ละครเวที : ความบันเทิงใหม่ของคนไทยในช่วงสงคราม (2)

ณัฐพล ใจจริง

นับแต่เกิดสงครามทวีความรุนแรงสูงขึ้น มหรสพต่างๆ ถูกงดเล่น ทำให้ชาวกรุงขาดกิจกรรมผ่อนคลายหย่อนจิตใจคลายเครียด

ขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า วันหนึ่งในปี 2486 จอมพล ป.เห็นว่า บ้านเมืองเงียบเหงานักจึงอยากให้มีความบันเทิงครื้นเครงเพื่อบำรุงขวัญประชาชนบ้าง (ขุนวิจิตรมาตรา,2523, 486)

ศาลาเฉลิมไทย ทศวรรษ 1960 โดย Harrison Forman (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Librarie)

ชมละครเวทีสมัยสงคราม

สง่า อารัมภีร เล่าว่า อุปสรรคจากความบันเทิงในช่วงสงครามมีหลายประการ เช่น ในสมัยน้ำท่วมปลายปี 2485 นั้นทำให้โรงละครและโรงภาพยนตร์ในพระนครต้องปิดการแสดงด้วยเหตุจากน้ำท่วมสูงถึงเวทีเลยทีเดียว ผู้คนที่จะไปชมภาพยนตร์จะไปต้องพายเรือไปจอดตามริมถนนเจริญกรุง ตามหน้าโรงภาพยนตร์ (สง่า, 2509, 116-117)

ในช่วงปลายสงครามนั้น พระนครถูกโจมตีทางอากาศหนัก การแสดงละครระหว่างสงครามต้องประสบอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำต้องอาศัยพลังงานจากกระแสไฟฟ้า ที่มักขาดตกบกพร่องเสมอในช่วงสงคราม ด้วยเหตุจากโรงไฟฟ้าถูกทำลายบ้าง หรือการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย แต่ความนิยมในการชมละครเวทีในหมู่ชาวกรุงไม่ลดลง แต่กลับขยายตัวอย่างมาก ถึงขนาดในยามที่ไฟฟ้าดับในพระนครจากการถูกโจมตีทางอากาศก็ตาม แต่เวทีละครเฉลิมกรุงยังมีการแสดงต่อไป โดยใช้แสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ ผู้ชมละครก็ยังคงเนืองแน่นขนัดโรงเสมอ

(สง่า, 111; ใหญ่ นภายน, 2548, 146)

ความเสียหายพระนครจากการโจมตีทางอากาศ เมื่อ 19 มกราคม 2487

ในช่วงสงคราม ศาลาเฉลิมกรุงกลายมาเป็นสถานที่จัดแสดงละครเวทีสำคัญ เนื่องจากขณะนั้นภาพยนตร์ใหม่ๆ จากโลกตะวันตกเข้าไทยไม่ได้ด้วยสงคราม โรงภาพยนตร์ครั้งนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นแสดงละครเพื่อความบันเทิงแทน

ต่อมา เมื่อกองดุริยางค์กองทัพอากาศจัดตั้งคณะละครใหม่ขึ้นบ้าง ใช้ชื่อว่า “คณะศิวารมณ์” จากนั้น คณะละครนี้ยึดเอาเฉลิมกรุงเปิดการแสดงเป็นประจำ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างที่สุด มีผู้ซื้อตั๋วผ่านประตูเข้าชมกันแน่นโรง ต่อมาจึงมีผู้เอาอย่าง ตั้งคณะละครอย่างนี้ขึ้นบ้าง ทำให้เกิดความคึกคักของธุรกิจบันเทิงท่ามกลางสงคราม ทำให้โรงละครศาลาเฉลิมนครซึ่งเป็นโรงเล็กสังกัดบริษัทสหศินีมา จึงพลอยไม่ต้องปิดตายไปด้วย (ยุธิษเฐียร, 2513, 425)

