ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
สภ.อ.หาดใหญ่เป็นสถานีตำรวจเพียงแห่งเดียวเท่านั้นใน 14 จังหวัดภาคใต้ ในขณะเวลานั้นที่มีตำแหน่งสารวัตรจราจร และรองสารวัตรจราจร ซึ่งมีอำนาจทำการสอบสวนคดีจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.รถยนต์, พ.ร.บ.ขนส่งทางบก
รองสารวัตรจราจร ต้องเข้าเวรนายร้อยเวรสอบสวนคดีจราจร ผลัดละ 24 ชั่วโมงสลับกันไป สลับกับการเข้าเวรสายตรวจจราจรควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรที่มีจำนวน 38 นาย แบ่งเป็น 2 ชุด แต่ละชุดจะเข้าเวรผลัดละ 6 ชั่วโมง
ด.ต.วีระยุทธ พัฒธร เป็นหัวหน้าชุดที่ 1 จ.ส.ต.เกษม อารีย์รักษ์ เป็นผู้ช่วยมีรถจี๊ปสีเลือดหมูเป็นพาหนะ และ ด.ต.คณิต พุทธกูล เป็นหัวหน้าชุดที่ 2 มี จ.ส.ต.วิชัย ชูโตชนะ เป็นผู้ช่วยพร้อมกับรถกระบะสีดำ ประตูรถคาดขาวเป็นรถยนต์ประจำชุด
นอกจากนั้น ยังมีตำรวจจราจรที่ไปทำหน้าที่เป็นตำรวจเทศกิจ ช่วยงานเทศบาลเมืองหาดใหญ่ อีก 1 ชุด มี ด.ต.เริ่ม ธนะนิมิตร เป็นหัวหน้า ทำงานร่วมกับเทศบาลในการจัดระเบียบตลาดต่างๆ
เมื่อเป็นร้อยเวรตรวจ ต้องมาประชุมแถวตรวจยอดจำนวนตำรวจจราจรชุดที่เข้าเวร ก่อนที่ตำรวจจราจรจะออกไปทำหน้าที่ของแต่ละผลัด ปกติจะไปทำหน้าที่ประจำหน้าโรงเรียน สถานศึกษา อำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ชี้แจงภารกิจในแต่ละวันว่าวันนี้มีอะไรที่เป็นพิเศษบ้าง เช่น ต้องรับคณะบุคคล มีขบวนรถคนสำคัญ ใครบ้าง และจะตั้งจุดตรวจเวลาไหน ที่ไหน ให้มีความพร้อมก่อนออกไปทำหน้าที่
เมื่อเข้าเวรตรวจต้องประชุมแถวรวม 3 ครั้ง
ครั้งแรก เช้าเวลา 06.00 น. ตำรวจจราจรชุดที่ 1 เข้าเวร
ครั้งที่สอง ตอนเที่ยง 12.00 น. ตำรวจจราจรชุดที่ 2 เข้าเวร
และประชุมครั้งที่ 3 เมื่อถึงช่วงตอนเย็น 18.00 น. ตำรวจจราจรชุดที่ 1 จะกลับมาเข้าเวรเป็นครั้งที่สองในรอบวัน หลังจากได้พัก 6 ชั่วโมง สลับกันแบบนี้ ยังต้องคอยชี้แจงเรื่องข้อบกพร่องที่ตรวจพบ หรือชี้แจงการปฏิบัติตัวต่อประชาชนที่ใช้ยวดยานบนท้องถนน
เมื่อเสร็จจากการเข้าเวรตรวจ ต้องไปประจำจุดตรวจ เขตปลอดอาวุธตามนโยบายของกองทัพภาคที่ 4 ที่ต้องการให้หาดใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีความปลอดภัย จะต้องไม่มีอาวุธ เมื่อใครนำอาวุธปืนติดตัวมาจะต้องฝากอาวุธปืนนั้นไว้ที่จุดตรวจ เสร็จภารกิจจึงกลับมาเอาคืนได้
จุดตรวจมี 3 จุดด้วยกัน คือ จุดตรวจที่หน้าสวนสาธารณะ ถนนกาญจนวนิช
จุดตรวจที่บริเวณสามแยกคลองหวะ ถนนกาญจนวนิช (แรกๆ ยังไม่มีการตัดถนนเชื่อมให้เป็นสี่แยก)
และจุดตรวจบริเวณหน้าโรงไฟฟ้าควนลัง ถนนเพชรเกษม
ที่จุดตรวจต้องทำการตรวจค้นรถทุกคันทั้งคนในรถที่ผ่านเข้าไปหาดใหญ่ ต้องไม่มีอาวุธปืน ยาเสพติด หรือของผิดกฎหมาย
การเข้าเวรที่จุดตรวจนี้ มอบหมายให้ทั้งนายตำรวจที่เป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน รองสารวัตรปกครองป้องกัน และรองสารวัตรจราจร สลับกันไปทำหน้าที่ตามตารางการจัด ผลัดละ 6 ชั่วโมง
