ยุทธการ 22 สิงหา : ปลายหอก ‘โฟนลิงค์’ พิฆาต สู่ยอดอก เปรม ติณสูลานนท์

ต้องยอมรับว่าคำประกาศ 26 มีนาคมของ”คนเสื้อแดง”ดำเนินไปอย่างมีลักษณะในทางประวัติศาสตร์ เป็นอีก”เส้นแบ่ง”หนึ่งในทางการเมือง

“สัญญะ”อันเป็น”ความหมาย”คืออะไร

สัญญะ 1 คือจุดเริ่มต้นแห่งการเคลื่อนไหวในลักษณะ”ยืดเยื้อ”มิได้จบเพียง 1 หรือ 2 วันอย่างที่เคยกระทำ

ตรงกันข้าม เป็นความต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน

ขณะเดียวกัน สัญญะ 1 คือการใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเปิดเกมอย่างมีการวางแผนและอย่างเป็นระบบ

เครื่องมือที่สำคัญ คือ การ”โฟนอิน” พื้นที่ที่สำคัญคือ “แดงทั้งแผ่นดิน”

การโฟนอินผ่านเวทีใหญ่ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม อาจเป็นเพียงการเปิดตัวละครสำคัญๆโดยมี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นตัวเชื่อมอย่างมีนัยสำคัญไม่เพียงแต่เป็นบ้านหลังหนึ่งบนถนนสุขุมวิท หากแต่ยังโยงยาวไปยังเหตุการณ์”คาร์บอมบ์”อันครึกโครม

ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่าจะเป็น นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ไม่ว่าจะเป็น นายอักขราธร จุฬารัตน์ ไม่ว่าจะเป็น นายจรัญ ภักดีธนากุล ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายปราโมทย์ นาครทรรพ ล้วนมีความสำคัญ

โจทย์ที่ทิ้งเอาไว้ก่อนปฏิบัติการ”โฟนอิน”เมื่อวันที่ 22 มีนาคม จะจบลง คือคำ ประกาศจะแฉ”ต้นตอของปัญหา”

นั่นคือ รากฐานจาก”เชียงใหม่” ที่จะปะทุขึ้นใน”26 มีนาคม”

 

สถานการณ์ในวันที่ 26 มีนาคม จึงมิได้เป็นการปูพื้นและดำเนินไปในลักษณะระดมมวลชนอย่างที่กระทำในแต่ละจุดอันเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ หากแต่เป็น”ทำเนียบรัฐบาล”

ความหมายก็คือ การปิดล้อม”ทำเนียบรัฐบาล”อย่างต่อเนื่องจากวันที่ 26 มีนาคมกระทั่งเข้าสู่เดือนเมษายน 2552

คราวนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาร่วมปราศรัยต่อ”ม็อบ”ผ่าน”วิดิโอลิงค์”ซึ่งมีการจัดเตรียมเอาไว้เป็นอย่างดี

นั่นก็คือ การเปิดบุคคลที่เคยกล่าวถึงว่าเป็น”ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

เป็นการกล่าวตั้งแต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ในการประชุมมอบหมายนโยบายปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับ 10 ขึ้นไป ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ว่าหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

พร้อมกับกล่าวหาว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เข้ามายุ่งกับการเมืองในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แล้วกลับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นตัวตั้ง

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สอดประสานกับข้อเสนอของ

“แดงทั้งแผ่นดิน”ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2552 อย่างชนิดเป็นเนื้อเดียวกัน

คำประกาศจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผลสะเทือนอย่างไรบ้าง

 

วันเดียวกันกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่ง”วิดิโอ ลิงค์”เข้าสู่ที่ชุมนุม”แดงทั้งแผ่นดิน”บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ก็เปิดบ้านแถลงข่าวในเรื่องเดียวกัน

นั่นก็คือ ยืนยันคำพูดผ่าน”วิดิโอ ลิงค์”ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า พล.อ.สุร ยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มีส่วนร่วมในการวางแผนโค่นล้ม”ระบอบทักษิณ”

และระบุด้วยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสียสัจจะวาจาที่ว่าจะไม่รับตำแหน่งหลังการยึดอำนาจ แต่ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ท่าทีจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ น่าสนใจ

น่าสนใจตรงที่ได้แถลงยอมรับต่อมาว่า เคยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน แต่ไม่ได้คุยกันเรื่องการรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวหา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า

“ไม่สนใจคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวหาว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวกับคณะอาจารย์ คณะนักเรียนศิษย์เก่าวชิราวุธและนักเรียนเก่าจังหวัดสงขลาซึ่งมาเยี่ยมที่บ้านพักสี่เสา เทเวศร์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ว่า

ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำปฏิวัติรัฐประหาร ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวโจมตี

ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ไม่ได้เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นศัตรูกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และไม่คิดฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

นี่ย่อมเป็นการรุกและการเปิดประเด็นรุกในทางการเมืองจากด้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อบรรดา”ปรปักษ์”ทางการเมืองที่เคยแสดงบทบาทตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นการรุกโดยอาศัย”แดงทั้งแผ่นดิน”เป็น”หัวหอก”บุกทะลวง

ขณะเดียวกัน ก็ประสานกับพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในทางรัฐสภาของพรรคเพื่อไทย และการเคลื่อนไหวของ บรรดานายทหารที่เคยถูกดึงเข้าร่วมในปฏิบัติการทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร

ตัวเชื่อมสำคัญผ่านพรรคเพื่อไทย คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

ตัวเชื่อมสำคัญผ่าน”แดงทั้งแผ่นดิน” คือ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และรวมไปถึง นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ความน่าสนใจอยู่ที่”กระบวนท่า”ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง

นับแต่ปฏิบัติการ”โฟนอิน”บนเวทีปราศรัยที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม กระทั่งการนัดหมายชุมนุม”แดงทั้งแผ่นดิน”ในพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล อันเท่ากับเป็นการย้อนศรไปยังเหตุการณ์ในอดีต

นั่นก็คือ เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นั่นก็คือ เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่รัฐสภา

นั่นก็คือ การเดินสายของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เป็นการประมวลสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นการประมวลบทเรียนจากสถานการณ์หลังการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในเดือนธันวาคม 2550

1 คือกระบวนท่าในการตีกลับทุกปฏิบัติการที่”ปรปักษ์”ทางการเมืองได้เคยกระทำก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ทะลวงไปยัง”ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”ในลักษณะโจมตี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กระทบถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

อาศัยบทบาทของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นตัวนำร่อง

ขณะเดียวกัน 1 วิพากษ์ความล้มเหลวทางการบริหารของรัฐบาลหลังการยึดอำนาจ พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในทางเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

อาศัยผลงานและความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จุดประกายความหวังให้กับสังคมไทย