาเทียบกับ ‘หงส์’ จึงแสดงถึงความแตกต่างอย่างเด่นชัดว่าเป็นสัตว์ต่างตระกูล ไม่สมควรจะปะปนกัน
น่าสังเกตว่า สำนวนเปรียบ ‘กากับหงส์’ หรือ ‘หงส์กับกา’ มิได้จำกัดให้ใช้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง สามารถใช้ได้ทั้งกรณีหญิงสูงศักดิ์กับชายต่ำศักดิ์ เช่น นางบุษบากับจรกา และหญิงต่ำศักดิ์กับชายสูงศักดิ์ เช่น นางจินตะหรากับอิเหนา
บางครั้งกวีมิได้เปรียบ ‘กา’ กับ ‘หงส์’ เท่านั้น แต่เจาะจงเปรียบ ‘กา’ กับ ‘ราชหงส์ทอง’ เพื่อเน้นถึงความต่ำศักดิ์ไร้ค่าที่มิอาจเทียบเคียงอีกฝ่ายได้
ดังตอนที่ระตูจะมาหราเป็นพ่อหม้ายเมียตาย มีลูกชาย 2 คน อยากจะหามเหสีใหม่ จึงส่งทูตไปสู่ขอนางสะการะหนึ่งหรัด ธิดาท้าวกาหลังที่เพิ่ง “จำเริญรุ่นชันษาสิบห้าปี” ทั้งยังมีคู่หมายแล้ว คือโอรสท้าวสิงหัดส่าหรี วงศ์เทวัญเช่นเดียวกัน
เมื่อท้าวกาหลังไม่ยินยอม ระตูจะมาหราและพี่ชายจึงยกทัพมาตีเมืองกาหลัง
ปันหยี (อิเหนา) และอุณากรรณ (บุษบาตอนเป็นชาย) ช่วยรบป้องกันเมือง กลางสนามรบอุณากรรณประณามระตูจะมาหราว่าต่ำช้าไม่คู่ควรกับนางสะการะหนึ่งหรัด โดยเปรียบ ‘ระตูจะมาหรา’ กับ ‘กา’ เปรียบ ‘นางสะการะหนึ่งหรัด’ กับ ‘ราชหงส์ทอง’
“อันพระราชบุตรีโฉมยง เป็นวงศ์เทวัญอสัญหยา
ไม่ควรคู่ด้วยระตูต่ำช้า ดั่งกากับราชหงส์ทอง”
กวีมิได้เปรียบ ‘หงส์’ กับ ‘กา ‘เฉพาะการครองคู่เท่านั้น ฉบับหน้ามาคุยต่อ •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022