ส่วนการเข้าเวรที่โรงพักนั้น จะเข้าเวรคู่กับร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา ดังนั้น สภ.อ.หาดใหญ่ จึงมีร้อยเวรสอบสวน 2 คน คือ คดีอาญา กับคดีจราจร แต่จะไม่เกี่ยวข้องกัน งานใครงานมัน ฝ่ายสอบสวนก็เข้าเวรเฉพาะคดีอาญา ฝ่ายจราจรก็เข้าเวรรับผิดชอบเฉพาะคดีรถชน
จะไม่เข้าเวรข้ามไปข้ามมา
เมื่อย้ายสังกัดใหม่ เครื่องหมายตำรวจที่คอปกเสื้อของเครื่องแบบต้องเปลี่ยนกระหนกคอใหม่ ซึ่งทำด้วยเงิน รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนติดปกเสื้อ เบื้องซ้ายเปลี่ยนจาก รน หรือระนอง มาเป็น สข หรือสงขลา ส่วนปกเสื้อเบื้องขวายังคงเหมือนเดิม คือ ภ หมายถึง เป็นตำรวจภูธร หรือสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธร 4
และผมยังได้มาพบเพื่อนร่วมรุ่นที่อยู่ในโรงพักเดียวกันถึง 3 คน ได้ย้อนกลับมาทำงานร่วมกันกับ ร.ต.ท.นพดล เผือกโสมณ รอง สวป.สภ.อ.หาดใหญ่ที่เคยอยู่ระนองด้วยกันมา พบ ร.ต.ท.ณรงค์ มณีโชติ รอง สวส.สภ.อ.หาดใหญ่ และได้พบ ร.ต.ท.ภูมรินทร์ ประชาญสิทธิ์ รอง สวป.สภ.อ.หาดใหญ่ ซึ่งย้ายมาจาก รอง สวส.สภ.อ.เมืองนครศรีธรรมราช
นอกจากนั้นแล้วยังมีเพื่อนร่วมรุ่นอีกคนมีที่ทำงานติดกัน คือ ร.ต.ท.อนันต์ ขุนโสภา รอง สว.ตม.จว.สงขลา ทำงานตรวจคนเข้าเมือง
หน้าที่หลักของตำรวจจราจร นอกจากอำนวยการด้านการจราจรบนท้องถนน ในยามเช้าและหลังเลิกเรียน ตำรวจจราจรต้องไปปรากฏกายพร้อมให้ความสะดวกและปลอดภัยหน้าสถานศึกษาเป็นงานบริการที่เป็นปกติ และเมื่อมีบุคคลสำคัญเข้ามาในพื้นที่
รถยนต์วิทยุตำรวจหาดใหญ่ รถทางหลวงจะนำขบวนหรือปิดท้ายขบวนจากสนามบินหาดใหญ่ไปยังโรงแรมที่พักหรือสถานที่จัดงาน หรือผ่านไปยังจังหวัดสงขลาหรือจังหวัดอื่น ร้อยเวรตรวจหรือหัวหน้าชุดตำรวจจราจรจะใช้วิทยุสั่งการผ่านทางศูนย์วิทยุหรือศูนย์รวมข่าวหรือเรียกว่าศูนย์หนึ่ง ให้ตำรวจจราจรไปประจำจุด บริเวณทางร่วมทางแยกสำคัญ ก่อนขบวนจะผ่านเล็กน้อย เมื่อขบวนใกล้จะถึงจึงปิดการจราจรชั่วคราว และให้ขบวนผ่านไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งเตรียมสถานที่จอดรถของรถในขบวนหากอยู่ในหาดใหญ่
หลายคนไม่ทราบ รถที่ใช้ในขบวนเหล่านั้น เป็นรถยนต์เก๋งดูดีมีราคาแพง
เบื้องหลังส่วนใหญ่หรือเกือบจะทุกครั้ง ตำรวจจราจรหรือตำรวจหาดใหญ่ จะเป็นฝ่ายประสานงานจัดหามา
โดยติดต่อบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ นักธุรกิจ พ่อค้าคหบดีในหาดใหญ่ จะเป็นผู้สนับสนุน มอบรถให้บุคคลสำคัญใช้ในขบวน รถเบนซ์สีดำหลายคันของบริษัทเต็กบีห้าง จะเป็นเจ้าประจำ
จังหวัดสงขลาหรือหน่วยงานต่างๆ เมื่อมีประชุมรับคณะ ก็จะโยนภาระนี้ให้ตำรวจหาดใหญ่รับไปดำเนินการ จนเป็นประเพณีที่ปฏิเสธไม่ได้
เมื่อรับรถมา ก่อนใช้หรือหลังใช้ ต้องนำรถทุกคันไปล้างอัดฉีดให้สะอาดใหม่เอี่ยมและเช็กสภาพรถให้มีความพร้อม มีน้ำมันเต็มถัง
