ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
อายุอานามเท่าผมที่เห็นหมายเลขเจ็ดมาเคาะประตูบ้านอยู่ตรงหน้า เพียงแค่ต้องไปหาหมอตามที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าถือว่าเป็นการดีวิเศษยิ่งกว่าการต้องไปหาหมอแบบฉุกเฉินมากมายอยู่แล้ว เพราะเป็นสัญญาณว่าร่างกายของเรายังพอไหวอยู่
ไหวพอที่จะเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลตามนัดหมายได้โดยไม่ต้องนอนไปในรถพยาบาล แค่นี้ก็ควรดีใจแล้ว
ผมสังเกตเห็นได้เองว่า พักหลังนี้มีผู้ทักทายผมว่า “อาจารย์ยังแข็งแรงอยู่เลยนะคะ” บ่อยกว่าแต่ก่อน
นั่นน่าจะแปลได้ว่า ในสายตาของผู้เป็นคู่สนทนา การได้รู้จักหรือพบเห็นผมผ่านช่องทางต่างๆ มาเป็นเวลานาน
ประกอบกับผมบนหัวของเราก็มีสีขาวมากกว่าสีดำแล้ว ย่อมทำให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจอายุที่ถูกต้องของผมว่าไม่น้อยเลย
แต่การที่ยังออกไปอาละวาดอยู่ตามที่ต่างๆ ได้นั้น ย่อมถือว่ามีความแข็งแรงพอสมควร มีสุขภาพดีพอไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องนั่งรถเข็นหรือนอนนิ่งอยู่กับบ้าน
ทุกครั้งที่มีผู้คนกรุณามาทักทายเช่นนั้น คำตอบจากผมก็จะเป็นไปในแนวว่า “ขอบคุณ ก็ยังพอเดินไหวครับ” ว่าแล้วก็ยิ้มแห้งๆ ประกอบคำอธิบายสังขารของตัวเอง
เอาเข้าจริงแล้วผมก็ไม่ได้แข็งแรงอะไรนักหนา ที่เห็นได้ชัดเจนคือหูเริ่มตึงขึ้น อย่างที่หลายคนบอกกันว่าพออายุมากแล้วอะไรก็หย่อนยานไปหมด เหลือตึงอยู่อย่างเดียว คือหูนี่แหละ
นี่ไปเข้าห้องทดสอบการได้ยินมาแล้วครับ ได้ความว่าหูตึงจริง นี่กำลังต้องตัดสินใจว่าตึงพอที่จะใช้เครื่องช่วยฟังใส่ไว้ในหูเป็นประจำแล้วหรือยัง สถานการณ์ยังกำกวมก้ำกึ่งอยู่ครับ
ที่ตามมาพร้อมกันกับหูตึงแบบชิงไหวชิงพริบกันน่าดู คืออาการที่ตาเป็นต้อกระจก เรื่องนี้มีอาการบอกเหตุและคุณหมอได้ช่วยดูแลติดตามมาในราวสามปีแล้ว
พบกันครั้งสุดท้ายคุณหมอบอกว่า ต้นปีหน้าน่าจะได้อุดมพิชัยมงคลฤกษ์ที่จะผ่าตัดแล้ว คุณหมอว่าอย่างนั้น เราจะไปโต้เถียงอะไรได้นอกจากก้มหน้ารับคำโดยดุษณี
นอกจากหูตึงตามัวแล้ว ผมยังมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอีกสองสามอย่าง ประเดิมอย่างแรกเป็นโรคที่อยู่กับชีวิตผมมากว่า 20 ปีแล้วคือโรคกรดไหลย้อน
ถ้าจำไม่ผิดก็เริ่มเป็นมาตั้งแต่ราวพุทธศักราช 2542 โน่น ทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยความคุ้นเคยจนเป็นเกลอแล้ว โรคต่อมาคือ ความดันโลหิตสูง (เล็กน้อย)
คำว่า” เล็กน้อย” นี่คุณหมอไม่ได้พูดนะครับ ผมพูดเอาเอง แต่พูดแล้วสบายใจเป็นบ้า
