อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะ งานเขียน และชีวิตจริง ที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน (จบ) ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา อารยา ราษฎร์จำเริญสุข มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ที่หอศิลป์ 100 ต้นสน ในชื่อ “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” ที่ทำให้เราเกิดความสนใจและสงสัยว่าเธอจะหวนกลับคืนมาสู่โลกวรรณกรรมอีกคำรบหนึ่งหรือไม่

ซึ่งผลงานในนิทรรศการนี้ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหากลวิธีทางศิลปะอันแปลกใหม่ ท้าทาย แนวความคิดอันลุ่มลึกแหลมคม และรสชาติของสุนทรียะของความเป็นบทกวี สมกับที่เป็นงานของเธออย่างไม่เสื่อมคลาย

โดยในนิทรรศการนี้ อารยานำเสนอผลงานชุดใหม่ของเธอ ที่ประกอบด้วย ผลงานวิดีโอจอเดี่ยว “อำมหิต” (2017) โดยเป็นวิดีโอที่แสดงภาพชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งผู้สวมบทบาทศิลปินแห่งชาติกำลังวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะของอารยาให้ชาวบ้านร้านตลาดและพระภิกษุสงฆ์ที่ล้อมวงฟังอยู่อย่างเผ็ดร้อน

และผลงาน “ฉันเพิ่งฟังคำบอกว่า งานของเธอเศร้าเกินไปสำหรับคริสต์มาส” (2017) ซึ่งเสนอคำถามแย้งกันไปมาระหว่างผู้หญิงสองคนเกี่ยวกับผลงานวิดีโอที่บรรจุความตาย ความป่วยไข้ ความถวิลหา ความเริงร่าอย่างเด็กๆ และการบริโภคในเชิงปรัชญาเอาไว้ภายใน

ตามมาด้วยผลงานประติมากรรมจัดวาง “เพลงกล่อมเด็กของรังไข่ที่ตายแล้ว” (2016) ที่ประกอบด้วยรูปปั้นปูนปลาสเตอร์สีขาวของหญิงสาวที่นอนคุดคู้คู่กับรูปหล่อเหมือนจริงของหมาตัวหนึ่งที่ดูคล้ายกับถูกสตัฟฟ์เอาไว้ ทั้งสองนอนอยู่บนฐานโลหะรูปทรงบิดเบี้ยวขรุขระ และมีแผ่นโลหะคล้ายกับหลังคาหรือฝาปิดติดหลอดไฟส่องสว่างลอยอยู่เหนือหัว จนดูคล้ายกับเป็นรังไข่หรือเปลเด็กอันแปลกประหลาดเหนือจริง

วิดีโอไร้เสียง ที่แสดงกระบวนการทำงาน (2015) “นิรนาม ยัมมายูชิ” เคียงข้างด้วยผลงานประติมากรรม เพลงกล่อมเด็กฯ เหลื่อมซ้อนด้วยภาพทะเล ทุ่งหญ้า หมาวิ่งเล่น และบาดแผลจากการผ่าตัด ซึ่งมีที่มาจากผลงานนิรนาม ในปี 2015 ของเธอ

รวมถึงผลงานที่ติดตั้งภายหลังจากเปิดนิทรรศการเป็นรูปหล่อเหมือนจริงของหมาหนึ่งตัวที่ถูกลูบหัวอย่างรักใคร่โดยรูปปั้นปูนปลาสเตอร์ของหญิงสาวที่ไร้ร่างกายท่อนบน ฉายทาบด้วยวิดีโอภาพหมาที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ ห่างออกไปเป็นรูปปั้นหมาที่ดูเหมือนจะขาพิการนั่งอยู่

ซึ่งประติมากรรมหมาเหล่านี้ก็มีที่มาจากเหล่าบรรดาหมาที่ศิลปินเลี้ยงเอาไว้ในชีวิตจริงนั่นเอง

“มันเป็นชีวิตอาจารย์เลยนะ เป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในฝูงหมาสิบกว่าตัว บางคราวเก็บมามากก็ถึงยี่สิบเอ็ดตัว ตอนเอางานชิ้นใหม่มาตั้ง แกลอริสม์บอกว่า แกลเลอรี่ผมเหมือนสวนสัตว์ไปทุกทีแล้ว (หัวเราะ) ประโยคนี้ทำให้อาจารย์กลับไปที่บ้านแล้วก็คิดว่า เออ มันชีวิตฉันนี่นะ ฉันอยู่กับหมาเยอะ เป็นชนส่วนน้อยในบ้านเลยน่ะ เพราะฉะนั้น ในงานนี้มันก็คล้ายๆ กัน”

