ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปลายปี 1918 เยอรมนีปราชัยในสงคราม ถูกถล่มยับเยินด้วยไข้หวัดใหญ่ระบาด ประชากรอดอยากหิวโหย พวกนักการเมืองพากันตื่นกลัวและบรรดานักปฏิวัติสังคมนิยมก็กำลังเคลื่อนพลยาตรา
ทหารผ่านศึกจำนวนมากมายกลับจากสงครามด้วยความรู้สึกว่าตนยังไม่พ่ายแพ้หรือหนักกว่านั้นคือถูกพวกนักการเมืองทรยศหักหลัง มิหนำซ้ำทหารเหล่านี้หลายคนก็ยังติดอาวุธอยู่ ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดการปฏิปักษ์-ปฏิวัติฝ่ายขวาอย่างกว้างขวางด้วย กล่าวได้ว่าเยอรมนีกำลังซวดเซอยู่ตรงริมขอบเหวแห่งภัยพิบัติทางการเมืองทีเดียว
ในบริบทแห่งวิกฤตอันทุกข์ยาก โกลาหลอลหม่านและสุ่มเสี่ยงล่อแหลมหลังสงครามนี่เองที่แมกซ์ เวเบอร์ กล่าวบรรยายเรื่อง ‘Politik als Beruf’ หรือ “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” ในกิจกรรมชุดคำบรรยายซึ่งจัดโดยองค์การสหภาพนักศึกษาเสรีแห่งแคว้นบาวาเรียที่มหาวิทยาลัยมิวนิกเมื่อวันที่ 28 มกราคมปี 1919
แกนเรื่องใจกลางแห่งคำบรรยายของเวเบอร์ชิ้นนี้ก็คือ :
ในการเมืองนั้น เราไม่มีวันจะสามารถบอกผู้คนที่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ที่สุดทางการเมืองได้ว่าพวกเขาควรตัดสินใจอย่างไร เพราะมันเป็นคำถามเกี่ยวกับการเลือกส่วนบุคคลและความรับผิดชอบส่วนบุคคลเสมอ
แต่กระนั้นก็มีปัจจัยต่างๆ มากมายซึ่งนักการเมืองผู้มีสำนึกรับผิดชอบคนใดก็ตามคงต้องนำมาพินิจพิจารณาภายใต้สภาพการณ์ที่สุ่มเสี่ยงล่อแหลมและไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างลึกซึ้งปานนั้น
เวเบอร์ใคร่จะอาศัยคำบรรยายดังกล่าวระบุแจกแจงปัจจัยเหล่านั้นออกมาให้ผู้ฟังเฉพาะหน้าอันได้แก่พวกนักศึกษาและเป้าหมายผู้ฟังภายนอกอันได้แก่พวกนักการเมืองเยอรมันที่กำลังพบเผชิญสถานการณ์วิกฤตอยู่ด้วย
ก็แลข้อควรคำนึงของคนทำงานการเมืองในรัฐสมัยใหม่นั้น ก่อนอื่นก็คืองานการเมืองเป็นได้ทั้งวิชาชีพ หรือนัยหนึ่งต้นตอของการงานเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ และภารกิจหรือนัยหนึ่งบ่อเกิดของความหมายแก่ชีวิตด้วย
ทวิลักษณ์ (doubleness) ของการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นทั้งวิชาชีพกับภารกิจนี่แหละที่ทำให้มันมีนัยเอกเทศ ผิดแผกแตกต่างจากการเมืองสมัยก่อน
ด้วยเหตุนี้ เวเบอร์จึงมิเพียงคาดหมายให้พวกนักการเมืองเข้าใจปัจจัยควรคำนึงต่างๆ ในการตัดสินใจที่สำคัญขั้นชี้ชะตาบ้านเมืองเท่านั้น หากยังมุ่งหวังจะบ่มสอนให้พวกเขาเพ่งสำรวจเข้าไปข้างในความคิดจิตใจของตัวเองด้วยว่า พวกเขาถูกเพรียกร้องให้ทำภารกิจใด และนั่นจะหมายความว่าอะไร
โดยเวเบอร์ไม่ได้บอกกล่าวโต้งๆ ออกมาว่าให้ทำอะไรหรือตัดสินใจอย่างไร เพราะถึงไงก็บอกไม่ได้อยู่ดี เนื่องจากมันเป็นเรื่องการเลือกและความรับผิดชอบส่วนบุคคลของนักการเมืองแต่ละคนเอง…
