ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
ในช่วงของการแข่งขันหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020 นั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้นชูคำขวัญหาเสียงที่มีพลังในหมู่ชาวอนุรักษนิยมอเมริกันว่า “America First” และ “Make America Great Again” ต้องยอมรับว่าเป็นคำขวัญที่โดนใจชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาต้องการให้รัฐบาลอเมริกันหันมาสนใจปัญหาในบ้าน มากกว่าไปยุ่งกับเรื่องภายนอก หรือโดยนัยคือ รัฐบาลอเมริกันควรให้ความสำคัญกับเรื่องของ “นโยบายภายใน” (domestic policy)
ดังนั้น การหาเสียงของผู้สมัครคือ โจ ไบเดน ในขณะนั้น เขาจึงต้องสร้างวาทกรรมเพื่อตอบโต้กับแนวคิดของทรัมป์ให้ได้ จึงเกิดสโลแกน “America is back.” ซึ่งเป็นความหวังว่า ชัยชนะของไบเดนจะเป็นโอกาสที่จะพาอเมริกาออกจากกระแสอนุรักษนิยม ที่ยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศแบบ “โดดเดี่ยวนิยม” (isolationism)
ฉะนั้น มรดกจากชัยชนะในการเป็นประธานาธิบดีของไบเดน จึงทิ้งมรดกสำคัญผ่านสโลแกน “American is back.” คือความพยายามที่จะทำให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามามีบทบาทในเวทีโลก ไม่ใช่แสดงบทบาทเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่ไม่รับผิดชอบด้วยการทิ้งเวทีโลก และดำเนินนโยบายแบบโดดเดี่ยว ที่ไม่ยุ่งกับใคร (คือเป็น non-interventionist policy)
แนวคิดทรัมป์
การแปรชุดความคิดทางการเมืองแบบประชานิยมปีกขวา ที่มีฐานคิดในเรื่องของชาตินิยมและการปกป้องทางการค้า ให้เป็นนโยบายต่างประเทศนั้น เห็นได้ชัดในแนวนโยบายของทรัมป์ ที่นำเสนอถึงแนวคิดทางการเมืองในแบบ “America First” ที่มีแนวคิดหลักในการถอยการมีบทบาทของสหรัฐออกจากเวทีการเมืองโลก เพราะถือว่าเรื่องภายในบ้านเป็นเรื่องหลัก และจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายภายในมาเป็นอันดับแรก ซึ่งว่าที่จริงแนวคิดของทรัมป์ดูจะไม่ต่างจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่อย่างใด
ดังจะเห็นได้จากการหาเสียงของประธานาธิบดีวิลสันในปี 1916 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกนั้น เขาได้นำเสนอแนวคิดว่าต้อง “อเมริกามาก่อน” (Putting America First) โดยต้องการให้สหรัฐดำรงความเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีสนามรบหลักอยู่ในภาคพื้นทวีปยุโรป ฉะนั้น แนวคิดเช่นนี้ก็คือ ความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งการเข้าไปมีบทบาทของสหรัฐในสงคราม ซึ่งถูกมองว่าสงครามเป็นเรื่องของรัฐมหาอำนาจยุโรป และสหรัฐไม่ควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ด้วยการดำเนินนโยบายแบบ “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
หากพิจารณาจากรากฐานของนโยบายต่างประเทศอเมริกันในยุคดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแนวคิดแบบ “อเมริกามาก่อน” นั้น วางอยู่บนแนวคิด 3 ส่วนที่สำคัญของนโยบายต่างประเทศ คือ
1) นโยบายที่อยู่บนแนวคิดไม่แทรกแซงนิยม (non-interventionism)
2) นโยบายที่วางอยู่กับแนวคิดแบบชาตินิยม (nationalism)
และ 3) นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่เน้นการปกป้องทางการค้า (protectionism)
แนวคิดของนโยบายแบบของประธานาธิบดีวิลสันนั้น ได้รับความนิยมจากผู้คนในสังคมอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างมาก และเป็นแนวคิดที่มีบทบาทในการสร้างมุมมองที่สำคัญในนโยบายต่างประเทศอเมริกัน สำหรับช่วงเวลาหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 (1918-1939) ซึ่งสังคมอเมริกันในยุคนั้นเชื่อว่า ความปลอดภัยของประเทศคือ สหรัฐจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนอกบ้าน โดยเฉพาะกับความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจในยุโรป เพราะปัญหาเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสหรัฐ… สหรัฐจึงควรสนใจกับเรื่องในบ้านเป็นสำคัญ
ชุดความคิดในแบบ “อเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีวิลสันเช่นนี้ ทำให้เกิดการตั้งองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความคิดดังกล่าว ได้แก่ “The America First Committee” องค์กรนี้แสดงบทบาทเป็น “กลุ่มกดดัน” (pressure group) ที่เรียกร้องและคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐ และดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลาง พร้อมกับเน้นในเรื่องชาตินิยม ในช่วงที่กลุ่มนี้ขึ้นสู่กระแสสูง กลุ่มมีสมาชิกมากถึง 8 แสนกว่าคน (หมายถึงสมาชิกขององค์กรที่จ่ายค่าสมาชิกภาพ) อันเป็นภาพสะท้อนสำคัญของกระแสความคิดที่เป็นมรดกสำคัญของยุควิลสันที่สืบทอดมาจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจต้องยอมรับว่ากระแสความคิดชุดนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมการเมืองอเมริกัน พร้อมกับมีนักการเมืองที่รับเอาความคิดนี้ มาเป็นนโยบายในการหาเสียงทั้งในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970
กระแสความคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” มาปรากฏชัดกับการเมืองอเมริกันอีกครั้งในการหาเสียงของชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 จนทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะ และดำรงตำแหน่งในช่วง 2017-2020 อันส่งผลให้นโยบายต่างประเทศอเมริกันในช่วงเวลานี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ การถอนตัวออกจากพันธะระหว่างประเทศ เช่น การถอนตัวจากองค์การและความตกลงระหว่างประเทศ และลดทอนความสำคัญของระบบพันธมิตรระหว่างประเทศ
ซึ่งเป็นรากฐานของนโยบายต่างประเทศอเมริกันมาอย่างยาวนาน
แนวคิดไบเดน
ทิศทางนโยบายต่างประเทศในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงทำให้เกิดวิจารณ์อย่างมากว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ “America First” แต่เป็น “America Alone” ในการดำเนินนโยบายในเวทีโลก ที่ไม่เอื้อต่อการเสริมสร้างสถานะในความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของสหรัฐ
ฉะนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนในปี 2020 ทำให้เขาต้องรับบทบาทในการแก้ปัญหาที่เป็น “มรดกบาป” จากยุคทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบายในแบบโดดเดี่ยวนิยม ละทิ้งความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณีของความสัมพันธ์กับเนโต้ (NATO) และพยายามใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นแรงขับเคลื่อนทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายต่อสู้กับจีนด้วย “สงครามการค้า” ซึ่งทำให้กระแสโลกถูกมองในทางทฤษฎีว่า เป็นการขยับจากภาวะ “เข้าสู่โลกาภิวัตน์” (Globalization) ไปสู่ “ถอยจากโลกาภิวัตน์” (Deglobalization)
เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมกับคำสัญญาในเชิงภาพลักษณ์ว่า สหรัฐจะกลับมา “นั่งที่หัวโต๊ะ” ของเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง (sit at the head of the table) อีกทั้งพยายามส่งสัญญาณให้แก่ชาติพันธมิตรของอเมริกาว่า สหรัฐได้กลับมาจริงๆ แล้ว และขอให้เลิกกังวลกับนโยบาย “America First” ของทรัมป์ ที่ละทิ้งนโยบายหลักแบบเดิมของสหรัฐไปในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น สิ่งแรกที่ประธานาธิบดีไบเดนทำเมื่อก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว คือการประกาศว่าสหรัฐจะกลับเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมกับกลับสู่ความตกลงปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของอากาศ (The Paris Agreement on Climate Change) ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศลาออกก่อนหน้านี้ ในอีกส่วนคือการเร่งยืนยันถึงพันธกรณีที่เคยมีว่า สหรัฐจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความตกลงทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงก็ตาม โดยเฉพาะตอกย้ำถึงความสำคัญของนาโต
