น้ำท่วมใหญ่ที่เชียงใหม่ กับโจทย์ที่ใหญ่ยิ่งกว่าของสังคมไทย

(Photo by Handout / ELEPHANT NATURE PARK / AFP)

นํ้าท่วมเมืองเชียงใหม่ 2 ครั้งในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา (24-25 กันยายน และ 4-5 ตุลาคม 2567) นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งที่ 2) และมีความสำคัญอย่างยิ่งอย่างน้อยถึง 7 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ

หนึ่ง ปริมาณน้ำปิงสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คือถึงระดับ 5.30 เมตร เทียบกับก่อนหน้านี้ ที่ไม่เคยสูงเกิน 4.80 เมตร

สอง ปริมาณน้ำอันมากมายได้ท่วมพื้นที่เป็นวงกว้างเป็นส่วนใหญ่ของ อ.เมือง, อ.แม่ริม และ อ.สารภี อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สาม ภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายที่แผ่กว้างและใหญ่หลวงอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เนื่องจากดินแดนในแถบ 3 อำเภอดังกล่าวได้มีประชากรชาวเชียงใหม่ดั้งเดิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ตลอดจนคนจากจังหวัดอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัย และทำธุรกิจต่างๆ อย่างมากในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ดินแดนลุ่มน้ำแม่ปิงจึงมีผู้คนมากมายและมีอาคารบ้านพักและหน่วยธุรกิจ อุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องมือต่างๆ และอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตสมัยใหม่จำนวนมาก

และทั้งหมดนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สี่ การเติบโตอย่างมากของเมืองเชียงใหม่ที่ครอบคลุมอำเภอรอบๆ ในห้วง 30 ปีมานี้ ทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็น เอกนครระดับภาค (Regional Primate City) หรือเมืองโตเดี่ยวของภาคแห่งเดียวของประเทศนี้ อันเป็นผลพวงต่อจากการเติบโตอย่างมหาศาลของกรุงเทพฯ ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศนี้นับตั้งแต่การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 มาใช้เริ่มในปี พ.ศ.2504 ความใหญ่โตดังกล่าวของกรุงเทพฯ เป็นสภาวะ เอกนคร (Primate City) เรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า “เมืองโตเดี่ยว” เป็นสภาวะที่ประเทศหนึ่งมีเมืองเดียวที่ใหญ่โตมากกว่าเมืองอื่นๆ ในประเทศนั้นหลายสิบเท่า*

เมื่อกรุงเทพฯ เติบโตมากจนประเทศขาดภาวะสมดุลของการพัฒนา และได้สร้างปัญหาหลายด้านติดตามมา ทั้งยังไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีจากรัฐ ผู้คนจำนวนหนึ่งจึงออกไปแสวงหาเมืองอื่นเพื่อเป็นทางเลือกในการดำรงชีวิตและสร้างงานใหม่ๆ ประกอบกับนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ปล่อยให้มีการส่งเสริมกิจกรรมมากมายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซ้ำรอยความผิดพลาดของรูปแบบเอกนคร

นี่คือลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่มิใช่ลักษณะทั่วไปของโลกที่เมืองต่างๆ มีขนาดไม่ต่างกันมากจนเกินไป สถานการณ์พิเศษของไทยเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะการตัดสินใจเกิดขึ้นที่ส่วนกลางเพียงแห่งเดียว

 

ห้า ปรากฏการณ์ฝนตกลงมาอย่างหนักโดยรวมศูนย์อยู่ในเขตเดียวคือตอนเหนือของลำน้ำปิงแถบอำเภอเชียงดาว แม่แตง และพร้าว เป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน จนเกิดปริมาณฝนตกมากถึง 800 มิลลิเมตร ที่เรียกในภาษาวิชาการว่า Rain Bomb (ระเบิดฝน) ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเป็นผลของ “สภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ” (Climate Change) ที่ส่อว่ายังจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้อีกหลายๆ ครั้งในวันข้างหน้า นับเป็นผลพวงของปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่อันเป็นปัญหาระดับโลกที่สังคมไทยจะต้องตระหนักและร่วมกับชาวโลกในการค้นหาแนวทางแก้ไขสู่อนาคต