และผลงานชิ้นเอกที่โดดเด่นเป็นที่ฮือฮาที่สุดในนิทรรศการที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการอย่าง “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” (2017) ที่ประกอบด้วยประติมากรรมขนาดเล็กรูปคนที่ติดตั้งอยู่บนโครงสร้างไม้สองปลาย ปลายหนึ่งเป็นรูปหญิงสาวในชุดยาวกำลังเยื้องย่างบนปลายเท้าในท่วงท่าบัลเล่ต์

ในขณะที่อีกปลายเป็นหญิงสาวถูกห้อยแขวนลงมาจากปลายไม้ด้วยร่างกายเปลือยเปล่า

เมื่อพินิจพิจารณาใกล้ๆ ก็พบว่าประติมากรรมทั้งสองมีต้นแบบมาจากตัวศิลปินนั่นเอง!

“อาจารย์คิดว่างานเขียนก็ดี งานศิลปะก็ดี มีฐานอยู่ตรงจุดที่ หนึ่ง การพูดความจริง พูดให้จริงที่สุด สอง ก็คือความฝัน อาจารย์คิดว่าเวลาขณะที่เราพูดความจริงที่สุด คือขณะตอนที่เราใกล้จะตาย ทำให้อาจารย์ได้ไอเดียของการกลับหัว การแขวนตัวเองแบบหมดสภาพ ส่วนตัวที่เต้นบัลเล่ต์ก็เหมือนฝั่งของความฝัน จินตนาการ เพราะในความจริงอาจารย์เต้นบัลเล่ต์ไม่เป็นน่ะค่ะ ให้มันดู “เริง” เพราะฉะนั้นก็เอามาไว้ด้วยกัน อาจารย์คิดว่านี่คือฐานของชื่องานที่ว่า “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” เพราะฉะนั้น ฐานของมันก็คือ คุณจริงได้แค่ไหน แล้วคุณฝันฟุ้งกระเจิงได้แค่ไหน ก็เลยออกมาเป็นตัวสองตัวนี้ จริงๆ ยังมีคราบไคลของส่วนอื่นที่ไม่เปิดเผย”

โดยในวันเปิดนิทรรศการ ศิลปินเจ้าของงานอย่างอารยาก็ไม่ได้มาปรากฏตัว หากแต่ส่งกลุ่มบุคคลผู้สวมวิกผมยาวและแต่งตัวคล้ายกับเธอ มาเดินเยื้องกรายในงานเปิดอย่างเงียบงันแทน

นอกจากผลงานศิลปะดังที่กล่าวไปแล้ว ชื่อนิทรรศการ “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ดูเก๋ไก๋หรือเล่นบาลีแต่เพียงเปล่าๆ ปลี้ๆ แต่อย่างใด เพราะตัวศิลปินเองก็ทำการ “พยายามกลับไปเป็นนักเขียน” ด้วยการเขียนหนังสือนิยายขึ้นในช่วงเวลาที่จัดนิทรรศการนี้ขึ้นมาจริงๆ อีกด้วย

“พอดีอาจารย์ต้องหาอุบายอะไรบางอย่างเพราะว่าอาจารย์เกษียณอายุเมื่อสิ้นกันยายน (2016) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยก่อนหน้าจะหยุดเพราะวัยและสังขาร แล้วอาจารย์กลัวอาจารย์โหวง เพราะว่าอาจารย์ทำงานแบบบู๊มาตลอด”

“แล้วจริงๆ อาจารย์เคยนึกในใจว่าจะไม่แสดงงานในเมืองไทยอีกแล้ว เพราะว่าอาจารย์ทำเยอะมากนะ ในเมืองไทยแสดงเดี่ยวเป็น 10 กว่าครั้ง อาจารย์ก็คิดว่าน่าจะหยุดได้แล้ว เพราะว่ามันซ้ำ”

“แต่แกลเลอรี่มาทาบทามว่าให้ทำนิทรรศการ ในช่วงก่อนอาจารย์เกษียณ อาจารย์นึกว่า เออ คนสอนศิลปะเขาชอบทำงานนิทรรศการเกษียณอายุกันใช่ไหม แต่อาจารย์จะทำให้มันเป็นอาชีพหน่อย คือไม่ไปทำที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยตัวเอง แล้วก็มีพวกเพื่อนร่วมงานมาเปิดงาน มีเจ้านายมากล่าวอะไรอย่างนี้ อาจารย์ก็เลยบอกว่า ถ้างั้นก็ดีนะ คือไหนๆ มันมีธรรมเนียมอะไรก็ถือครองเอาไว้ แต่เราก็ฉีกออกมาด้วย ก็เลยรับคำ”

“แต่ตั้งพล็อตนี้ไว้ เพราะว่า อาจารย์คิดว่าถ้าเลิกสอนหนังสือ แล้วไม่ทำอะไรจริงจังต่อเนื่อง อาจารย์อาจจะโหวง เพราะอาจารย์บู๊ไว้เยอะ ไม่มีใครให้บู๊อีก เพราะหมาที่บ้านส่วนใหญ่ก็กลมเกลียวกันดี อาจารย์ก็คิดว่าต้องตั้งอุบายการเขียนที่หนัก ก็คือการเขียนหนังสือนิยาย เป็นอุบายที่ต้องทำงานหนัก ต้องเหนื่อยจริงๆ หนักมาก เขียนทุกวัน แล้วแกลเลอรี่ก็ยังไม่รู้ว่าอาจารย์ทำจริง ยังพึมพำกับตัวเองเลยว่า โอ้โห นี่มันเล่นหนักนะเนี่ย เล่นตัวเองหนักไปหน่อย อุบายนี่ (หัวเราะ)”

“แล้วตอนนี้แกลเลอรี่ก็เริ่มรู้สัญญาณแล้วเพราะว่ามันมาครึ่งเล่ม คือเขาเริ่มรู้ว่า เอาจริงแล้วนี่หว่า (หัวเราะ) แกลเลอรี่ก็ต้องถกกัน ว่าหน้าตาหนังสือจะเป็นยังไง ซึ่งสนุกมาก ซึ่งอาจารย์เพิ่งคิดออกตอนมาคุยกันกับคนที่จะมาทำหนังสือ ว่าเป็นไปได้ไหมที่เนื้อหาตัวหนังสือมันจะละลายเข้าไปในรูปแล้วรูปมันก็เจือตัวหนังสือ จะโดยการวางหน้า หรือการจัดวางมันจะไหลไปหากัน ไม่ได้อยู่แบบแยกส่วนกัน ไม่หันหลังให้กัน ก็เหมือนกับชีวิตกับศิลปะอย่างนั้นน่ะค่ะ ก็เป็นงานที่ท้าทายดี เพราะว่าเราไม่เคยที่จะเอามาไว้ในสถานการณ์แบบนี้ พิมพ์หนังสือมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สนุกน่ะ สนุก สนุกอย่างไม่ได้ตั้งใจ”

ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ หนังสือ “ผุดเกิดมาลาร่ำ” ของอารยา ที่เปิดตัวไปในวันที่ 18 มกราคม 2018 ที่ผ่านมานั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว ผลงานศิลปะ งานเขียน หรือแม้แต่การสอนของอารยานั้นเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่า ในฐานะศิลปิน นักเขียน อาจารย์ ผู้หญิง และถึงที่สุดแล้ว มนุษย์คนหนึ่ง งานศิลปะ, งานเขียน และชีวิตจริงนั้น ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง

น่าเสียดายที่นิทรรศการ “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” จัดแสดงไปตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2017 – 14 มกราคม 2018 กว่าบทความนี้จะวางแผง นิทรรศการนี้ก็คงจบไปแล้ว

แต่ถ้าใครสนใจจะซื้อหาหนังสือ “ผุดเกิดมาลาร่ำ” ของอารยา ก็สามารถไปซื้อหากันได้ที่ หอศิลป์ 100 ต้นสน (100 Tonson Gallery) ซอยต้นสน, ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม

หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2010-5813 หรืออีเมล [email protected] กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพจาก หอศิลป์ 100 ต้นสน (ภาพถ่ายนิทรรศการบางส่วนโดย อักษร สุดเสนาะ)