ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
ช่วงงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (10-20 ตุลาคม 2567) ผมออกหนังสือเล่มใหม่กับสำนักพิมพ์ SUNDOGS ซึ่งอยู่ในเครือมติชน ชื่อหนังสือคือ ‘ยกเมฆ : เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็กๆ จากฟากฟ้า’ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน และมีคุณภูริพงษ์ เด่นมาลัย เป็นบรรณาธิการเล่ม
หนังสือเล่มนี้เกิดจากความสนใจของผมเกี่ยวกับเรื่องเมฆและฝนฟ้าอากาศ ซึ่งเริ่มจากแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ก่อน แต่ต่อมาได้ขยายวงออกไปครอบคลุมแง่มุมทางภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และตำนานความเชื่อต่างๆ เช่น เทพปกรณัม
เนื้อหาของหนังสือ ‘ยกเมฆ’ แบ่งเป็น 4 ก้อนหลัก แบบนี้ครับ
ก้อนที่หนึ่ง เมฆและฝนฟ้าอากาศในเชิงวัฒนธรรม มีบทความ “ยกเมฆ” วิชาทำนายทายทักในสมัยโบราณ, เมฆ : ภูมิปัญญาจีนโบราณ vs วิทยาศาสตร์, จาก “หางมังกร” สู่ “หางม้าแดงพิสดาร” : มุมมองเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับทอร์นาโด, ธอร์นั้นหรือ…แท้คือองค์อินทร์? และเทพีแห่งโลกตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝน
ก้อนที่สอง ภูมิปัญญาไทยในอดีตเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ มีบทความ ภูมิปัญญาไทยในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่าด้วย “ฝนฟ้าอากาศ”, ภูมิปัญญาไทยในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่าด้วย “ฟ้าผ่า”, ลม (โยก) ข้าวเบา & สารพัดลมในช่วงปลายฝน-ต้นหนาว, รุ้งกินน้ำทาง “ทิศใต้” ได้หรือไม่?, ฟ้าลายเห็ดบด vs เมฆเกล็ดฟ้า : ภูมิปัญญาข้ามวัฒนธรรม และ ลมทิศต่างๆ ในวัฒนธรรมไทย
ก้อนที่สาม รากฐานแห่งความรู้ & กรณีศึกษาฝนฟ้าในอดีต มีบทความ ปฐมบทแห่งอุตุนิยมวิทยา, อริสโตเติลอธิบายปรากฏการณ์ “ฟ้าฝน” อย่างไร?, กรีก & โรมัน อธิบาย “พายุทอร์นาโด” อย่างไร?, ภาพเก่าเล่าอดีต : ยุโรปถูกทอร์นาโดเล่นงาน, ภาพเก่าเล่าเรื่องนาคเล่นน้ำในยุโรป, ปริศนาแถบมืดพาดฟ้าในปี ค.ศ.1760, การทรงกลดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกตะวันตก, “General Winter” นโปเลียนแพ้ ‘ใคร’ ในรัสเซีย? และ ศาสตร์และศิลป์แห่ง ‘ลมเฟิน’
ก้อนที่สี่ เมฆฟ้ากับภาษาและวรรณกรรม มีบทความ เมฆกับภาษาและวรรณกรรม, ศัพท์เมฆฟ้าในอักขราภิธานศรับท์, ซ่อนไว้ในคำ, คำพังเพยของฝรั่งเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ มีส่วนจริงแค่ไหน?, ฝนตก “ห่า” หนึ่งมากแค่ไหนกัน?, “วันออกสองลูกสามลูก” ของไทอาหม คนไทในรัฐอัสสัม, แสงปริศนารอบเงาศีรษะ คืออะไร? และเมฆทูต
ปิดท้ายด้วย บทความ ‘พลังแห่งเมฆาบำบัด’ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าโดยคนที่ระบุว่าเมฆและท้องฟ้ามีส่วนสำคัญในการเยียวยาจิตใจของพวกเขาได้!
ลองมาดูตัวอย่างบทแรก ‘ยกเมฆ : วิชาทำนายทายทักในสมัยโบราณ’ กันครับ
ก่อนอื่น ในปัจจุบันคำว่า “ยกเมฆ” หมายถึง เดาเอา นึกคาดเอาเอง กุเรื่องขึ้น แต่คำนี้ในสมัยโบราณเป็นชื่อวิชาซึ่งใช้เมฆในการทำนายทายทัก
ในหนังสือ โชคลาง สัญญาณ ลางสังหรณ์ เขียนโดย พลูหลวง ระบุว่า
“การยกเมฆ เป็นวิชาการดูสัญลักษณ์ของก้อนเมฆอันลอยเกลื่อนบนท้องฟ้า มีกระแสลมบนพัดให้เมฆกระจัดกระจายแปรเป็นรูปต่างๆ ได้ทุกนาที ทุกวินาที
เมื่อบุคคลจะย่างก้าวพ้นชายคาบ้าน ท่านให้แหงนหน้าดูเมฆบนท้องฟ้าก่อนอื่นว่ามีสัญลักษณ์รูปอะไร ถ้าเป็นรูปร่างสัตว์ประหลาดอันน่ากลัว รูปจระเข้ รูปมังกร รูปยักษ์ มาร มีผู้จดเป็นสถิติตำราตายตัวไประบุว่า การเบื้องหน้าจะต้องเผชิญหน้าต่อศัตรูอันกล้าแข็ง ประสบอุปสรรค มีอันตราย หากเกิดอย่างนี้ท่านว่าให้ยับยั้งไว้ชั่วระยะหนึ่ง จึงจะโคจรไปตามนิมิตหมายที่บอกว่าดี
นิมิตของรูปของเมฆที่ดีก็คือ รูปอันสวยงาม แจ่มใส ธวัช ฉัตร ธง ถ้าเป็นรูปเมรุ สัญลักษณ์ของความตาย ท่านว่าห้ามเคลื่อนทัพ เคลื่อนจากแหล่งที่อยู่จะมีอันตรายย่อยยับอัปราชัย”
ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ระบุว่าหากเห็นเมฆเป็นรูปพระนารายณ์ก็ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ควรยกทัพได้ เช่น
“ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต
ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร”
หนังสือ ปัจฉิมภาคแห่งโหราศาสตร์ แต่งโดย พลูหลวง ในหัวข้อ การถือเคล็ดลางสังหรณ์ก่อนเคลื่อนทัพ (หน้า 204-207) มีข้อความแนะนำรวม 22 ข้อ บางข้อคือวิชายกเมฆ เช่น
“2. เห็นเมฆลอยมาเป็นรูปเมรุ อย่าเคลื่อนทัพจะตาย”
อย่างไรก็ดี ตำราต่างกันอาจให้ความหมายในทำนองเดียวกันหรือแตกต่างกันแบบตรงกันข้ามได้ ดังภาพต่อไปนี้
มุมซ้ายบน รูปคล้ายๆ จันทร์เสี้ยวหันปลายแหลมไปด้านขวา ทำนายว่า “เห็นเมฆดังนี้ จะได้ลาภพึงใจ จะได้บุตรผู้ดี”
รูปหอก ทำนายว่า “เหนเมฆเป็นรูปหอก จะเกิดอุบาทว์แล”
รูปจระเข้ ทำนายว่า “ถ้ามีที่ไป เห็นเมฆคางนา (ข้างหน้า) เป็นจระเข้ จะได้ลาภแล”ตรงนี้น่าสนใจว่าตำรานี้ระบุว่าจระเข้เป็นรูปมงคล ซึ่งขัดกับข้อความในหนังสือ โชคลาง สัญญาณ ลางสังหรณ์ ที่อ้างถึงก่อนหน้านี้
ส่วนรูปนางรำ ทำนายว่า “เมฆเป็นรูปนางรำ ไปจะมีลาภแล”
ในหนังสือ ‘ยกเมฆ’ ยังมีภาพและคำทำนายอื่นๆ เช่น เมฆรูปนกยูง เทวดาร้องไห้ และแพะเดินตามกัน 4 ตัว รวมทั้งรุ้งกินน้ำข้างซ้ายหรือข้างขวา
ตัวอย่างเอกสารโบราณที่อ้างถึงนี้ ผมได้รับไฟล์มาจากหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT Archives & Records Unit) โดยมีคุณจิราภา อัครวิทยาพันธุ์ เป็นผู้ประสานงาน และได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.ดิเรก อินจันทร์ แห่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในการปริวรรตข้อความเป็นภาษาไทย
ผมขอขอบคุณ คุณจิราภา และ ดร.ดิเรก ไว้ ณ ที่นี้
ในหนังสือ พิชัยสงครามฮินดูโบราณและตำราพิไชยสงครามคำกลอน มีวิชายกเมฆ ขอคัดมาเล็กน้อยโดยรักษาตัวสะกดเดิม ดังนี้
เมฆเกลื่อนทิฆำพร อุตรทิศชะอุ่มสี
ลาถึงทักขิณศรี เขากลุ้มเกลื่อนพระสุริยล
สิ้นแสงบสูญแสง ไป่แจ่มแจ้งยังมัวมนท์
อย่ายกพยุหพล จะพลันแพ้จะเสียไชย
ถอดความได้ว่า เมฆเต็มฟ้าทางทิศเหนือเคลื่อนไปทางทิศใต้เข้าบังดวงอาทิตย์จนมืดมิด อย่าได้ยกทัพออกไปรบ เพราะจะพ่ายแพ้
ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง ก้านกล้วย ภาคแรก กล่าวถึง ‘เมฆเศวตฉัตร’ ในฉากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพออกจากพระนคร ประเด็นนี้ คุณพงศธร กิจเวช ได้ค้นคว้าหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้นจนได้ข้อสรุปว่าเมฆเศวตฉัตรปรากฏในหนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ดังนี้ (ตัวสะกดตามหนังสืออ้างอิงที่ผมมี)
“เมื่อแต่งพระองค์เสร็จทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วต่างก็คอยฤกษ์อยู่ ในขณะนั้นด้วยบุญญาภินิหารของพระนเรศวรที่จะได้ไชยชนะแก่พระมหาอุปราชา ทั้งจะได้เปนพระมหากษัตริย์ด้วย ก้อนเมฆบนอากาศบันดาลเปนรูปเศวตฉัตรกางกั้นอยู่ตรงพระคชาธารพระนเรศวร พระบรมธาตุโตเท่าผลมะงั่วก็ทำปาฏิหาริย์เสด็จผ่านมาทางกองทัพพระนเรศวร พระองค์ก็ทรงยินดียกพระหัตถขึ้นนมัสการ พร้อมทั้งนายทัพนายกองทั้งปวง พอได้ฤกษ์แล้วต่างพระองค์ก็ให้ถอนธงสัญญาที่ปักไว้ ทั้ง ๒ พระองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีชนช้างกัน” (หน้า 88-89)
อีกคำหนึ่งที่น่ารู้จักคือ ‘เมฆฉาย’ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ไว้ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือ “เมฆที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปต่างๆ เนื่องจากการยกเมฆ” ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ “การอธิษฐานโดยบริกรรมด้วยมนตร์ เชื่อกันว่าจะทำให้เงาของคนเจ็บลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วพิจารณาดูว่าคนเจ็บนั้นเป็นโรคอะไร” (ไม่เกี่ยวกับวิชายกเมฆ)
ฝรั่งก็มีวิชายกเมฆเช่นกัน เรียกง่ายๆ ว่า การอ่านเมฆ (cloud reading) เรียกแบบใช้ศัพท์หรูว่า เนโฟแมนซี่ (Nephomancy) มาจากคำในภาษากรีก คือ nephos (เมฆ) + manteia (การทำนายทายทัก)
น่ารู้ด้วยว่าคำภาษากรีก ‘nephos’ ซึ่งหมายถึง เมฆ มีรากศัพท์เดียวกับคำภาษาสันสกฤต ‘นภัส’ ที่แปลว่า ฟ้า ลองออกเสียง ‘nephos’ (เนฟอส) กับ ‘นภัส’ กลับไปกลับมาเร็วๆ สิครับ ส่วนคำภาษาบาลีคือ “นภ” ซึ่งก็คือ นภา (ท้องฟ้า) ในภาษาไทยนั่นเอง
ส่วนดินแดนที่เก่าแก่อย่างเมโสโปเตเมียก็มีการทำนายทายทักที่น่าจะเรียกได้ว่าวิชายกเมฆด้วยเช่นกัน!
หลักฐานปรากฏอยู่ในมัตติกาจารึกหรือแผ่นจารึกดินเหนียว ชื่อ เอนูมา อะนู เอ็นลิล (Enuma Anu Enlil) ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรรูปลิ่ม (cuneiform) โดยคำทำนายมักจะเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของบ้านเมือง เช่น
บรรทัดที่ 2 : หากทางด้านขวาของดวงอาทิตย์มีกลุ่มเมฆปกคลุม : การค้าขายข้าวบาร์เลย์และฟางข้าวจะขยายตัว
บรรทัดที่ 8 : หากทางด้านซ้ายของดวงอาทิตย์มีกลุ่มเมฆปกคลุม : กษัตริย์แห่งซูบาร์ตุจะสิ้นพระชนม์ และราชวงศ์ของเขาจะล่มสลาย
เรื่องที่เล่าไว้ในบทความนี้ ผมคัดมาแค่บางส่วน หากสนใจอ่านแบบเต็มๆ และอ่านเรื่องอื่น ก็หาซื้อหนังสือ ‘ยกเมฆ เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็กๆ จากฟากฟ้า’ ได้ ถ้าแบบออนไลน์ ก็ไปที่ https://tinyurl.com/4yr9fzny
อ่อ…เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือ ‘ยกเมฆ’ นี้มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ผมไม่ได้ยกเมฆมานะครับ!??
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022