APT. เพลงเคป๊อป ที่สะท้อนวัฒนธรรมการดื่ม ในสังคมเกาหลี

ในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา APT. ซิงเกิลในฐานะศิลปินเดี่ยวเพลงแรกในรอบ 3 ปีต่อจากเพลง R ของ โรเซ่ (Roé) สมาชิกสาวแห่งวง Blackpink ที่ได้ป๊อปสตาร์ระดับแถวหน้าของโลกอย่าง บรูโน่ มาร์ส มาร่วมฟีเจอริ่งด้วยสามารถสร้างสถิติใหม่ที่ไม่ธรรมดาขึ้นมาได้ หลังจากที่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้มีผู้รับชมบน YouTube ทะลุหลัก 200 ล้านวิวภายในระยะเวลาเพียง 11 วันเท่านั้น

ที่ว่าไม่ธรรมดาจนกล่าวได้ว่าเป็นสถิติที่สุดยอดก็คือเอ็มวีเพลง APT. ของโรเซ่ สามารถทำลายสถิติเอ็มวีเพลง LALISA ของลิซ่า เพื่อนร่วมวงที่ใช้เวลา 13 วันถึงจะมียอดวิว 200 ล้านครั้งได้

ส่งผลให้โรเซ่เป็นศิลปินหญิงเดี่ยวคนแรกในประวัติศาสตร์วงการเพลงเคป๊อปที่มีผู้ชมเอ็มวีถึงหลัก 200 ล้านครั้งได้เร็วที่สุด

APT. เป็นซิงเกิลแรกจาก Rosie เดบิวต์สตูดิโออัลบั้มชุดแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวของโรเซ่ ที่จะวางจำหน่ายในวันที่ 6 ธันวาคมนี้กับทางสังกัด The Black Label และ Atlantic Records

และถึงแม้ว่า Blackpink จะหยุดพักการทำเพลงและทำกิจกรรมในเวลานี้ แต่สมาชิกในวงอย่างลิซ่า ก็ปล่อยเพลงฮิตในฐานะศิลปินเดี่ยวออกมา 3 เพลงอย่าง Rockstar, New Woman (ฟีเจอริ่งนักร้องสาวชาวสเปน Rosal?a) และ Moonlit Floor

เพลงแรกเป็นแนว Hyperpop และ Hip Hop สุดล้ำ เพลงที่ 2 เป็นแนวอิเล็กทรอนิกส์/ป๊อป และเพลงที่ 3 เป็นแนวแดนซ์/ป๊อปที่มีกลิ่นอายของดนตรีดิสโก้

ด้านเจนนี่ ปล่อยเพลง Mantra ที่ได้รับอิทธิพลดนตรีแนว UK Garage และ 2-Step ซึ่งเป็นดนตรีเต้นรำสำเนียงอังกฤษที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงกลางยุค 90

ส่วนจีซู ยังไม่มีผลงานเพลงเดี่ยวเพลงใหม่ของตัวเองออกมา

เกม Apateu

แต่ละเพลงที่กล่าวมาได้โปรดิวเซอร์ระดับโลกของวงการเพลงป๊อปมาร่วมสร้างสรรค์ทั้งสิ้น จนอาจจะกล่าวได้ว่าทุกเพลงสามารถทำนายตำแหน่งแห่งหนของดนตรีป๊อปในอนาคตอันใกล้นี้ว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน นี่คือเทรนด์ของดนตรีป๊อปยุคใหม่โดยแท้

แต่สำหรับเพลง APT. แล้ว เห็นได้ชัดว่าเพลงเพลงนี้ของโรเซ่ มีแนวทางที่แตกต่างไปจากเพลงของเพื่อนร่วมวงอย่างเห็นได้ชัด

ในขณะที่แต่ละคนทำเพลงป๊อปที่เน้นเสียงสังเคราะห์สุดหวือหวาและเป็นเพลงแดนซ์ชวนเต้น

แต่ APT. กลับเป็นเพลงในแนวป๊อปร็อกที่หากลงลึกไปอีก นี่คือเพลงป๊อปพังก์ร่วมสมัย

นอกจากนี้ ก็ยังมีสีสันของดนตรีอินดี้ร็อกไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์ร็อก ทั้งซาวด์และจังหวะสุดโจ๊ะสไตล์ฟังก์

แถมยังเริ่มเพลงด้วยท่อนแร็พในเพลงนี้สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนๆ ของโรเซ่เป็นอย่างมาก

เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเธอจะเลือกทำเพลงเดี่ยวในแนวนี้ออกมา

เรียกได้ว่าฉีกและสร้างความแตกต่างไปจากงานเพลงเดี่ยวของเพื่อนร่วมวง Blackpink ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในแบบคาดไม่ถึง

แถมเสียงร้องของโรเซ่ และ บรูโน่ มาร์ส ในเพลงเพลงนี้ก็เข้าล็อกลงตัวมีเคมีที่สอดผสานกันได้อย่างน่าฟัง

ส่วนท่อนฮุกแค่ฟังครั้งเดียวก็ติดหูทันที เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่ใครได้ฟังก็ชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง ไล่ไปตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงผู้ใหญ่วัยกลางคนเลยทีเดียว

หน้าปกเพลง APT.

APT. ย่อมาจาก Apateu (อพาร์ถึ) ในภาษาเกาหลีแปลว่า “อพาร์ตเมนต์” ที่ใช้เป็นชื่อเรียกเกมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหนุ่มสาววัยรุ่นในเกาหลีใต้

วิธีการเล่นก็คือ ให้ทุกคนคว่ำมือแล้วสลับซ้ายขวาไปมาพร้อมพูดคำว่า “อพาร์ถึๆๆ” ไปเรื่อยๆ มีการกำหนดให้หนึ่งคนในกลุ่มพูดตัวเลขขึ้นมา (ในคลิปสอนเล่นเกม โรเซ่พูดเลข 5) พอพูดเสร็จก็ให้ทุกคนรีบวางมือมาทับกันเอาไว้จนสูงดูคล้ายอพาร์ตเมนต์ แล้วให้คนที่มืออยู่ล่างสุดและต่อๆ มาเอามือมาวางไว้บนมือของเพื่อนที่อยู่บนสุดแล้วนับตัวเลข 1, 2, 3 ไปจนถึงเลข 5 มือใครที่อยู่ตรงกับเลขที่เพื่อนพูดไว้ในตอนแรกก็จะต้องเป็นคนดื่มเครื่องดื่ม

เกมนี้เป็นเกมที่แทบจะไม่มีใครไม่เมา พอเล่นไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้นนับเลขไม่ถูก

โรเซ่เผยว่า Apateu เป็นเกมที่เธอและเพื่อนๆ มักจะเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนานเวลาเธอกลับบ้าน มันเป็นเกมที่ง่าย, เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้เสมอ

เป็นเกมที่เหมาะสำหรับการละลายพฤติกรรมสำหรับเพื่อนใหม่และสร้างความเฮฮาในกลุ่มเพื่อนซี้

ในช่วงที่โรเซ่อยู่ในสตูดิโอ เธอสอนให้ทีมงานเล่มเกมนี้และทุกคนหลงรักมัน โดยเฉพาะเวลาที่เธอร้องคำว่า Apateu เป็นทำนองเพลง โรเซ่ตัดสินใจที่จะนำเกมนี้มาแต่งเป็นเนื้อเพลง แถมยังได้ บรูโน่ มาร์ส มาร่วมม่วนจอยในเกมๆ นี้ในแบบที่เจ้าตัวก็ยังไม่คาดคิดมาก่อนอีกด้วย

นี่คือที่มาของเพลง APT. ที่โรเซ่บอกว่ามันได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเธอจริงๆ

 

APT. เป็นเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ชาวเกาหลีมีต่อ “วัฒนธรรมการดื่ม” ที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

ชาวเกาหลีมักจะออกไปสังสรรค์กินดื่มกับเพื่อนฝูงนอกบ้านมากกว่าที่จะดื่มคนเดียว

การเคารพผู้อาวุโสกว่าผ่านวัฒนธรรมการดื่มก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้ที่มีอายุน้อยจะใช้มือทั้งสองข้างรินเหล้าและจับแก้ว (มือซ้ายรองก้นแก้วไว้ ส่วนมือขวาใช้จับแก้ว) ทั้งในกรณีให้หรือรับแก้วจากผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า

ผู้ใหญ่จะต้องเป็นฝ่ายดื่มก่อนเสมอ และถือเป็นเรื่องเสียมารยาทถ้าหากผู้มีอายุน้อยปล่อยให้แก้วว่างเปล่าไร้ซึ่งน้ำเมา