หก น้ำท่วมครั้งล่าสุดที่เมืองเชียงใหม่คราวนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต นั่นคือ การมีโคลนตมปะปนมากับปริมาณน้ำ และเมื่อน้ำปิงแห้งเหือดลง มีปริมาณโคลนตมหลงเหลือบนพื้นดินประมาณ 2 คืบ ขณะที่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในอดีต ไม่เคยพบปรากฏการณ์โคลนตมติดมากับน้ำท่วมเลยในห้วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา

แน่นอน แม้ปริมาณโคลนตมไม่มากมายเท่ากับที่เกิดขึ้นในอำเภอแม่สาย (ที่ปริมาณโคลนตมสูงถึง 2 เมตร) ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏการณ์ที่อำเภอแม่สายและเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ผ่านมามีการทำลายพื้นที่ป่าไม้อย่างมาก ทำให้หน้าดินไม่ได้รับการดูแลปกป้อง

และสุดท้าย ข้อที่เจ็ด พร้อมกันกับการเติบโตของเอกนครระดับภาค ที่เมืองเชียงใหม่ ในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดการขยายตัวของหน่วยราชการของรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมืองเชียงใหม่มีสถาบันอุดมศึกษาถึง 11 แห่ง (เทียบกับจำนวนศูนย์แห่งที่จังหวัดลำพูนและแม่ฮ่องสอน-เพื่อนบ้านของจังหวัดเชียงใหม่ และมีสถาบันอุดมศึกษา 2 แห่งที่จังหวัดเชียงราย และ 1 แห่งที่จังหวัดพะเยา)

มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติถึง 20 แห่ง และจำนวนหน่วยบริหารราชการส่วนกลาง 256 แห่งจากการสำรวจในปี พ.ศ.2566 เทียบกับจำนวน 194 แห่งที่สำรวจได้ในปี พ.ศ.2535)**

 

คําถามคือ การเติบโตของจำนวนหน่วยราชการมากมายเช่นนี้หมายถึงอะไร ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ยังมีปัญหางบประมาณและอำนาจจำกัดในการบริหารจัดการปัญหาท้องถิ่นของตนเอง ได้สร้างปัญหาอะไรบ้างต่อการพัฒนาประเทศ

และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ประสิทธิภาพของหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปัญหาโคลนตม และปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนการประสานงานและการทับซ้อนของหน่วยงานเหล่านี้ในภาพรวมในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น ฯลฯ

กล่าวในภาพรวม 7 สภาพการณ์ที่ได้กล่าวมานี้ และคำถามอื่นๆ ที่ห้อมล้อมและยังจะมีผู้นำเสนอต่อไปอีก เป็นทั้งการบ้าน และคำถามที่ท้าทายรัฐ องค์กรต่างๆ และประชาชน ที่จะต้องตอบ และหาทางแก้ไขเพื่อเตรียมความพร้อมกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างฉับไว

มิใช่เลื่อนออกไปๆ เช่นที่ผ่านมา

 

การเสวนาครั้งสำคัญ

ได้มีการจัดรายการเสวนาสำคัญ 2 ครั้งในเชียงใหม่

ครั้งแรกจัดวันพุธที่ 16 ตุลาคม โดยภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มช. หัวข้อ “น้ำท่วมเชียงใหม่ ตุลาคม 2567 อดีต ปัจจุบัน อนาคต” มีนักวิชาการ 3 คนเป็นวิทยากร

ครั้งที่ 2 จัดวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม โดยภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ หัวข้อ “หรือเราจะอยู่กันอย่างนี้? น้ำท่วม ภัยหนาว ฝุ่นควันไฟป่า” วิทยากร 3 คน เป็นภาคประชาสังคม นับว่าเป็นการจัดรายการที่ทันเหตุการณ์และยอดเยี่ยมทั้งคู่

ในการเสวนาครั้งแรก ศ.ดร.ทวีศักดิ์ ระมิงค์วงศ์ นักธรณีวิทยาซึ่งสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ได้กล่าวถึงความสำคัญของน้ำกับเมืองในอดีต โดยพญามังราย-ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ผู้สร้างเวียงเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.1839 และผ่านไป 728 ปีแล้วจนถึงปีนี้ เวียงเชียงใหม่ในเขตกำแพงเมืองชั้นในยังไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมแม้แต่หนเดียว