นี่เป็นเหตุให้คำบรรยายชิ้นนี้ของเวเบอร์หักมุมตอนจบไปมีสำเนียงลีลาแบบธรรมเทศนาทางโลกวิสัยของการเมืองสมัยใหม่นั่นเอง
สำหรับตัวเวเบอร์เองนั้น เขาปฏิเสธทั้งแนวทางปฏิวัติของพวกสังคมนิยมเยอรมันสปาร์ตาซิสต์ภายใต้การนำของโรซา ลุกเซมบูร์ก กับคาร์ล ไลบ์นิก และแนวทางปฏิกิริยาของพวกฟาสซิสต์รุ่นแรกเริ่มที่หวังรื้อฟื้นจักรวรรดิเยอรมนีภายใต้กษัตริย์ไกเซอร์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กลับคืนมาอีก
หากแต่เขาเลือกแนวทางสร้างรัฐสมัยใหม่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาแทนที่ระบอบเก่าในเยอรมนีจากสภาพจริงที่เป็นอยู่มาเป็นภารกิจของตัว แม้ว่ามันจะยากลำบากสลับซับซ้อน มิอาจเป็นไปตามอุดมคติโลกสวยบริสุทธิ์หรือศีลธรรมอันเข้มงวดก็ตามที
เวเบอร์จึงลงจากหอคอยงาช้างทางวิชาการไปเข้าร่วมคณะผู้แทนเยอรมันในการประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีส และรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญไวมาร์ฉบับใหม่ในเวลาต่อมา
อะไรคือรัฐสมัยใหม่?
ก็แล้วอะไรเล่าคือรัฐสมัยใหม่ที่เวเบอร์มุ่งสร้างบ้านแปลงเมืองให้เยอรมนีเป็นหลังสงคราม?
เวเบอร์นิยามไว้ในคำบรรยาย “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” ชิ้นนี้อย่างลือเลื่องวงวิชาการรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์แต่นั้นมาว่า :
“รัฐคือประชาคมมนุษย์ที่อ้างสิทธิ์ผูกขาดการใช้กำลังโดยชอบธรรมไว้กับตัวมันเองภายในอาณาเขตที่นิยามไว้แน่ชัดหนึ่งๆ (ได้สำเร็จ)”
(Max Weber, “Politics as a Vocation”, in Gordon C. Wells, translated, John Dreijmanis, ed., Max Weber’s Complete Writings on Academic and Political Vocations
(New York : Algora Publishing, 2008), p. 156)
นิยามรัฐสมัยใหม่ข้างต้นนี้มีคำที่รวบยอดความคิดเป็นแก่นแกนใจกลางของมันอยู่ 5 คำได้แก่ : [สำเร็จ-อ้างสิทธิ์-ผูกขาด-ชอบธรรม-ความรุนแรง]
โดยที่ในจำนวน 5 คำนี้ มีอยู่ 2 คำที่โผล่โด่เด่โดดเด่นออกมาได้แก่ : [ผูกขาด+รุนแรง]
สรุปรวมความได้ว่ารัฐก็คือองคภาวะที่ผูกขาดความรุนแรงหรือเครื่องจักรแห่งความรุนแรงนั่นเอง
ทว่า นัยทางการเมืองสำคัญของนิยามรัฐสมัยใหม่อยู่กับอีก 3 คำที่เหลือ นั่นคือรัฐ 1) อ้างสิทธิ์ผูกขาดความรุนแรงไว้กับตัวเองโดย 2) ชอบธรรมได้ 3) สำเร็จ
พึงเข้าใจได้ว่าในทางเป็นจริง การอ้างสิทธิ์ผูกขาดความรุนแรงได้สำเร็จดังกล่าวของรัฐย่อมมิอาจเป็นไปโดยเบ็ดเสร็จ ย่อมจะมีความรุนแรงบางรูปแบบกระฉอกหลุดออกไปจากการอ้างสิทธิ์ของรัฐเสมอ เช่น ความรุนแรงในครัวเรือนเอย ความรุนแรงของอาชญากรรมเอย ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเอย ซึ่งก็ยังคงหลงเหลืออยู่โดยรัฐมิอาจระงับหรือยกเลิกมันโดยสิ้นเชิงได้
