ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
นักวิจัยในฟินแลนด์เปิดตัวนมแม่สูตรใหม่สุดพิสดาร เสริมสารอาหารพิเศษ “อุจจาระ”
18 ตุลาคม 2024 ที่ลอสแองเจลิส ในงาน IDWeek ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ทางด้านโรคติดเชื้อระดับโลก ผู้คนต่างก็ต้องตกตะลึงกับผลการทดลองสุดเปิบพิสดารจากประเทศฟินแลนด์
เพราะนมสูตรใหม่ของออตโต เฮลฟ์ (Otto Helve) ผู้อำนายการสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติฟินแลนด์ (Finnish Institute for health and welfare) และทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (University of Helsinki) ประเทศฟินแลนด์นั้นมีส่วนผสมพิเศษลับเฉพาะที่ทางทีมวิจัยเรียกกันว่า “Mother intestinal flora” ใส่ผสมลงไปด้วย
แต่ flora ในบริบทนี้ ไม่ได้หมายความถึงหมู่มวลบุปผามาลีที่หอมหวล แต่หมายถึงไมโครไบโอตา หรือสังคมจุลินทรีย์กลิ่นอบอวลที่มาจากลำไส้ของคุณแม่
ต้องชื่นชมทีมออตโตที่เลือกใช้คำได้สละสลวย แต่ยังไง อาจมก็ไม่อาจจะเป็นอะไรอย่างอื่นได้ นอกจากอาจม
แม้จะบอกว่าเป็น flora แต่การเก็บจุลินทรีย์จากลำไส้ ถ้าไม่เก็บมาแบบรุกราน ก็ไม่มีทางที่จะมาจากแหล่งอื่นใดได้นอกจาก “อุจจาระ”
นั่นหมายความว่านมสูตรพิเศษจากทีมของออตโตนั้น มีขี้ผสมอยู่ และถ้าทารกได้รับเข้าไป สังคมจุลินทรีย์ดีๆ จากขี้ของคุณแม่ก็จะถูกถ่ายทอดต่อไปสู่ทารก
เชื่อกันว่าหากทารกได้รับสังคมจุลินทรีย์จากมารดาเข้าไปอย่างเหมาะสม จุลินทรีย์พวกนี้จะช่วยวางรากฐานโครงสร้างของไมโครไบโอตาตั้งต้นที่ดีให้กับทารก
ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเผาผลาญที่เรียกว่าเมตาบอลิซึ่มแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการของเด็กอีกด้วย
ซึ่งในกรณีของทารกที่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ เรื่องนี้อาจไม่ใช่ประเด็น เพราะในระหว่างการคลอด ทารกจะถูกเบ่งออกมาผ่านทางช่องคลอดที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์พวกนี้อยู่แล้ว
ดังนั้น ทารกกลุ่มนี้จึงได้รับไมโครไบโอตา หรือสังคมจุลินทรีย์จากมารดาไปแล้วเต็มๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
ทว่า ในกรณีของทารกที่คลอดโดยวิธีผ่าคลอดแบบเปิดหน้าท้อง (caesarian section หรือ c-section) นั้นจะต่างไป
เพราะในการผ่าคลอด ทารกจะแทบไม่ได้ประสบพบเจอหรือได้รับถ่ายทอดสังคมจุลินทรีย์อะไรที่ควรจะได้จากมารดามาเลยแม้แต่น้อย
แม้นบางทีจะได้ไปบ้าง แต่ก็มักจะผิดกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่พบบนผิวหนัง ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์มากนัก
ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ออกมาค่อนข้างชัดเจนจากงานวิจัยที่โด่งดังบันลือโลกของมาเรีย โดมินเกซ-เบลโล (Maria G Dominguez-Bello) จากมหาวิทยาลัยเปอร์โตริโก (University of Puerto Rico) และทีมวิจัยของร็อบ ไนต์ (Rob Knight) จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado, Boulder) ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2010
งานของมาเรียและร็อบระบุชัดว่าไมโครไบโอตาตั้งต้นในเด็กทารกที่มาจากการคลอดด้วยวิธีต่างกันนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแง่ของชนิดของจุลินทรีย์ที่พบ ทารกที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะมีชนิดของแบคทีเรียในไมโครไบโอตาที่เหมือนกับที่พบในช่องคลอดของสตรี เช่น Lactobacillus, Prevotella และ Sneathia spp. ในขณะที่ทารกที่คลอดออกมาผ่านทางการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง จะมีชนิดของแบคทีเรียที่พบเป็นคนละกลุ่ม ซึ่งจะไปคล้ายกับพวกที่พบบนผิวหนังของแม่ อาทิ Staphylococcus, Corynebacterium และ Propionibacterium spp.
นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทารกที่ผ่าคลอดออกมานั้นมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอกว่าเด็กที่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าทารกผ่าคลอดนั้นมีโอกาสที่จะเป็นหอบหืดและมีภาวะอ้วนได้มากกว่าทารกที่คลอดธรรมชาติอยู่เล็กน้อยอีกด้วย
ซึ่งถ้าสังคมของจุลินทรีย์หรือไมโครไบโอตาที่แตกต่างกันนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว บางทีอาจจะดีกว่าถ้าเราสามารถที่จะปลูกถ่ายสังคมจุลินทรีย์จากแม่สู่ลูกโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของทารกที่ผ่าคลอด
คำถามคือจะปลูกถ่ายกันด้วยวิธีไหน?
วิธีที่ง่าย และตรงไปตรงมาที่สุดก็คือป้ายจุลินทรีย์ออกมาจากช่องคลอด ป้ายทารกเลย
ในปี 2012 มาเรียก็เริ่มเฟสต่อไปเของการศึกษาของเธอ เธอรับสมัครอาสาสมัครคุณแม่ 7 คนที่คลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ และอีก 11 คนที่คลอดบุตรผ่านการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพื่อทำการทดลองปลูกถ่ายสังคมจุลินทรีย์จากแม่สู่ลูกผ่านการป้ายปาดเอาแบบทื่อๆ เลย
เธอใช้ผ้าก๊อซปลอดเชื้อเก็บตัวอย่างสังคมจุลินทรีย์จากช่องคลอดของคุณแม่ผ่าคลอด 4 คน (จาก 11 คน) ก่อนการผ่าตัดคลอด ภายใน 2 นาทีหลังจากที่อุแว้ เธอก็เอาผ้าก๊อซที่มีสังคมจุลินทรีย์จากแม่ป้ายปาดไปทั่วร่างทารกแรกเกิด
ผลที่ได้น่าสนใจ เพราะหลังจากที่จากการติดตามผลการทดลองนี้มาหนึ่งเดือน ทารกที่คลอดด้วยการผ่าตัดคลอดที่ถูกป้ายด้วยสังคมจุลินทรีย์จากช่องคลอดของแม่นั้น มีสังคมของแบคทีเรียบนผิวหนัง ในปาก ในลําไส้ ไปจนถึงในทวารหนักที่คล้ายคลึงกับสังคมจุลินทรีย์ที่พบในทารกที่คลอดออกมาด้วยวิธีธรรมชาติมาก แม้จะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะขนาดนั้นก็ตาม
“จนกระทั่งไม่นานมานี้ (ก่อนจะมีการผ่าคลอด) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกตัวที่อยู่อยู่รอดนำคลอดออกมาลืมตาดูโลกใบนี้ล้วนเคลือบไปด้วยสังคมจุลินทรีย์จากช่องคลอดของมารดาทั้งสิ้น” ร็อบหนึ่งในฟันเฟืองหลักผู้ขับเคลื่อนงานวิจัยนี้กล่าว “จะว่าไปตามหลักเหตุและผลแล้ว เรื่องนี้ก็อธิบายได้ในมุมมองของวิวัฒนาการ”
ร็อบเปิดเผยว่า ที่จริงแล้ว ในปี 2011 ตอนที่ภรรยาของเขาจำเป็นต้องผ่าคลอดฉุกเฉินตอนที่ลูกสาวของเขาเกิดมา เขาเองก็ใช้วิธีนี้กับภรรยากับลูกสาวของเขาด้วยเช่นกัน (แต่เรื่องนั้น ส่วนตัว ไม่เกี่ยวอะไรกับงานวิจัย)
ชัดเจนว่าโดยวิธีนี้พวกเขาสามารถปรับแต่งและรื้อฟื้นไมโครไบโอตาหรือสังคมจุลินทรีย์ในเด็กทารกได้ตามที่ควรจะเป็น อย่างน้อยก็บางส่วน แม้ว่าผลที่ได้จะดูน่าสนใจมากและตัวนักวิจัยเองก็กล้าพอที่จะเอาไปทำกับครอบครัวของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ผลกระทบในเชิงสุขภาพระยะยาวที่มาจากการปลูกถ่ายสังคมจุลินทรีย์ในทารกที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์นั้น ยังไม่ได้มีชัดเจนขนาดนั้น
อย่างน้อยน่าจะต้องมีการทำวิจัยอีกพักใหญ่ก่อนที่จะสามารถระบุผลดีผลเสียที่แท้จริงของการปลูกถ่ายไมโครไบโอตาในทารกในระยะยาวได้ อย่างน้อยก็น่าจะใช้เวลาอีกขั้นต่ำๆ ก็ 3-5 ปี
นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่ได้พร้อมใช้ และไม่ควรทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
“สิ่งที่ผมกลัว ก็คือผู้ป่วยบางคนอาจจะมาที่คลินิกและเริ่มเรียกร้องให้ทำหัตถการแบบนี้กับพวกเขา ซึ่งผมไม่คิดว่าตอนนี้ สุกงอมพร้อมให้เอาไปใช้จริงๆ” อเล็กซานเดอร์ โครัตส์ (Alexander Khoruts) สูตินรีแพทย์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา (the University of Minnesota) กล่าว