ขณะที่ริมฝั่งน้ำแม่ปิงทั้ง 2 ฝั่งประสบปัญหาน้ำท่วมตลอดมาโดยเฉพาะครั้งนี้ถือว่าเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายแก่ประชากรของเมืองอย่างหนัก

บทเรียนคือ เมืองที่อยู่ในเขตฝนชุก จะจัดผังเมืองและคำนึงถึงฤดูน้ำหลากอย่างไร จะติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องสภาพธรรมชาติและเตรียมการป้องกันและเตือนภัยอย่างไร

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิศวกรรมโยธา และหัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มช. กล่าวถึงความรุนแรงที่สุดของภัยน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ว่าเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักถึงระดับ 800 มิลลิเมตรใน 2 วันในเขตแม่น้ำปิงตอนเหนือ สูงกว่าปริมาณปกติหลายร้อยเท่าในฤดูฝนทั่วไป

การเกาะตัวของเมฆฝนที่หนาทึบเป็นเวลากว่า 2 วันในพื้นที่ดังกล่าวและก่อให้เกิด ระเบิดฝน (Rain Bomb) ที่ไม่เคยมีมาก่อน และคาดกันว่าเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกในยุคต่อจากนี้

ผศ.วรงค์ วงศ์ลังกา นักวิชาการด้านสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมแห่งศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา มช. ได้เปิดเผยผลการศึกษาฝายพญาคำซึ่งเป็นแหล่งระบายน้ำจากแม่น้ำปิงสู่ที่ราบฝั่งตะวันออกเพื่อการเกษตรว่า เมืองกับน้ำในพื้นที่เขตศูนย์สูตรที่มีฝนตกชุก เป็นของคู่กันที่ทุกฝ่ายจะต้องไม่ลืมสิ่งนี้ ที่ผ่านมาได้เกิดความล้มเหลวหลายด้าน

เช่น การปล่อยให้ที่เหมาะแก่เกษตรกรรมกลายเป็นที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์มากเกินไป

การสร้างถนนอันเป็นความนิยมของโลกสมัยใหม่แต่กลับไม่ศึกษาทางเดินและปริมาณของน้ำฝนในแต่ละปี

การสร้างถนนขวางทางน้ำและทำให้พื้นที่ถนนสูงเกินไปจึงเป็นปิดกั้นทางเดินของน้ำและย่อมสร้างปัญหาในระยะยาว

 

ในการเสวนาครั้งที่ 2 คุณศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร นักธุรกิจเจ้าของโรงพิมพ์ ฯลฯ เสนอ 2 ประเด็นสำคัญคือ

1. เนื่องจากได้รับข่าวสารจากหลายด้านจึงเตรียมตัวเป็นพิเศษจนสะดุ้งตื่นกลางดึกเมื่อน้ำกำลังเข้าเขตบ้านที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต จึงสามารถเคลื่อนย้ายเครื่องทำการพิมพ์ทั้งหมดได้ทัน ขณะที่โรงพิมพ์อื่นๆ ได้รับข่าวสารช้า เคลื่อนย้ายไม่ทันจึงประสบความเสียหายอย่างมาก

ข้อ 2. ไม่เข้าใจว่าเหตุใดไม่มีหน่วยงานแถลงข่าวกลางของภาครัฐที่ทุกฝ่ายทราบข่าวสารได้พร้อมและตรงกันทั้งหมด หลายวันต่อจากนั้น เมื่อมีการพบปะสื่อสารกัน ก็ยังพบว่าข่าวแจ้งเตือนภัยและข่าวความสูงของน้ำแม่ปิงจากหลายแหล่งไม่ตรงกันซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น

คุณอภิบาล สมหวัง คนรุ่นใหม่แห่ง กลุ่มนีโอล้านนา เสนอประเด็นว่า

1. ได้ไปที่แพร่และกลับมาที่เชียงใหม่ขณะที่มีปัญหาน้ำท่วม พบว่าปัญหาข้อมูลขาดความเป็นเอกภาพและขาดการเตือนภัยเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

2. ไม่เห็นบทบาทชัดเจนของเทศบาลนครเชียงใหม่และ อบจ. และผู้ว่าฯ ที่ควรออกมายืนหน้าสุดในยามเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ พร้อมกับยกบทเรียนการจัดการในญี่ปุ่นและอาเซอร์ไบจานที่ท้องถิ่นมีบทบาทโดดเด่น มีกฎหมายให้ท้องถิ่นเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อต้องเผชิญภัยธรรมชาติเร่งด่วน ไม่ใช่รอฟังส่วนกลาง

คุณอธึกกิต แสวงสุข นักหนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯ ที่มาสำรวจและรับฟังปัญหาน้ำท่วมที่เชียงราย-เชียงใหม่พบว่า

1. การบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ประสานกันหรือท้องถิ่นที่มีอำนาจจำกัดกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กลายเป็นปัญหาระดับประเทศที่ควรมีการสังคายนากันโดยเร็ว

และ 2. ปัญหาโคลนตมที่มากับน้ำท่วมเป็นปัญหาระดับชาติเช่นกันที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมปัจจุบันจะต้องมีการแก้ไขโดยด่วน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนำการเสวนา 2 ครั้งนี้มาพิจารณาร่วมกัน เราจะพบว่า ขณะที่รายการแรกเน้นข้อมูลภาควิชาการและฝ่ายรัฐ รายการที่ 2 เป็นมุมมองจากท้องถิ่น แน่นอนว่า เป็นการมองจากคนละมุมในหลายส่วน และเพราะทุกๆ ฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีการเสวนาครั้งที่ 3 นั่นคือ การหันมารับฟังปัญหาและความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายเพื่อร่วมกันอภิปรายหาปัญหาและทางออกร่วมกันไปสู่อนาคต

ดังที่ได้พูดถึงบางส่วน

เช่น 1. การทำลายป่าในอดีตโดยไม่มีการฟื้นสภาพเพียงพอต่อการซับน้ำ

2. การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำจนเชื่อว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้

3. การทำให้ฝั่งแม่น้ำหดแคบด้วยวิธีการต่างๆ

4. การทำลายพื้นที่ที่เคยใช้รับน้ำในอดีต การนำเอาพื้นที่เกษตรไปทำอย่างอื่น

5. การจัดระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจที่ใหญ่โตและสลับซับซ้อน เกิดความเหลื่อมล้ำของหน่วยงานต่างๆ ฯลฯ

จากทั้ง 5 ประเด็นและปัจจัยอื่นๆ วันนี้โลกที่ร้อนขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งขึ้นต่อจากนี้ กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนสำหรับทุกคนที่จะต้องเผชิญร่วมกัน

โจทย์เบื้องหน้าจึงใหญ่โตและท้าทายอย่างยิ่งต่อภาครัฐในระดับชาติที่เน้นรวมศูนย์อำนาจและส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบดังกล่าวไปทั่วทั้งประเทศ และการประเมินบทบาทของหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในพื้นที่, บทบาทจำกัดขององค์กรปกครองท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกๆ ชีวิต

 

น่าสังเกตว่าในการเสวนาครั้งแรก ได้มีนักธุรกิจจำนวนมากเข้าฟังและได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างน่าชมเชย แต่เนื่องจากเวลาจำกัด การเสวนาจึงเป็นเพียงการพูดให้ฟัง ไม่มีเวลาที่จะอภิปรายและตอบข้อสงสัยหรือหาทางออกร่วมกัน เพราะยังต้องถามความเห็นจากอีกหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังเช่น ฝ่ายข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำฝน พื้นที่ป่ารับน้ำได้เพียงใด การเตือนภัยอย่างฉับไว ถูกต้อง และให้ทั่วทั้งรับรู้ร่วมกันทันที ส่วนการเสวนาครั้งที่ 2 ก็เป็นการพูดคุยกันเองในหมู่คนทั่วไป

ในโอกาสที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม ข้อเท็จจริงจากรอบด้านจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ น้ำท่วมครั้งล่าสุดที่ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง