ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | มงคล วัชรางค์กุล |
เผยแพร่ |
เช้าตรู่ ตี 5.45 น. ของวันเสาร์ 26 ตุลาคม 2567 ผมขับรถออกจากบ้านเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย ไปจอดทิ้งไว้ที่ลานจอดรถศูนย์การค้า Fairground Square Mall บนถนน 5th Ave เมืองเรดดิ้ง แล้วขึ้นรถบัสมุ่งสู่นครนิวยอร์ก
อากาศเช้าตรู่นั้นหนาวเย็นจับใจอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส ระหว่างทางเห็นใบไม้แต่งตัวให้เฉดสีแดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำตาล บ่งบอกการมาเยือนของฤดูใบไม้ร่วงในสายหมอกยามเช้า
ยอดตึกของนครนิวยอร์กเสียดแทงท้องฟ้าสีฟ้า โดยเฉพาะยอดปลายแหลมของตึกเอ็มไพร์สเตตอันเป็นสัญลักษณ์ของนครนิวยอร์ก แลเด่นเป็นสง่า
นั่งมา 3 ชั่วโมง 15 นาที รถบัสลอดใต้อุโมงค์ Lincoln Tunnel แล้วมาจอดส่งคนโดยสารที่ Hudson Yards – 11th Ave W 35th St มองเห็นแม่น้ำฮัดสันที่ปลายถนน 35th St
ผมรีบย่ำเท้าสู่สถานีใต้ดิน 34th St-Hudson ที่ห่างออกไปแค่บล็อกเดียว เพื่อขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 7 สู่จุดหมาย มาค้นพบตอนขากลับว่า ที่ถนน 35th St ก็มีทางขึ้นลง Subway เช่นกัน ไม่ต้องเดินต่อไปอีกหนึ่งถนน
เดี๋ยวนี้การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องหยอดตู้ซื้อตั๋วเหมือนสมัยก่อน ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแตะที่ประตูก็เข้าสู่ภายในสถานีได้เลย จะโดนชาร์ตค่าโดยสารแค่ครั้งละ 2.50 ดอลลาร์ จะนั่งกี่ต่อ ไกลแค่ไหน ก็เสียค่าโดยสารเท่านี้
รถไฟใต้ดินสาย 7 และสายอื่นในนิวยอร์กสะอาดมาก วันนั้นที่สังเกตเห็นสะอาดระดับลงไปนอนบนพื้นรถได้เลย
ที่เขียนโพสต์กันในเมืองไทยว่ารถใต้ดินในนครนิวยอร์กสกปรกนั้น ล้วนมาจากคนที่ไม่เคยขึ้นรถใต้ดินนิวยอร์กทั้งนั้น
รถใต้ดินสาย 7 เริ่มต้นทางจากสถานีถนน 34th St ผมนั่งไป 11 ป้าย ไปลงที่สถานีถนน 52th St เดินอีก 3-4 บล็อก สู่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งรัฐนิวยอร์ก ณ P.S.11 – The Kathryn M. Phelan School, 54-25 Skillman Ave, Woodside, NY 11377
อันเป็นสถานที่ทอดกฐินพระราชทานของวัดอุษาพุฒยาราม นครนิวยอร์ก
โดยมีพระสุธรรม ฐิตธัมโม ผู้ดูแลวัดอุษาพุฒยารามเป็นเจ้าพิธี
วัดอุษาพุฒยาราม เป็นวัดไทยแห่งแรกในมหานครนิวยอร์ก ตัวอาคารเป็นทาว์นเฮาส์ 2 หลังติดกัน ตั้งเป็นวัดมา 59 ปีแล้ว คือเมื่อปี 1965 และเป็นวัดไทยแห่งที่สามในอเมริกา
ตอนที่พระสุธรรมมาที่นี่เมื่อ 4 ปีที่แล้วนั้น วัดอุษาฯ มีสภาพเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ ญาติโยมจึงนิมนต์ให้พระสุธรรมอยู่ประจำเพื่อดูแลวัดอุษาพุฒยารามแห่งนี้
เริ่มแรกที่เห็นขณะนั้น วัดอุษาพุฒยารามชำรุดทรุดโทรมเป็นที่สุด มีขยะมากมายเต็มวัด มีน้ำเน่าในเบสเมนต์ หนูวิ่งกันยั้วเยี้ย
พระสุธรรมติดต่อคนเก็บขยะเทศบาลมาเก็บ เอาคอนเทนเนอร์ขยะมาวางเพื่อเอารถมาบรรทุก เอาคนมาขน ประเมินราคาค่าขนขยะหลายหมื่นเหรียญ แต่เมื่อมาเห็นสภาพน้ำเน่าในเบสเมนต์ เขาบอกเลิก ไม่ยอมขนขยะ