โรคประจำตัวอีกรายการหนึ่งคือ อาการหลอดลมอักเสบซึ่งผมเคยเป็นเมื่อหลายปีก่อนและยังต้องดูแลใกล้ชิดอยู่เสมอ
เวลาทำอะไรเหน็ดเหนื่อยเข้าหน่อย อาการก็จะปรากฏชัดขึ้นทุกคราว เวลาเดินไปไหนมาไหน ผมจึงบอกกับผู้ร่วมเดินทางเสมอว่า ผมยังพอเดินได้อยู่ เดินไกลก็เดินได้ แต่ต้องค่อยๆ เดินช้าๆ ถ้าต้องขึ้นบันไดหลายขั้นก็ต้องหยุดพักหลายครั้งหน่อย
ล่าสุดนี้เพิ่งไปทดสอบคุณภาพการนอนหลับมา คุณหมอบอกว่าผมมีอาการหยุดหายใจระหว่างนอนในขั้นรุนแรง
ต่อไปจะต้องใช้เครื่องมือช่วยเหลือแล้ว กำลังนำมาทดสอบและเลือกยี่ห้อกันต่อไป
การไปหาคุณหมอหลายโรค แต่ละโรคก็มีคุณหมอเจ้าของไข้โดยเฉพาะแบบนี้ ทำให้ผมต้องไปโรงพยาบาลแทบจะไม่เว้นเดือน
เช่น สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปมาเสียสามครั้งแล้ว เป็นการพบกับคุณหมอแบบตัวจริงสองรอบ สองวาระนี้ต่างคุณหมอกันนะครับ ไม่ใช่คนเดียวซ้ำเดิม บวกด้วยอีกหนึ่งรายการเจาะเลือดเพื่อเตรียมข้อมูลไว้ให้คุณหมอสั่งยา สองบวกหนึ่งรวมเป็นสามพอดี
ล่าสุดเพิ่งไปหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจมาเช้าวันนี้ ผมยังไม่ถึงกับจะมีอาการโรคหัวใจมากมาย แต่เพื่อความรอบคอบ คุณหมอซึ่งรู้จักกันมานมนานได้ติดตามอาการของผมในเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว
บางครั้งก่อนพบกันคุณหมอก็สั่งให้ผมไปเจาะเลือดบ้าง ไปเอ็กซเรย์บ้าง ไปทดสอบเรื่องโน้นเรื่องนี้สุดแต่คุณหมอจะคิดว่าเหมาะสม พอไปปฏิบัติตามคำสั่งเรียบร้อย ก็นำผลมารายงานคุณหมอพร้อมกับพบปะสนทนาเล็กน้อยก่อนลากลับบ้าน
โดยไม่ลืมสั่งยาอะไรต่อมิอะไรให้กลับมากินด้วย
ระหว่างที่คุณหมอนั่งอ่านข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของผมที่ปรากฏอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ในห้องตรวจ คุณหมอปรารภว่า คนไข้สมัยนี้แต่ละวันขยันที่จะไปอ่านข้อมูลจาก LINE กลุ่มต่างๆ หรือจากสื่อออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการกินยา การปฏิบัติตนเพื่อดูแลสุขภาพต่างๆ นานา ก็เชื่อแบบเอาจริงเอาจัง และเชื่อหนักหน่วงมากกว่าเชื่อคำพูดของหมอที่พบกันแบบตัวเป็นๆ เสียอีก
โดยที่ข้อมูลออนไลน์เหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ปรากฏแหล่งที่มาเลย ใครเขียนก็ไม่รู้ แต่ก็เชื่อไปแล้ว และเมื่อเชื่อแล้วก็เลิกเชื่อยากเสียด้วย
พอพบหน้าคุณหมอตัวจริง ก็ขยันที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาถามคุณหมอว่า จริงหรือไม่ พอคุณหมอชี้แจงว่าไม่จริง ก็เถียงคุณหมอแบบคำไม่ตกฟาก
ว่าแล้วก็เชื่อข้อมูลออนไลน์เหล่านั้นต่อไป ฮา!
ผมเคยพูดในที่นี้มาแล้วบางครั้งว่า ในแต่ละวันของชีวิต คนไทยจำนวนไม่น้อยซึ่งรวมทั้งผมด้วยได้รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์มากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบ้านการเมือง สุขภาพอนามัย เศรษฐกิจการลงทุน ข่าวสารเรื่องการดีกันโกรธกันระหว่างประเทศ เรื่อยไปจนถึงหมูเด้งหมูแดง
หลายครั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นมาพร้อมด้วยภาพประกอบ หรือเป็นคลิปมาเลยทีเดียว มีการอ้างอิงถึงบุคคลที่น่าเชื่อถือประกอบเรื่องเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับข้อมูล เมื่ออ่านหรือดูแล้วชวนให้ “ของขึ้น” อยากจะแชร์ อยากจะเชื่อขึ้นมาทุกที
ผมมีข้อสังเกตซึ่งยังไม่มีหลักฐานเป็นงานวิจัยอะไรสนับสนุน แต่อยากจะฝากไว้ให้คิดหรือช่วยกันศึกษา เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องการหลงเชื่อข้อมูลออนไลน์อย่างที่กล่าวมาข้างต้น แถมยังอาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ ที่กว้างขวางกว่านั้นอีกด้วย
ข้อสังเกตที่ว่าคือ ระบบการศึกษาอบรมและถ่ายทอดความรู้ของบ้านเราเน้นที่ความจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์
ลองกลับไปดูการศึกษาในชั้นมัธยมของเราซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของความเป็นเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และประชากรส่วนใหญ่ของเราก็มีความรู้อยู่ในระดับนั้นตามระบบการศึกษาภาคบังคับ มีประชากรส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมากกว่าชั้นมัธยม
การเรียนของเราเน้นการเรียนในห้อง มีคุณครูยืนเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าชั้นเรียน ครูพูดอะไรก็ต้องเชื่อ ถ้าลุกขึ้นเถียงครูเมื่อไหร่เป็นอันว่าอนาคตหดสั้นแน่นอน
คุณครูสอนอะไรก็มักจะออกข้อสอบตามนั้น ข้อสอบจึงวัดความทรงจำของนักเรียนเป็นหลัก จำแม่นก็ได้คะแนนมาก การศึกษาของเราส่วนใหญ่แล้วจำกัดแวดวงการศึกษาหาความรู้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ระบบไม่ได้เอื้อให้นักเรียนทำอะไรมากไปกว่านั้น สิ่งที่ครูพูดต้องถูกเสมอ
ผมในฐานะที่เป็นครูมา 40 กว่าปี ผมพร่ำบอกกับตัวเองเสมอว่า ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนที่พูดอะไรแล้วจะต้องถูกต้องแม่นยำในทุกเรื่องเสมอไป คนเราพลาดกันได้ ขอเพียงความพลาดกันนั้นอย่าให้เกิดจากความประมาทเลินเล่อจนถึงขนาด หรือเกิดขึ้นจากความตั้งใจจะพูดคำเท็จ
ถ้าผมพูดอะไรที่คลาดเคลื่อนหรือบกพร่องไปบ้างแล้วนักเรียนของผมมีความเห็นต่าง มีข้อมูลที่แม่นยำกว่า เรามาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกันอย่างกัลยาณมิตร ผมว่าสิ่งนั้นคือบรรยากาศของห้องเรียนที่สร้างสรรค์และเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างแท้จริง
เคียงคู่กันกับหลักสำคัญที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องเชื่อข้อมูลชุดเดียวจากผู้ใดผู้หนึ่ง สิ่งที่ยังพร่องอยู่ในสังคมไทย คืออุปนิสัยที่รักการขวนขวายหาความรู้จากแหล่งต่างๆ และนั่นหมายความรวมถึง แหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้มีทรัพยากรมากกว่ามนุษย์ธรรมดาสามัญ
ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์หรือเพจออนไลน์ทั้งหลายที่คนไทยยุคปัจจุบันนิยมเข้าไปค้นคว้าหาความรู้ และคนไทยที่ว่านี้ก็หมายความรวมทั้งผมด้วย เมื่อเข้าไปอ่านพบข้อมูลอะไรแล้ว ผมเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ 100% ขอให้ถือว่าเป็นแต่เพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสอบยืนยันกับข้อมูลอื่นๆ ต่อไป
ข้อมูลอื่นๆ นั้นยังมีอีกหลายแหล่ง ขอแต่ให้เรารู้จักวิธีค้นหาเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ผมรู้จักคุ้นเคยกับน้องๆ ที่ทำงานในสายสื่อมวลชนหลายคน เมื่อเวลาเขาจะอ้างอิงอะไรให้เป็นหลักเป็นฐานประกอบข่าวที่จะรายงาน ผมได้ทราบว่าเขาไม่ใช้วิธีเปิดเว็บไซต์ยอดนิยมในเรื่องข้อมูลเพียงแค่เว็บไซต์เดียว
ต้องตั้งหลักคิดเบื้องต้นว่า ให้อ่านไปพลางแล้วตั้งคำถามไปพลาง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญและจะให้ปลอดภัยก็ต้องเช็กกับแหล่งข้อมูล เช่น หนังสือสารานุกรม หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ไปสอบถามบุคคลที่เชื่อถือได้ เช่น ผม เป็นต้น ฮา!
ยิ่งถ้าข้อมูลตีกันหรือขัดแย้งกันก็ต้องพยายามค้นคว้าให้หนักยิ่งขึ้น แม้ทำไปสักระยะหนึ่งแล้ว ข้อมูลยังไม่ลงตัวไปในทางหนึ่งทางใด ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ก็อย่าโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยง
จงก้มหน้าก้มตาทำการบ้านต่อไปเพื่อให้ได้ความจริงแท้ในที่สุด
ถ้าเราวางหลักอย่างนี้ไว้ให้แม่นยำในหัวใจ ข้อมูลใน LINE ต่างๆ ที่เพื่อนส่งมาให้พร้อมกับสวัสดีวันจันทร์วันอังคาร อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อครับ หลายคนกินยาผิดยาถูกมาแล้วเพราะอ่าน LINE นี่แหละ ทุกอย่างต้องทบทวนตรวจสอบอยู่เสมอ
และไม่เฉพาะแต่เรื่องหยูกยาหรือการดูแลรักษาสุขภาพเท่านั้น
ยังรวมถึงเรื่องอื่นอีกมาก และโดยเฉพาะยิ่งเรื่องใดก็ตามที่มีมิติทางการเมืองยิ่งร้ายนักทีเดียว
ในแต่ละวันมี LINE ที่ส่งข่าวสารให้คุณให้โทษในทางการเมืองฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มาให้เราได้ผ่านตาอยู่เสมอ
ขนาดครูของเราพูดอะไรยังต้องตรึกตรองให้มาก นี่ใครก็ไม่รู้ พูดอะไรก็ไม่รู้แบบเลื่อนลอยมา เราจึงต้องมีสติให้มาก สอบทานดูเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ
ในเรื่องสุขภาพอนามัยจึงต้องระมัดระวังให้มากสำหรับข้อมูลที่เข้ามาสู่ความรับรู้ของเราแต่ละวัน
เชื่อแต่เฉพาะหลักฐานที่เชื่อถือได้เถิดครับ
จะได้อยู่อ่านบทความของผมไปนานๆ ไง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022