คณะสำคัญจะใช้ตำรวจจราจรเป็นสารถีประมาณ 4 ถึง 5 คนอีกด้วย
แทบจะทุกเรื่อง สากกะเบือยันเรือรบ สุดท้ายลงที่จราจร รวมทั้งการถูกด่าหากรถเสียหาย คือรับทุกหน้า
ปี พ.ศ.2529 ผ่านพ้นไปแล้วอีกปี ก้าวสู่ปีใหม่ พ.ศ.2530 ด้วยการเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีจราจร ด.ต.คณิต พุทธกูล หัวหน้าชุดตำรวจจราจร ที่มีผู้ช่วย คือ จ.ส.ต.วิชัย ชูโตชนะ พร้อมรถสายตรวจจราจรเป็นรถกระบะสีดำคาดขาว ได้จับกุมนายหมัดอุเส็นเซ็นกุนาง ส่งให้ผมดำเนินคดี เป็นประเดิมคดีแรกรับปีใหม่ ในข้อหา ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ขับรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต
เหตุเกิดตำบลหาดใหญ่ ศาลแขวงสงขลา มีคำพิพากษาว่าผิดจริง ตามคดีดำที่ 8/2530 คดีแดงที่ 8/2530 ลงวันที่ 2 มกราคม 2530 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำรอ 1 ปี
แล้วผมก็เข้าเวรเป็นนายร้อยเวรสอบสวนคดีจราจรอย่างต่อเนื่อง สลับกับการเข้าเวรออกตรวจควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจร และไปประจำจุดตรวจปลอดอาวุธหน้าโรงไฟฟ้า หรือไม่ก็ไปประจำจุดตรวจหน้าสวนสาธารณะ กับจุดตรวจสามแยกคลองหวะ
สภาพการทำงานที่หาดใหญ่แตกต่างจากระนองมาก ในด้านสภาพพื้นที่ กว้างขวางมาก หากเกิดเหตุคนละฟากพื้นที่ ต้องใช้เวลาเดินทางนาน เป็นโรงพักขนาดใหญ่ มีตำรวจมาก พบผู้คนมากมาย หลากหลาย ความหนักไม่ต่างกัน
ทั้งยังต้องทำหน้าที่บริการ ดูแลผู้บังคับบัญชาเมื่อได้รับคำสั่ง นำบุคคลไปสถานที่ต่างๆ จัดการขบวนของคณะบุคคลที่เข้ามาในพื้นที่ตลอดเวลา งานบริการที่เพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษจึงเป็นงานหนัก
งานหลักยังต้องทำหน้าที่สาละวนอยู่กับการเข้าเวรออกเวร จนวุ่นวายตลอดเวลา พักน้อย
งานสอบสวนคดีจราจร เป็นงานที่จุกจิกมากๆ เข้าเวรแต่ละรอบ มีเหตุรถชนกันบ่อยและถี่ ต้องออกไปดูสถานที่เกิดเหตุ พร้อมกับพลขับซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยร้อยเวร หรือผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ทั้งต้องนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลหรือไปส่งใบชันสูตรบาดแผลให้แพทย์ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ หรือส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ทุกคนจะเรียกกันว่า โรงพยาบาล ม.อ. หรือบางครั้งต้องไปโรงพยาบาลเอกชน
ถ้าอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตไม่ว่าในที่เกิดเหตุหรือที่โรงพยาบาล ต้องชันสูตรศพและส่งรายงานให้แพทย์ลงความเห็น เกิดเหตุแทบจะทุกครั้งมีผู้บาดเจ็บมากหรือน้อยเท่านั้น คนเดียวบ้าง หรือหลายคน
บางทีมีคนเจ็บทั้งคัน ถ้าบาดเจ็บเล็กน้อย สามารถเปรียบเทียบปรับในชั้นพนักงานสอบสวนได้ เมื่อคู่กรณีตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งกันได้
แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องสอบสวนดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
ถ้ามีผู้บาดเจ็บสาหัส รักษาเกินกว่า 20 วันตามที่แพทย์วินิจฉัย และออกใบรายงานการชันสูตรบาดแผลประกอบ จะต้องทำเต็มรูปสำนวนการสอบสวนแล้วเสนอให้อัยการเพื่อพิจารณาฟ้องต่อไป
คู่กรณีนั้นต้องการให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งตัวพนักงานสอบสวนจะต้องจดจำกฎหมายทั้งหลายโดยเฉพาะกฎหมายและระเบียบกฎข้อบังคับจราจรต้องแม่นยำไม่ผิดพลาด ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ หรือการตรวจสภาพรถคันเกิดเหตุจากผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้การพิจารณาง่ายขึ้น
คนสำคัญที่เป็นตัวช่วยในการไปที่เกิดเหตุ คือ พลขับรถร้อยเวร จะขาดไม่ได้เลย เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ต้องจอดรถร้อยเวรให้ถูกต้อง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และเปิดสัญญาณไฟวับวาบ เป็นการเตือนรถที่ผ่านไปมา มีการถ่ายภาพที่เกิดเหตุไว้
การวัดระยะสถานที่เกิดเหตุ ถนนกว้างกี่เมตร สภาพถนนเป็นอย่างไร ทิศทางของรถที่เกิดเหตุวิ่งกันไปทางไหน
รอยเบรกหรือร่องรอยห้ามล้อบนผิวถนนมีหรือไม่ ยาวเท่าไหร่
จุดที่เฉี่ยวชนกันเกิดตรงจุดไหน มีวัตถุชิ้นส่วนของรถตกอยู่หรือไม่ ห่างจากรถคันเกิดเหตุกี่เมตร เครื่องหมายจราจรบริเวณนั้นเป็นอย่างไร มีสัญญาณไฟจราจรหรือไม่ ถ้าเป็นเวลากลางคืน มีไฟส่องสว่างหรือไม่ ถ้ามี มากแค่ไหน สภาพการมองเห็นเป็นอย่างไร สภาพดินฟ้าอากาศขณะเกิดเหตุเป็นอย่างไร ท้องฟ้าแจ่มใส หรือฝนตก ถนนเปียกแฉะ มีน้ำท่วมขัง หรือถนนลื่น มีหลุมบ่อหรือไม่
ถ้ามีใครเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ ต้องรีบบันทึกชื่อที่อยู่ลงในสมุดทันที ต้องมีรายละเอียด จนจำลองลงในแผนที่เกิดเหตุให้ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ หากไม่มีผู้ช่วยแล้ว คนเดียวคงจะทำงานไม่ได้ และเมื่อตรวจสถานที่เกิดเหตุ วัดระยะ จัดการคนเจ็บ หรือคนตายแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ช่วยร้อยเวร นำรถคู่กรณีคันที่เกิดเหตุ กลับมายัง สภ.เพื่อตรวจสภาพหาร่องรอยและความเสียหายของรถต่อไป
เวลาที่เสียไปนานมากที่สุด คือ การนำคู่กรณีกลับมายัง สภ.เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใครเป็นฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบในทางกฎหมาย และในระหว่างนั้น ต้องกางแผนที่ที่ทำไว้ ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงและโต้เถียงประเด็นข้อสงสัย ถ้าแผนที่จัดทำละเอียดชัดเจนทั้งระยะที่ไปตรวจวัดเอาไว้ จุดที่เกิดเฉี่ยวชน จนปราศจากข้อสงสัย
การพิจารณาให้ความเป็นธรรมจะง่ายมากขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022