ช่วงเวลานั้น มีคณะละครหลายคณะที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแสดงที่เฉลิมกรุง เช่น “คณะศิวารมณ์” แสดงเรื่องดังครั้งนั้น เช่น พันท้านนรสิงห์ นอกจากนี้ ยังมี “คณะเทพศิลป์” ของคุณหญิงน้อมจิตต์ อรรถไกวัลวที แสดงเรื่องดัง เช่น ดรรชนีนาง สามหัวใจ ธนูทอง เคหาสน์สีแดง “คณะลูกไทย” “คณะผกาวดี” และ “คณะวิจิตรเกษม” เป็นต้น (รุจิราภา, 20; ใหญ่, 146)

ความเฟื่องฟูของละครเวทีทำให้โรงภาพยนตร์หลายแห่งถูกปรับมาเป็นเวทีละครแทน ด้วยเหตุจากความนิยมในละครเวทีของมหาชนแทนการชมภาพยนตร์ โรงละครแบบเดิมหลายแห่งถูกปรับปรุงให้รองรับละครเวทีแบบใหม่ เช่น นาครเขษมซึ่งเคยเป็นโรงละครร้องแบบเดิมก็มีการปรับปรุงเป็นละครเวที รวมทั้งเฉลิมนครตรงแยกเอสเอบี ที่ตั้งคนละมุมกับเวิ้งนาครเขษม โรงละครศรีอยุธยาที่สี่กั๊กพระยาศรีด้วย (อนุสรณ์งานศพ ม.ล.รุจิราภา, 2527, 20)

กระนั้นก็ดี ความบันเทิงท่ามกลางสงครามก็ยังเป็นความไม่อำนวยกันเท่าไร ดังพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ เล่าเสริมว่า นักแสดงและผู้ชมละครครั้งสงครามนั้น “ต้องพากันวิ่งหัวซุกหัวซุน ซ่อนตัวกันจ้าละหวั่น แม้ในขณะที่ละครที่กำลังแสดงกันอยู่ เมื่อเกิดมีสัญญาณทางอากาศเกิดขึ้น ทั้งคนเล่นและคนดูต่างวิ่งกันอลวนหาที่หลบซ่อนตัว ใครเคราะห์ร้ายก็ไม่ต้องพูดถึงกันอีก ที่เคราะห์ดีก็กลับมาดูการแสดงกันใหม่” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

สง่าเล่าว่า เขาเคยเห็นล้อต๊อกในชุดละครชาวเกาะฮาวายวิ่งหนีตายไปที่วัดสุทัศน์ด้วย (สง่า อารัมภีร, 2509, 111)

สุวัฒน์ วรดิลก นักหนังสือพิมพ์และผู้จัดละครเวทีที่มีชื่อเสียงเล่าเสริมว่า “ระหว่างสงคราม คนก็ดูละครแสดงที่เฉลิมกรุง ขณะแสดงถ้าหวอมา ละครจะปิดฉากหนีแบบหนังเหมือนกัน เขาแสดงแต่รอบกลางคืน รอบบ่ายดูเหมือนจะไม่มี ถ้าหวอลงกลางคืนก็แสดงกลางวัน”

นอกจากนี้ ชัยยศ ทับทิมแก้ว คนร่วมสมัยยังเล่าอีกว่า “สมัยนั้นบางทีโรงไฟฟ้าไม่เปิด กลัวถูกบอมบ์ ต้องใช้ไฟปั่นเอง มันให้แสงน้อย ก็เปิดประตูให้แสงสว่างเข้าไป คนนั่งใกล้ประตูพอหวอมารีบผลักประตูวิ่งออกไปเลย (หัวเราะ) นี่คนดูนะ เมื่อปลอดภัยคนดูจะกลับมา ถ้าละครเล่นต่อ เขาก็เข้าดูได้” (silpa-mag.com/history/article_3846)