ในกรณีของนาโตในยุคของไบเดนนั้น จะเห็นถึงการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรอย่างชัดเจน โดยได้มีการกำหนดทิศทางในการสร้างความเข้มแข็งในทางทหารจากช่วงที่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่งว่า ในระยะเวลา 3+ ปี จำนวนสมาชิกของเนโต้ที่เพิ่มงบประมาณทางทหารของประเทศตนให้อยู่ในระดับที่ 2% หรือไม่น้อยกว่า 2% นั้น ขยายจาก 9 ไปเป็น 23 ประเทศ ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมากในเรื่องนี้ อีกทั้งยังได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ สวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีความเข้มแข็งในทางทหารในตัวเอง
สำหรับประเทศทั้ง 2 นี้ แต่เดิมดำเนินนโยบายแบบเป็นกลางมาอย่างยาวนาน เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับรัสเซีย และยอมที่จะละทิ้งนโยบายความมั่นคงแบบเดิม ด้วยการตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของนาโตเช่นนี้ เป็นผลโดยตรงมาจากสงครามยูเครน ที่รัสเซียเป็นผู้เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำให้บรรดาชาติสมาชิกมีความรู้สึกร่วมกันว่า รัสเซียเป็น “ภัยคุกคามทางทหาร” ที่สำคัญ ภาวะเช่นนี้กลายเป็นโอกาสให้กำลังรบของนาโตถูกส่งเข้าไปประจำการในพื้นที่ของชาติพันธมิตรที่มีแนวชายแดนใกล้ชิดกับรัสเซีย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กำลังรบของนาโตเข้าใกล้แนวพรมแดนจริงๆ ของรัสเซียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในอีกด้านของการสร้างความเข้มแข็งของนาโตนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากสงครามยูเครน กล่าวคือ ในปีที่ 2 ของการรับตำแหน่งในทำเนียบขาว ไบเดนเจอโจทย์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของการเมืองโลก คือ “สงครามยูเครน” ซึ่งในด้านหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่า ทำเนียบขาวตัดสินใจถูกที่ถอนทหารอเมริกันออกจาก “สงครามตลอดกาล” (The Forever War) ในอัฟกานิสถานในกลางปี 2021 เพราะเป็นสงครามที่สหรัฐเข้าไปติดกับดักมาตั้งแต่ปี 2001 อันเป็นผลจากเหตุการณ์ “9/11” ที่นิวยอร์ก หรือที่เขาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “หมดยุคสำหรับปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ในการสร้างชาติให้แก่ประเทศอื่น”
การถอนออกจากอัฟกานิสถานในปี 2021 จึงเสมือนกับการถอนเพื่อมารอรับสงครามยูเครนในต้นปี 2022 และการดำเนินนโยบายของทำเนียบขาวต่อสงครามนี้ อาจต้องถือเป็นความสำเร็จชุดหนึ่งในทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้ยูเครนสามารถดำรงขีดความสามารถทางทหารในการยันการรุกของกองทัพรัสเซียมาได้นานกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการณ์ในเบื้องต้น
ความท้าทาย
บทบาทของทำเนียบขาวในสงครามยูเครนแตกต่างจากอดีต ที่ไบเดนตัดสินใจนำการประเมินสถานการณ์สงครามจากข้อมูลข่าวกรองออกมาเผยแพร่ให้เวทีระหว่างประเทศตระหนักถึงการเตรียมเปิดสงครามของผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐในอดีตจะไม่ทำอย่างเปิดเผย พร้อมกับประกาศอย่างชัดเจนที่จะส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน แต่จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าสู่สนามรบเด็ดขาด (เพิ่งถอนออกจากอัฟกานิสถาน) อีกทั้งตัดสินใจส่งอาวุธสมรรถนะสูง เช่น HIMARS ให้แก่กองทัพยูเครน ตลอดรวมถึงการสนับสนุนให้เนโต้ส่งความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนอีกด้วย
แต่ความท้าทายที่สำคัญก็คือ คำขอของรัฐบาลยูเครนที่จะใช้อาวุธของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอาวุธของอเมริกันในการโจมตีระยะไกล ซึ่งทำเนียบขาวไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น เพราะจะนำไปสู่การยกระดับสงคราม และอาจกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างนาโตที่มีสหรัฐเป็นสมาชิกหลัก กับรัสเซียได้ไม่ยาก
ประเด็นคำขอนี้จะถูกทิ้งเป็นปัญหาสำคัญของทำเนียบขาวชุดใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้นำที่วอชิงตัน แต่สำหรับผู้นำที่มอสโกนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022