น้ำเน่าในเบสเมนต์เหม็นยิ่งกว่าในสลัมคลองเตย ฝรั่งไม่กล้าลงไปในเบสเมนต์
พรรษานั้น พระสุธรรมกับพระอื่นรวม 4 รูปช่วยกันขนขยะทั้งพรรษา ใช้วิธีใส่แมสหลายชั้น พอสิ้นวัน เลิกขนขยะ แมสหลายชั้นดำปี๋ แม้แต่น้ำลายยังสีดำ
รวมขนขยะออกไปหลายร้อยถุง
ในระหว่างเวลานั้น มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งไม่มีที่อยู่ มาขออาศัยอยู่ในวัด เจ้าอาวาสรูปก่อนใจดีให้อาศัยอยู่ อยู่มานานเป็น 10 ปีจนทำตัวเป็นเจ้าของวัด ไม่ได้ทำมาหากินอะไร นอกจากเอาชื่อวัดไปใช้เรี่ยไร เอาเงินเข้ากระเป๋า ทุกวันนี้อาศัยกินข้าววัด วัดอุษาฯ กำลังฟ้องขับไล่
ศาลนิวยอร์กจะตัดสินให้ออกไปวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
พระสุธรรมปรับปรุงวัดอุษาพุฒยารามจนกลับคืนในสภาพสมบูรณ์ แล้วในพรรษาที่สี่ วัดนี้ก็ได้ยื่นขอผ้ากฐินพระราชทานตามขั้นตอนผ่านสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก
ผ้ากฐินพระราชทานจึงได้มาทอดที่วัดอุษาพุฒยาราม วัดที่ “จน” ที่สุดในนครนิวยอร์ก เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 เป็นผ้ากฐินพระราชทานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวัดอุษาพุฒยารามแห่งนี้
โดยประธานกฐิน คือ นางสุพรรณี กันทะณีย์ ผู้หญิงไทยธรรมดาแห่งนครนิวยอร์ก ที่ทำบุญ ณ วัดอุษาพุฒยารามเป็นประจำสม่ำเสมอ
ในโอกาสมหามงคลที่วัดอุษาพุฒยารามได้รับผ้ากฐินพระราชทานในปีนี้ นายเอลี อาดิ เอริก อดัมส์ นายกเทศมนตรีแห่งมหานครนิวยอร์ก ได้ออกประกาศเกียรติคุณแก่วัดอุษาพุฒยาราม ในฐานะวัดไทยแห่งแรกที่มีบทบาทต่อชุมชนไทยในมหานครนิวยอร์ก
เพื่อเป็นกำลังใจแก่คณะพระสงฆ์ และคณะศรัทธา ในการฟื้นฟูวัดให้กลับมาเป็นที่พึ่งทางใจได้สืบไป
ผมมาถึงศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่อยู่ในอาคารเดียวกับ P.S. 11 โรงเรียน Public School หมายเลข 11 แห่งนครนิวยอร์ก บริเวณนี้คือเขต Queen ตอนนั้น 10 โมงเช้าพอดี
มีโต๊ะต้อนรับอยู่หน้างาน สุภาพสตรี 4 ท่านในชุดไทยงดงามคอยต้อนรับ มีที่ลงทะเบียนทำบุญ มีต้นผ้าป่า 2 ต้นอยู่ที่หน้างาน
ลงไปที่ชั้นล่างบริเวณห้องอาหาร วงดนตรีเด็กไทยกำลังตั้งวง ชื่อวง “มรดกใหม่ (MORADOK – MAI)” เป็นวงดนตรีและนักแสดงของ “ครูช่าง” ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ ที่กำลังตระเวนแสดงในสหรัฐอเมริกา
ส่วนข้าวปลาอาหารของผู้คนที่จัดมาออกโรงทานกำลังเริ่มจัดที่เป็นแถวยาวเหยียด
ย้อนขึ้นมายังห้องประชุมสถานที่จัดทอดกฐิน ทุกอย่างเตรียมพร้อม ผ้ากฐินพระราชทานประดิษฐานบนพานหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 มีกรวย เครื่องบูชาครบถ้วนตามราชประเพณี
พระสงฆ์ 9 รูปเตรียมพร้อมทำพิธี นอกจากพระสุธรรม ฐิติธัมโม ผู้ดูแลวัดอุษาฯ แล้ว มีเจ้าคุณวิจิตรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดฟลอริดาธรรมาราม ประธานสงฆ์ไทยฝ่ายธรรมยุติในสหรัฐอเมริกา มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับพระวัดอุษาฯ 5 รูป และพระจากวัดพุทธไทยถาวร นครนิวยอร์กอีก 2 รูป รวมพระสงฆ์ 9 รูป
10 โมง 30 นาที เริ่มประกอบพิธี พระสงฆ์ 9 รูปเดินบิณฑบาตในห้องอาหาร ญาติโยมตั้งแถวตักบาตรด้วยการใส่ข้าวอย่างเดียว ไม่ใส่อาหารหรือน้ำลงในบาตร
เสร็จแล้วพระสงฆ์เข้านั่งประจำที่ สวดมนต์ให้ศีล ให้พร ถวายอาหารให้พระสงฆ์ ญาติโยมกินอาหารร่วมกัน
กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก คุณสมใจ ตะเภาพงษ์พร้อมข้าราชการสถานกงสุลร่วมในพิธี
เป็นที่ปลื้มใจที่จะเล่าว่าซุ้มอาหารโรงทานในงานทอดกฐินนี้มีถึง 40 ซุ้ม ยาวเหยียดสุดสายตา ล้วนอาหารคาว หวานเลื่องชื่อแทบทุกชนิดของเมืองไทย ยกมาไว้ที่งานกฐินพระราชทานนี้
เท่าที่พอจะจำได้เช่น ขาหมู ไข่พะโล้ แกงเหลือง แกงไตปลา ได้กินแกงใต้ใส่สะตอจากงานนี้ แกงลูกชิ้น แกงเขียวหวานไก่ หมี่กรอบ ผัดมาม่า ขนมจีนน้ำยา ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น ส้มตำหลายถาด ฯลฯ
ของหวานมากันหลายขนาน พวกรวมมิตร ขนมใส่น้ำหวาน คนต่อคิวรอกันยาว รวมทั้งผลไม้ต่างๆ
ผมนั่งกินอยู่ใกล้โต๊ะฉันพระ พระสุธรรมเรียกไปรับขนมยกมาให้หลายจาน มีสาคูไส้หมู ขนมชั้น ขนมเทียน ขนมเม็ดขนุน พร้อมก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นอีกหนึ่งถ้วย ท่านบอกว่า “ฝากให้พี่หมอแมว”
อร่อยของหวานจากโต๊ะฉันพระไปหลายวัน
ระหว่างพระฉัน ญาติโยมนั่งกินข้าว วงดนตรีเยาวชน ” มรดก-ใหม่ ” เริ่มบรรเลง สลับกับการรำอวยพรที่สวยงาม เช่น รำชาวเผ่าไทยภาคเหนือ
ช่วงท้ายดนตรีทำเพลงสนุกสนาน หญิงสาวหลายคนจากซุ้มอาหารออกมาเต้นบนเวที รื่นเริงชื่นมื่น
พระสุธรรมประเมินว่า มีคนมาร่วมงานทอดกฐินราว 300-400 คน 90% เป็นคนไทยในรัฐนิวยอร์ก นอกจากนั้น มาจากรัฐใกล้เคียงคือ รัฐนิวเจอร์ซีย์ มีหนึ่งคนมาจากรัฐเพนซิลเวเนีย คือตัวผมเอง
คนสำคัญร่วมทอดกฐินที่ขอบันทึกไว้คือ คุณสุจิตรา ปาลีวงศ์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งรัฐนิวยอร์ก, ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุนแห่งนครนิวยอร์ก คุณนันทพล สุดบรรทัด เป็นต้น
กินอาหารเสร็จ ขบวนกลองยาวนำแห่กฐิน สุภาพสตรีหลายท่านร่วมรำ หญิงสาวหลายคนถือผ้าไตร สุภาพสตรีทุกคนอยู่ในชุดไทยงดงาม แห่แหนจากหน้าทางเข้าด้านห้องอาหาร แห่ไปตามถนนสู่ทางเข้าหอประชุมที่อยู่อีกมุมหนึ่งของอาคาร
พระสงฆ์ 9 รูปขึ้นนั่งบนเวที เริ่มพิธี เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี
คุณสุพรรณี กันทะณีย์ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานส่งไปวางหน้าคณะสงฆ์
กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก คุณสมใจ ตะเภาพงศ์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
คณะสงฆ์พิจารณาผ้าพระกฐินพระราชทานแล้วมีมติมอบให้พระสุธรรม เป็นผู้ครองผ้ากฐินพระราชทาน
จากนั้น ญาติโยมทยอยทอดผ้าไตรมอบให้พระสงฆ์ โดยไม่มีการเจาะจงว่าจะต้องทำบุญคนละเท่าไร อย่างไร
ทำพิธีถวายผ้าป่า
พระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธีทอดผ้ากฐินพระราชทาน
รวมได้เงินทำบุญทอดกฐินพระราชทาน 34,000 เหรียญสหรัฐ
(น้อยที่สุดในการทอดกฐินของวัดไทยในนิวยอร์ก วัดอื่นได้เงินทำบุญเป็นแสนเหรียญ)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022