โรงละครนาครเขษมที่กลายเป็นเวทีละครสำคัญในสมัยสงครามด้วย

การก้าวขึ้นมาของ
บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์

ควรบันทึกด้วยว่า ในยุคนั้น พระนครมีโรงภาพยนตร์ชั้นดียังมีจำนวนน้อย บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ (2460-2509) จึงคิดหาทางสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอีกแห่ง เขาจึงไปขอเช่าที่ซึ่งขณะนั้นเป็นโกดังเก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ริมถนนราชดำเนินมาสร้างโรงภาพยนตร์ อันชื่อว่า ศาลาเฉลิมไทย อาคารนี้ก่อสร้างในสมัยจอมพล ป. ราว 2483 โดยอาคารมีรูปแบบที่กลมกลืนกับอาคารอื่นๆ ที่สร้างขึ้นริมถนนราชดำเนินกลาง เฉลิมกรุงเปิดดำเนินการเมื่อ 2483 โดยช่วงแรกเป็นสถานที่แสดงละครเวทีอาชีพ

ทั้งนี้ ประวัติของบัณฑูรย์นั้น เขาเป็นลูกเจ้าของโรงแรมตงเสียมใกล้กับวัดไตรมิตร หัวลำโพง หลังจากเรียนจบ ม.4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญแล้ว พ่อก็ส่งเขาไปเรียนวิชาการค้าที่เซี่ยงไฮ้ แต่บัณฑูรย์กลับหันไปเรียนวิชาดนตรี เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาไทยแล้ว เขาก็ชักชวนเพื่อนๆ แถวเยาวราช เช่น ลูกชายห้างทองตั้งโต๊ะกัง ตั้งวงดนตรีขนาดเล็กเล่นสลับการฉายหนังแถวโรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ ศรีเยาวราช เทียนกัวเทียน เฉลิมบุรี และเคยเล่นดนตรีออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงด้วย (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

ด้วยเหตุจากการตั้งวงดนตรีทำให้บัณฑูรย์ได้รู้จักสนิทสนมกับ แก้ว อัจฉริยะกุล หรือ “แก้วฟ้า” ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงและนักเขียนบทละครวิทยุที่กำลังมีชื่อเสียง ชายหนุ่มทั้งสองเป็นหนุ่มกระทงอายุราว 20 กลางๆ บัณฑูรย์เห็นว่า ขณะนั้นบรรยากาศความบันเทิงของกรุงเทพฯ เงียบเหงานัก มีแต่เพียงหนังญี่ปุ่นเข้าฉายทำให้คนดูเบื่อหน่าย เขาจึงนำเสนอความบันเทิงใหม่ให้ชาวพระนคร คือ การตั้งคณะละครขึ้น ชื่อว่า “คณะวิจิตรเกษม” และชักชวนแก้วฟ้าให้มาร่วมงานละครเวทีกัน

จากความทรงจำของพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ ถึงบัณฑูรย์ ที่กำลังก้าวขึ้นมาโดดเด่นในวงการบันเทิงช่วงสงครามว่า “ในช่วงนี้แหละที่ข้าพเจ้าพบหนุ่มร่างเตี้ยคนหนึ่ง เขาแสดงความสนใจในเรื่องการระเมงละครเป็นอย่างยิ่ง เขาผู้นี้คือ คุณบัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ หรือเซียวก๊กในหมู่คนที่สนิทสนมกัน” (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

เขาผู้ริเริ่มละครเวทีอย่างใหม่ในช่วงสงคราม เป็นคณะละครที่ใช้ชายจริงหญิงแท้เล่นละครที่มีนามว่า บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ ผู้สร้างเฉลิมไทยและคณะละครวิจิตรเกษมเพื่อสร้างความบันเทิงให้คนไทยในช่วงแห่งสงคราม ดังจะกล่าวต่อในตอนหน้า

พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ และบัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์
การเล่นดนตรีถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงสมัยจอมพล ป. (เครดิตภาพ : 2483 Reenactment Group)