มาเรียเผยว่าเธอได้รับการร้องขอให้ทำการปลูกถ่ายไมโครไบโอตาจากแม่สู่ลูกด้วยวิธีของเธอมากมาย แต่เธอไม่ใช่แพทย์และไม่สามารถแนะนำหรือทำให้ได้ นอกเหนือจากที่เธอทำร่วมกับทีมแพทย์ในงานวิจัยของเธอ เพราะถ้าผิดพลาดไป บางที อาจจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาเลยก็เป็นได้ หากทารกติดเชื้อโรคร้ายมาจากมารดา เพราะที่จริงมารดาก็ใช่ว่าจะคลีน สะอาดเอี่ยมอ่อง ปลอดโรค ปลอดภัยทุกคน…
ยังไงก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องระวังค้อนข้างมาก
แต่ออตโตมองต่างมุม นี่อาจจะเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ ยิ่งในปัจจุบัน แนวทางการทำหัตถการปลูกถ่ายเชื้อดีไปข่มเชื้อร้ายที่เรียกว่าการปลูกถ่ายสังคมจุลินทรีย์ในอุจจาระ (fecal microbiota transplantation หรือ FMT) เพื่อรักษาโรคติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล อาทิ Clostridioides difficile นั้น มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างแพร่หลาย ถึงขนาดที่มีการก่อตั้งธนาคารอุจจาระ (stool bank) เพื่อการปลูกถ่ายขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และจีน กลไกการเลือกผู้บริจาคอุจจาระ และกระบวนการสกรีนหาเชื้อโรคร้ายในอุจจาระก็มีแล้ว แม้จะยังไม่สามารถปิดความเสี่ยงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าค่อนข้างรัดกุมแล้ว
คำถามของออตโตคือ ถ้าจุดประสงค์ของเราคือเพื่อถ่ายโอนสังคมจุลินทรีย์ดีๆ จากแม่สู่ลูก ทำไมเราถึงไปสนใจแต่ช่องคลอด แต่กลับไม่มองไปที่ลำไส้ซึ่งมีจุลินทรีย์ดีๆ อยู่มากมายมหาศาล อีกทั้งมีวิธีสกรีนหาแบคทีเรียตัวแสบๆ ที่อาจสร้างปัญหาอยู่แล้วอย่างครบครัน
และนั่นคือสาเหตุที่ทำไมออตโตถึงคิดนมสูตรใหม่ใส่อาจมขึ้นมา
แม้จะเป็นการทดสอบไอเดียขั้นต้นว่านมผสมขี้จะมีผลดีจริงหรือไม่ ทีมแพทย์ของออตโตก็ยังทุ่มเทวางแผนการวิจัยแบบจัดหนักจัดเต็ม เพราะแนวคิดสุดโต่งแบบนี้ ถ้าออกมาแบบมาไม่ดี น่าจะมีทัวร์ลงจากทุกสารทิศ
และเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถตีความและแปลผลได้อย่างน่าเชื่อถือ ไม่มีข้อกังขา และข้อครหา ทีมของออตโต้ได้จึงออกแบบงานวิจัยโดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trials หรือ RCT) และผลที่ได้ก็ออกมาน่าสนใจมาก เขาเปิดเผยว่านมสูตรที่แปลกประหลาดชวนแหวะของเขานี้ ให้ผลดีกับทารกผ่าคลอดอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ สังคมไมโครไบโอตาของพวกเขาก็ดูดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ผลการวิจัยเบื้องต้นของออตโตสะเทือนเลื่อนลั่นจนถึงขนาดที่มาเรียนา เลนฮาโร (Mariana Lenharo) นักข่าวของวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง nature ต้องไปสัมภาษณ์เอามาเขียนเป็นสกู๊ปข่าว
แต่หัวข้อข่าวของนางช่างเรียกแขก ‘มิลค์เชคอาจม’ ยกระดับสังคมจุลินทรีย์ในทารกผ่าคลอด (‘Poo milkshake’ boosts the microbiome of c-section babies)”
แน่นอนว่านี่ยังเป็นแค่การทดลองขั้นแรกๆ แค่พยายามจะพิสูจน์ว่าไอเดียนี้น่าจะเวิร์ก สิ่งที่ชัดเจนก็คือการทดลองนี้ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ไม่ควรทำที่บ้านหรือทำเองเพราะความเสี่ยงในการติดโรคที่ไม่คาดฝันก็ยังมีอยู่มาก ถ้าสกรีนอุจจาระมาได้ไม่ดีพอ ยังคงมีอะไรที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไป คงอีกนานกว่าที่เทคโนโลยีจะพร้อมใช้จริงได้ในคลินิก
แต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นนมสูตรพิเศษ หรือ มิลค์เชคอาจม ยังไงมีขี้ผสมอยู่ ยอมรับว่าไอเดียทะลุกรอบและน่าสนใจมาก แต่ถ้าให้เอาเข้าปาก ผมคนหนึ่ง คงต้องขอคิดอีกหลายๆ ตลบ…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022