แต่ปมเงื่อนอยู่ตรงในรัฐสมัยใหม่ มีแต่รัฐเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้กระทำการรุนแรง ตั้งแต่ใช้กำลังบีบคั้นบังคับขับไสควบคุมจำขังไปจนถึงทำร้ายเข่นฆ่าด้วยอาวุธถ้าจำเป็นเพื่อให้ผู้คนทำสิ่งที่รัฐต้องการ
ในสภาพที่ฐานที่มาแห่งความชอบธรรมของรัฐหรือนัยหนึ่งอำนาจสถาปนารัฐ (le pouvoir constituant) ในอารยธรรมตะวันตกได้เคลื่อนย้ายจากพระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ในยุคกลางของยุโรปไปสู่ประชาชนหลังการปฏิวัติอังกฤษ, อเมริกันและฝรั่งเศสในยุครู้แจ้งแล้ว (God->Kings–>the People ดู David Graeber, The Utopia of Rules : On Technology, Stupidity, and the Secret Joys of Bureaucracy, 2015, pp. 213-214)
ฉะนั้น การที่รัฐจะอ้างสิทธิ์ผูกขาดการกระทำรุนแรงโดยชอบธรรมได้สำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับความยอมรับของประชาชนพลเมือง อันเป็นผู้คนกลุ่มเดียวกับที่จะตกเป็นเป้าหมายรองรับความรุนแรงดังกล่าวด้วย
ตรงหัวใจของรัฐสมัยใหม่จึงเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง [อำนาจอธิปไตยกับประชาชน] ในความหมายที่ว่า : รัฐอ้างสิทธิ์ผูกขาดความรุนแรง->
ประชาชนตระหนักรับว่าการผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐนั้นชอบธรรม->
ประชาชนยอมขึ้นต่ออำนาจรัฐอันหนุนหลังด้วยความรุนแรงนั้นโดยที่ตัวเองก็ตกเป็นเป้าของความรุนแรงดังกล่าว->
เมื่อประชาชนยอมรับคำกล่าวอ้างสิทธิ์ของรัฐนั้นแล้วประชาชนก็ย่อมมิอาจกล่าวอ้างสิทธิ์เพื่อโต้แย้งหักล้างอำนาจนั้นโดยชอบธรรมได้->
รัฐจึงอ้างสิทธิ์ผูกขาดความรุนแรงโดยชอบธรรมได้สำเร็จ
รัฐสมัยใหม่จึงเป็นการผูกมัดล่ามตรึง [อำนาจอธิปไตยกับประชาชน] ไว้ด้วยกันในรูปแบบความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แน่นอนหนึ่งๆ นั่นเอง
เมื่อประยุกต์มามองรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยจะได้ความว่าอย่างไร?
– เวเบอร์เคยให้คำนิยามประชาธิปไตยแบบหยาบๆ ดิบๆ ในทำนองว่า :
ประชาธิปไตยหมายความแค่นี้เองว่าเราเลือกใครบางคนให้ตัดสินใจแทนเราและถ้าเผื่อมันออกมาผิดท่าย่ำแย่แล้ว ก็ส่งตัวมันไปตะแลงแกงเสีย!
กล่าวอย่างเป็นวิชาการคือด้านหลักแล้วประชาธิปไตยเป็นรูปแบบองค์การจัดตั้งทางการเมืองที่ซึ่งความชอบธรรมของผู้กุมอำนาจหน้าที่มาจากความยินยอมของผู้ถูกปกครองซึ่งแสดงออกโดยผ่านกลไก เช่น การเลือกตั้งและสถาบันแทนตนทั้งหลาย (Stefan Breuer, “The Concept of Democracy in Weber’s Political Sociology”, in Ralph Schroeder, ed., Max Weber, Democracy and Modernization, 1998, pp. 1-13)
อันเป็นการขยับเคลื่อนปมเงื่อนของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ไปเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง [อำนาจอธิปไตยกับการแทนตนประชาชน] นั่นแล
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022