ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (39)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

รัฐประหาร 2490 คือการปิดฉากชีวิตการเมืองอย่างเด็ดขาดของหลวงอดุลเดชจรัสที่ “ล้างมือ” อย่างถาวร แล้วเก็บตัวเงียบๆ อยู่ที่บ้านไม้หลังเล็กๆ ในวังปารุสกวัน โดยแทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับโลกภายนอก รวมทั้ง “แปลก” และ “อดุล”

น่าสนใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “แปลก-อดุล” ที่สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยในโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนกระทั่งร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหลังจากนั้นจึงย่อมมีทั้งความเป็นเพื่อนที่ถือว่าเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” และเรื่องของส่วนรวม “ราชการ”

แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ปรีดี-อดุล” ที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีแต่เรื่อง “ราชการ” เท่านั้น ไม่มีความเป็นเพื่อนในลักษณะ “ส่วนตัว” แต่อย่างใด

บัดนี้เมื่อ “อดุล” ล้างมือในอ่างทองคำแล้วจึงเหลือเพียง “ปรีดี-แปลก” เท่านั้นในสมการคุณธรรมน้ำมิตร

มิตรภาพ “ปรีดี-แปลก” เริ่มตั้งแต่ครั้งต่างเป็นนักเรียนไทยที่กรุงปารีส จึงอาจสรุปได้ว่ามีความเป็น “เพื่อน” อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งคู่ไม่เรียกชื่อจริงกัน ปรีดีเรียกแปลกว่า “กัปตัน” แปลกเรียกปรีดีว่า “อาจารย์” ครั้นเมื่อคบคิดร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงต้องเพิ่ม “ราชการ” เข้าไปด้วย มิตรภาพระหว่าง “ปรีดี- แปลก” จึงมีส่วนคล้ายกับ “แปลก-อดุล”

“แปลก-อดุล” แยกทางกันอย่างเด็ดขาดจากนั้นก็ “ต่างคนต่างอยู่” ในลักษณะ “ตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย”

ขณะที่มิตรภาพ “ปรีดี-แปลก” ยังมีเรื่องต้องติดตาม

 

รัฐประหาร 2490

ก่อนกลุ่มทหารบกจะลงมือก่อการรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และหลวงกาจสงคราม แกนนำคณะรัฐประหารได้ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้งเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมจนตกลงกันได้ แล้วนำไปสู่การเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ติดต่อกันถึง 9 วัน ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 มีการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุให้ประชาชนรับฟังทั่วทั้งประเทศ

การอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับข้อเท็จจริงของรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่บริหารราชการผิดพลาดหลายประการ ซึ่งนอกจากทำให้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสื่อมความนิยมลงแล้ว ยังส่งผลโดยตรงถึงคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย

กลางปี พ.ศ.2490 ปรากฏกระแสข่าวความพยายามก่อการรัฐประหารแพร่หลายไปทั่ว แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ยังคงมั่นใจในกองทัพเรือที่มีหลวงสินธุสงครามชัยเป็นผู้บัญชาการ ขณะที่กองทัพบกมีหลวงอดุลเดชจรัสเป็นผู้บัญชาการทหารบกและหลวงสังวรยุทธกิจก็เป็นอธิบดีกรมตำรวจ จนกระทั่งหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ตอบนักข่าวเมื่อถูกถามเรื่องการปฏิวัติว่า “นอนรอปฏิวัติมานานแล้ว ไม่เห็นปฏิวัติเสียที”

และเมื่อนายเอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทยได้พบปะสอบถามกรณีข่าวลือจะมีการรัฐประหาร ก็กล่าวตอบด้วยความเชื่อมั่นว่า “ผู้บัญชาการทหารบกและฝ่ายตำรวจอยู่กับข้าพเจ้า อีกทั้งข้าพเจ้ายังมีกองทัพเรืออยู่ในกระเป๋า”

 

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน มีการประชุมฝ่ายคณะราษฎรเป็นการภายในที่ทำเนียบท่าช้าง ระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก และหลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจ เรื่องการปรับปรุงรัฐบาล โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ต้องการลาออกในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้หลวงอดุลเดชจรัสเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมกองทัพบกได้ นอกจากนั้น ยังได้ตกลงเตรียมแผนจับกุมนายทหารที่วางแผนการรัฐประหารก่อนเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายนด้วย แต่ฝ่ายรัฐประหารชิงตัดหน้าลงมือยึดอำนาจเสียก่อนในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

ควรสังเกตว่า ไม่มีหลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือเข้าร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด

น่าสังเกตต่อไปด้วยว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร ฝ่ายกองทัพเรือ ทั้งหลวงสินธุสงครามชัย และหลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจ ต่างวางเฉย ขณะที่หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบกพยายามขัดขวางแต่ไม่เป็นผล

หลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจ กล่าวกับ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ที่เสนอรายงานให้จับกุมผู้ก่อการรัฐประหารว่า “คุณเฉียบอยู่สันติบาลก็รู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า ราษฎรไม่ชอบรัฐบาลหลวงธำรงฯ หนังสือพิมพ์ก็ด่าแม่อยู่เรื่อย ก็เมื่อราษฎรเขารังเกียจรัฐบาลนี้ว่าไม่ได้ความแล้ว เราจะสนับสนุนรัฐบาลนี้ต่อไปก็เป็นเรื่องไม่ถูก คุณอยู่สันติบาลก็ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่ามันเซ็งลี้กันนัก ให้ออกไปเสียก็ดี เราไม่เกี่ยวเพราะเราเป็นข้าราชการประจำ” (สุชิน ตันติกุล “รัฐประหาร พ.ศ.2490”)

การรัฐประหารจึงสำเร็จโดยง่าย

 

แผนการมหาชนรัฐ : รุกฆาต

คณะรัฐประหารมีแผนอย่างจริงจังที่จะจับกุม 3 คนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และหลวงสังวรยุทธกิจ แต่ไม่สำเร็จ กลุ่มที่ไปจับนายปรีดี พนมยงค์ ได้มีการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งเป็นอาวุธหนักยิงใส่ทำเนียบท่าช้าง แต่คณะรัฐประหารกลับแสดงออกต่อสาธารณชนว่า มิได้ต้องการติดตามจับกุมอย่างจริงจังแต่อย่างใด

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แถลงวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่าไม่ได้คิดติดตามผู้ที่หลบหนี

และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็แถลงว่า หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือได้เข้าพบและรายงานว่า นายปรีดี พนมยงค์ อยู่ที่กองทัพเรือ ซึ่งได้ตอบว่าไม่ต้องมารายงานตัว ให้พักผ่อนตามสบาย

นอกจากนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้แถลงต่อนักข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน หลังยอมรับเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารว่าจะไม่จับใคร และยังได้ออกประกาศห้ามให้ร้ายรัฐบาลชุดเก่าและเสรีไทยด้วย แถลงการณ์ของคณะรัฐประหารฉบับที่ 11 ก็อ้างว่า คณะทหารเองก็ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของเสรีไทย

ท่าทีของคณะรัฐประหารที่แสดงออกต่อประชาชนเช่นนี้สืบเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าล้วนแต่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันในนามคณะราษฎรทั้งสิ้น นอกจากนั้น ผลงานของเสรีไทยก็ยังอยู่ในความนิยมชื่นชอบของประชาชนและประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

 

แต่ปรากฏว่าหลังจากนายควง อภัยวงศ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากคำแถลงของหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ว่าได้ค้นพบ “แผนการมหาชนรัฐ” ที่ทำให้คณะรัฐประหารจำเป็นต้องชิงยึดอำนาจเสียก่อนเพื่อขัดขวางแผนร้ายนี้

คำแถลงนี้แม้หลวงกาจสงครามพยายามอธิบายเหตุผลเพื่ออ้างความจำเป็นที่คณะรัฐประหารต้องยึดอำนาจ แต่จะเป็นด้วยมีเจตนาปูทางของหลวงกาจสงคราม หรือเป็นการฉกฉวยโอกาสของนายควง อภัยวงศ์ ที่มีเงาทะมึนของฝ่ายอำนาจเก่าอยู่เบื้องหลังก็ตาม ในชั้นแรกนายควง อภัยวงศ์ ปฏิเสธคำแถลงของหลวงกาจสงครามว่าไม่น่าเชื่อถือ

แต่แล้วเพียงไม่กี่วันรัฐบาลกลับใช้คำแถลงเรื่องแผนการมหาชนรัฐเป็นเงื่อนไขในการโจมตีกล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ และผู้ใกล้ชิดรวมทั้งอดีตสมาชิกเสรีไทยด้วยข้อร้ายแรงต่างๆ จนเป็นผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศในที่สุด

เส้นทางมิตรภาพ “ปรีดี-แปลก” เริ่มแปลกแยกจนสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย ขณะที่หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ร่วมคบคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันตั้งแต่กรุงปารีส จะกลายเป็น “ความหวังใหม่” ของนายปรีดี พนมยงค์ แทน “กัปตัน” จอมพล ป.พิบูลสงคราม