ทำไมนักกีฬาถึงมีจิตกุศล

พิศณุ นิลกลัด

นักกีฬาระดับโลกหลายคนมักทำกิจกรรมเพื่อการกุศล หรือตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนที่มีชีวิตลำบากยากไร้ ขาดแคลนโอกาสอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง การศึกษา และปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

อดีตนักฟุตบอลอย่างเดวิด เบ็กแฮม และดิดิเยร์ ดร็อกบา เป็นสองนักกีฬาที่ร่วมกิจกรรมเพื่อการกุศลอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กในทวีปแอฟริกา

เบ็กแคมทำงานเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มาตั้งแต่ปี 2005 สมัยที่ยังเล่นให้กับทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ส่วนดิดิเยร์ ดร็อกบา อดีตยอดกองหน้าของทีมเชลซี ได้ก่อตั้งมูลนิธิของตัวเองชื่อ Didier Drogba Foundation ตั้งแต่ปี 2007 เพื่อช่วยเหลือชาวแอฟริกันโดยเฉพาะเด็กๆ ทั้งในด้านสุขภาพและการศึกษา

และในปีเดียวกันเขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)

 

สมัยนี้เราจะเห็นนักกีฬาร่วมทำงานการกุศลอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเดินทางลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมด้วยตนเอง ถ่ายโฆษณารณรงค์ และบริจาคเงินให้แก่กองทุนที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้และประสบภัยต่างๆ

เรื่องเหล่านี้ทำให้หลายคนก็เกิดคำถามว่าทำไมนักกีฬาชื่อดังถึงมีจิตกุศลชอบช่วยเหลือผู้คนที่ยากไร้

บางคนสงสัยว่าทำไปเพียงเพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเองหรือเปล่าเพราะคนส่วนใหญ่มองนักกีฬาว่าเป็นอาชีพที่มีแต่คนคอยเอาอก เอาใจ และมีรายได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น

เจิ้น ชาง (Jen Shang) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ (Plymouth University) บอกว่า การที่นักกีฬาเข้าร่วมกิจกรรมการกุศลนั้นเกิดจากหลายเหตุผล และมักจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอง หรือชื่อเสียง ที่นักกีฬามักจะถูกคนมองว่าได้รับเกินความจำเป็น

เจิ้นบอกว่า ในช่วงแรกๆ ของการเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือการประกอบอาชีพอื่นๆ พวกเขาอาจจะใช้ปัจจัยภายนอก เช่น เงินทอง หรือชื่อเสียงเกียรติยศมาเป็นแรงกระตุ้น

แต่ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เมื่อพวกเขาได้รับทุกอย่างที่เคยอยากได้ พวกเขาก็จะเลิกหาปัจจัยภายนอกมาเป็นแรงกระตุ้น และหันมาให้ความสนใจกับความรู้สึกภายในแทน

นักกีฬาระดับท็อปอาจจะพูดกับตัวเองว่าตอนนี้ฉันประสบความสำเร็จในหน้าที่หลักของตัวเองมาพอสมควรแล้ว จึงต้องการจะหาทิศทางใหม่ให้กับตัวเอง และสนใจสิ่งที่เกิดในโลกภายนอกมากขึ้น

และเมื่อนักกีฬาได้เข้ามาสัมผัสกับกิจกรรมการกุศลต่างๆ ได้ทำให้ความฝันของคนอื่นเป็นจริง พวกเขาก็รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จสมัยที่ตัวเองก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาใหม่ๆ

เจิ้นเสริมว่า เหตุผลที่นักกีฬามอบเงินให้กับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รับประโยชน์อะไรทางวัตถุกลับมา ก็เพราะเงินเหล่านั้นช่วยสนองความต้องการบางอย่าง ซึ่งในนิยามของจิตวิทยา ความมีใจบุญสุนทาน ทำบุญช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แก่ผู้ที่ได้รับเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ทำบุญด้วย

 

จอห์น ฮัดสัน (John Hudson) ผู้อำนวยการฝ่ายความรับผิดชอบทางสังคม ของสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (PFA หรือThe Professional Footballers’ Association) บอกว่าการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการกุศลนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้เล่นๆ แบบฉาบฉวย

จอห์นมักจะได้รับโทรศัพท์จากผู้จัดการของนักฟุตบอลหลายๆ คนโทร.มาแจ้งว่า นักเตะในการดูแลของพวกเขาต้องการจัดตั้งมูลนิธิ

ซึ่งจอห์นก็ตอบไปว่าให้นักเตะโทรมาหาเขาโดยตรงเลย เขาจะเป็นคนอธิบายให้นักเตะฟังเองว่าสิ่งที่พวกเขาต้องทราบนั้นมีอะไรบ้าง เพราะนักเตะส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทราบว่าการจัดตั้งมูลนิธินั้นมีเงื่อนไขมากมาย ต้องมีการแต่งตั้งและกำหนดตำแหน่งกรรมการมูลนิธิ ปรึกษาหารือกัน เรื่องทรัพย์สินที่จะจัดตั้งมูลนิธิ จัดทำข้อบังคับของมูลนิธิ กำหนดที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิ และอื่นๆ

ซึ่งการลงมือทำอะไรแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับนักฟุตบอลทุกคนเสมอไป ถ้าหากนักฟุตบอลยืนยันที่จะเดินหน้ากับการก่อตั้งมูลนิธิของตัวเองต่อไป ทาง PFA ก็จะช่วยเหลือเรื่องการจัดหาทุนมาก่อตั้งมูลนิธิและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมาย

โดยจอห์นจะคอยแนะนำให้นักฟุตบอลซึ่งเป็นประธานมูลนิธิเฟ้นหาคนที่มีความสามารถเหมาะสมในการเข้าร่วมเป็นกรรมการในมูลนิธิ

และหลังจากก่อตั้งมูลนิธิสำเร็จแล้ว ก็ต้องรักษาความเคลื่อนไหวของมูลนิธิไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง

เพราะไม่มีอะไรแย่ไปกว่ามูลนิธิที่หยุดอยู่กับที่