ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
เมื่อปีก่อน พาไปมองโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กำลังวางแผน กำลังก่อสร้าง เพิ่งเปิดดำเนินการ และให้บริการมานานหลายปีแล้ว
มาถึงปีนี้ จะพาไปมองรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่มีชื่อน่ารักว่า น้องเก๊กฮวย เป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าตลอดเส้นทาง ตั้งแต่สถานีสำโรง ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถบีทีเอส ไปจนถึงลาดพร้าว ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟสายสีน้ำเงิน
รถไฟฟ้าสายนี้ เป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับรางเดี่ยว Straddle Monorail โดยตัวขบวนรถจะคร่อมราง ที่ต้องยกระดับสูงมาก เพื่อให้พ้นเหนือทางด่วน ทางยกระดับ และทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่อยู่เหนือผิวจราจรปกติอยู่แล้ว
ตัวรถไฟฟ้าจึงเป็นแบบเบา Light rail ซึ่งต่างไปจากรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่เป็นแบบหนัก Heavy rail แต่ก็พิเศษและทันสมัยกว่า คือ ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ไร้คนขับ คล้ายกับสายสีทอง และสีชมพู
ด้วยความทันสมัย รูปแบบของรถ และความสูงของราง ทำให้รถที่วิ่งนั้นมีอาการแกว่งบ้างเล็กน้อย เมื่อรวมกับข่าวยางล้อรถไฟหลุด หล่นใส่รถแท็กซี่ด้านล่าง เลยทำให้ผู้โดยสารที่จำนวนยังไม่มาก มีอาการเกร็งบ้างระหว่างเดินทาง
แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ จะเริ่มจากถนนเทพารักษ์ สำโรง เลี้ยวเข้าถนนศรีนครินทร์ จนถึงลำสาลี เลี้ยวอีกที เข้าถนนลาดพร้าว จนถึงแยกรัชดาลาดพร้าว
ที่น่าสนใจคงจะเป็นชื่อสถานี ที่ใช้วิธีเดียวกับทางแยกบนถนนทั่วไป ย่อคำสำคัญให้รู้ เช่น สี่แยก รัช (ดาภิเษก-พหล) โยธิน ดังนั้น ช่วงที่วิ่งตามถนนศรีนครินทร์ ชื่อสถานีจะมีคำว่า ศรี นำหน้า ได้แก่ ศรีเทพา (รักษ์) ศรีด่าน (สำโรง) ศรีแบริ่ง ศรีลาซาล ศรี (วัดศรี) เอี่ยม ศรีอุดม (สุข) ศรี (อ่อน) นุช และศรี (กรุงเทพ) กรีฑา การเรียกขานนามสถานีแบบนี้ ทำให้ผู้โดยสารรู้ได้ถึงตำแหน่ง และจดจำสถานีได้ง่าย
เสียดายว่า ไม่ได้ใช้วิธีนี้กับช่วงถนนเทพารักษ์ เลยมีแค่ สถานีทิพวัล ไม่ใช่ เทพทิพวัล ส่วนช่วงถนนลาดพร้าวนั้น ถ้าใช้วิธีเดียวกัน อาจยากและแปลก เพราะกลายเป็น ลาดมหาดไทย ลาดโชคชัย สี่ หรือ ลาด (บาง) กะปิ
ถ้าเทียบกับสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน ที่วิ่งผ่านพื้นที่การใช้ที่ดินหนาแน่น มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารสูง แต่สำหรับสายน้องเก๊กฮวย อยู่นอกเมือง การใช้พื้นที่ยังไม่มาก มีแต่อาคารพาณิชย์รุ่นเก่าริมถนน และโครงการบ้านจัดสรรเป็นส่วนใหญ่
ตามเส้นทางและรอบๆ สถานี จึงยังพอมีที่ว่าง ที่ดินที่ราคายังไม่สูงมาก พอจะพัฒนาให้เป็นคอนโดมิเนียมไฮไรซ์สูง หรือโลว์ไรซ์แปดชั้น รวมทั้งโฮมออฟฟิศ
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถควบคุมราคาค่าโดยสาร หรือการใช้ตั๋วร่วม ตั๋วรายอาทิตย์ ตั๋วรายเดือน ทำให้ค่าเดินทางลดลง ก็จะกลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ ที่ห่างจากย่านเดิมแค่ไม่กี่สถานี
คงต้องตั้งความหวังให้รัฐบาลทำสำเร็จตามนโยบายที่ประกาศ เพราะถ้าคนในกรุงเทพฯ เปลี่ยนวิถีการเดินทาง จากรถยนต์หรือรถตู้ มาเป็นรถไฟฟ้า ก็จะส่งผลถึงการจราจรบนถนนติดขัดน้อยลง มลภาวะต่างๆ ลดลง จนถึงค่ารักษาโรคเครียดลดลง •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022