ชาวเกาหลีค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจับคู่อาหารกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีคำเรียกเฉพาะว่า ANJU (안주) อย่างเช่น เนื้อหมู, ไก่รสชาติจัดจ้าน, ซาชิมิ มักจะกินพร้อมกับโซจู พิซซ่า, ไก่ที่ไม่เผ็ดมักจะกินคู่กับเบียร์

ส่วนพาจอนหรือแพนเค้กแบบเกาหลีจะกินคู่กับมักกอลลีซึ่งเป็นสาโทพื้นเมืองที่ทำจากข้าวหมัก

วัฒนธรรมการดื่มของชาวเกาหลีมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งทั้งในเรื่องโครงสร้างทางสังคม, ไลฟ์สไตล์ไปจนถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่น อย่างเช่น ชาวนามักจะหมักเหล้ามักกอลลีเพื่อดื่มฉลองหลังจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ ผู้อาวุโสในครอบครัวจะดื่มโซจูเพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและวิญญาณที่ไม่ดีออกจากบ้าน

คำว่า “โซจู” มีความหมายว่า “ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ” ซึ่งสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ และในวันแรกของปีที่พระจันทร์เต็มดวงตามปฏิทินจันทรคติชาวเกาหลีจะร่วมงานฉลองเทศกาลแดโบรึมด้วยการชมพระจันทร์ การเฉลิมฉลองนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย

เด็กเล็กที่ยังดื่มไม่ได้จะใช้ปากแตะแก้วเหล้า หลังจากนั้นจะรินสุราลงไปในตะเกียงน้ำมัน ตามความเชื่อโบราณที่ว่าจะเป็นการช่วยปัดเป่าอาการเจ็บป่วยของเด็ก

ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้ในพิธีนี้มีชื่อเรียกเฉพาะตามแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ต่างๆ

 

วัฒนธรรม, ความเชื่อและมารยาทในการดื่มของชาวเกาหลีเริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยมารยาทในการดื่มของชาวเกาหลีมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ฮยางอึมจูรเย” (향음주례) ซึ่งมีแบบแผนจำเพาะให้เรียนรู้และศึกษามากมาย

โดยในเมืองชอนจูมีพิพิธภัณฑ์สุราดั้งเดิมและสุราพื้นถิ่นของเกาหลีเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รู้จักกับประวัติศาสตร์สุราชนิดต่างๆ ของเกาหลีและมีการเปิดสอนวิธีการทำสุราแต่ละประเภทด้วย

ในเกาหลีใต้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นเรื่องปกติ ดารานักแสดงหรือว่าไอดอลวัยรุ่นที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถดื่มสุราได้อย่างเปิดเผย นักแสดงและนักร้องที่มีชื่อเสียงมากๆ มักจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโซจูแบรนด์ดัง

ในภาพยนตร์หรือว่าซีรีส์เกาหลีมีฉากการดื่มโซจูทุกเรื่อง ถึงแม้ว่าในช่วงหลังๆ มานี้ภาครัฐของเกาหลีใต้จะพยายามลดการนำเสนอวัฒนธรรมการดื่มผ่านสื่อแต่ก็ไม่ค่อยได้ผลนัก

ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมการดื่มนี้แข็งแรงแค่ไหนในสังคมเกาหลี

 

เพลง APT. ของโรเซ่ที่มีเนื้อเพลงพูดถึงเกมการดื่มที่ได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่นสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดื่มผ่านดนตรีเคป๊อปได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาของเพลงบางท่อนอย่างเช่น “Don’t you need me like I need you now?” อาจจะไม่ได้หมายถึงความรักของคนหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว เพราะมีการตีความว่ามันอาจหมายถึงความกระหายในการดื่มของวัยรุ่นเกาหลี

ส่วนท่อนที่ บรูโน่ มาร์ส ร้อง กล่าวถึงปาร์ตี้และการดื่มอย่างตรงไปตรงมา และมีการใช้คำว่า “คอมเบ” (건배) ซึ่งแปลว่า “ชนแก้ว” ด้วย

มาถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่เพลง APT. อย่างเดียวเท่านั้นที่โด่งดังไปทั่วโลก

แต่เกมการดื่ม Apateu ที่ถูกเล่าผ่านเพลงนี้ก็น่าจะกำลังได้รับความนิยมสำหรับนักดื่มไปทั่วทุกภูมิภาคบนโลกใบนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย