ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
นโยบายจีนต่อเมียนมาตั้งอยู่บนสมมุติฐานผิดๆ และกำลังเซาะกร่อนบ่อนทำลายผลประโยชน์ตัวเอง
น่าจะเป็นเหตุผลเบื้องต้นว่าทำไมจีนอยู่ผิดข้างในประวัติศาสตร์เมียนมา แล้วยังมีสิ่งที่อยู่ลึกกว่านั้น
ลองพิจารณาดู
นโยบายจีนต่อเมียนมา
หลังรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2021
หลังรัฐประหาร 2021 แม้จีนไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลเมียนมาที่ทหารตั้งขึ้นมาคือ State Administration Council-SAC ตรงกันข้าม จีนไม่ได้ห้ามการเคลื่อนไหวของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นอำนาจ
แต่ 2 ปีหลังรัฐประหาร จีนให้ทหารเมียนมามากมาย จีนขายอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา และมีเจ้าหน้าที่จีนทำงานในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเมียนมา มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ด้วย
ในเวลาเดียวกัน จีนช่วยขยายเครื่องมือการทูตให้เมียนมาด้วย
จีนไม่เคยเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เยือนปักกิ่ง (ตอนนี้มีข่าวว่าจีนเชิญแล้ว) เชิญแค่ พล.อ. Soe Win รองผู้บัญชาการทหารเมียนมาเมื่อกรกฎาคม 2024 แต่ก็เป็นการประชุมระดับพหุภาคี
จีนยังหนุนการตัดสินใจของอาเซียน ที่เชิญพวกที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองเมียนมา แต่ก็ให้เข้าประชุม แทร็ก 1.5 ที่ริเริ่มโดยไทย เพื่อติดต่อสัมพันธ์กับทหารเมียนมา
ความห่วงกังวลอันดับแรกของจีนคือ การปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน โดยเฉพาะท่อส่งน้ำมันและก๊าซในเมียนมา และเหมืองทองแดงที่ Wanbo
อีกเป้าหมายของจีนคือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐยะไข่ ที่สำคัญคือ ท่าเรือน้ำลึก จ้าวผิว (Kyauphyu)
ท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิวเป็นท่าเรือเล็กส่งออกและนำเข้าน้ำมันมาก่อน อยู่ใกล้กับ Shaw Gas ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง China National Petroleum Company และ the Ministry of Oil and Gas Enterprise เริ่มดำเนินการเมื่อ 20131
โดยท่อก๊าซมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และความยาว 770 กิโลเมตร ส่งไปยังเมืองคุนหมิง มลฑลยูนนานของจีน ผู้ลงทุนคือ PetroChina กลั่นน้ำมันได้ 7% แต่ได้มาจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือคือ มหาสมุทรอินเดีย เป็นการนำเข้าน้ำมันจากอ่าวเบงกอล (Bengal)
นับเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญเพื่อลดการพึ่งพาเส้นทางขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางอ่อนไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้2
เส้นทางนี้จีนนำเข้าพลังงานและการค้ามากถึง 2 ใน 3 ของประเทศ นอกจากนี้ จีนหวังมานานเรื่องการสร้างเส้นทางรถไฟและถนนไปชายแดนจีน
อย่างไรก็ตาม มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น
กลุ่มกบฏคุมชายแดนและแหล่งทรัพยากร
ตั้งแต่พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ได้รับการหนุนหลายระดับหลายปี พวกเขาได้ตอบโต้รัฐบาลทหารเมียนมาที่เรียกว่า ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) ก่อผลเสียต่อจุดยืนทางการเมืองของจีนและสร้างความเสียหายให้ทหารเมียนมา
พันธมิตรสามภราดรภาพประกอบด้วย Ta’ang National Liberation Army, Arakan Army และ Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA รวมทั้ง Kachin Independence Army-KIA พวกเขาคุมได้ทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือ ชายแดนเมียนมาติดกับจีน
มีการค้าชายแดนมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่รัฐประหาร 2021 แม้ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับการค้าชายแดนจีนโดยรวม แต่สำคัญต่อมลฑลยูนนานของจีน มลฑลที่เศรษฐกิจเติบโตช้า การแซงก์ชั่นเมียนมาของนานาชาติ ทำให้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ที่หล่อเลี้ยงการค้าชายแดน
เมื่อเร็วๆ นี้ จีนปิดด่าน 5 ด่าน เพื่อลงโทษฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ยังต่อต้านทหาร รัฐบาลยูนนานตัดกระแสไฟ และบริการอินเตอร์เน็ตเพื่อปิดล้อมกลุ่มโกกัง เพื่อกดดันต่อ MNDAA ด้วย
แต่ความจริงพื้นฐาน
กำลังเปลี่ยนแปลง
จีนต้องยอมรับความจริงว่า 90% ของทรัพยากรธรรมชาติในเมียนมา รวมทั้งหยก และแร่หายาก ตอนนี้ถูกควบคุมโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้าน หรือกำลังเข้ายึดพื้นที่เหล่านั้น
การลงทุนอื่นๆ ของจีน ตอนนี้อยู่ในดินแดนที่คุมโดยฝ่ายต่อต้าน และพวกเขาต้องจ่ายภาษีมืดให้รัฐบาลเมียนมาเดิม หรือให้องค์กรฝ่ายต่อต้านชนกลุ่มน้อย
ในขณะที่ Arakan Army ไม่ได้ยึดท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิว แต่ก็ควบคุมดินแดนโดยรอบทั้งหมดในรัฐยะไข่
การพัฒนาใดๆ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่นั่น ต้องเจรจากับพวกฝ่ายต่อต้าน
Arakan Army ควบคุมรอบๆ บริเวณเมืองท่า ชิดเว (Sittwe) กดดันให้รัฐบาลอินเดียต้องทำการประเมินใหม่ ทั้งนโยบายอินเดียต่อเมียนมา และผูกพันกับ Arakan Army และรัฐบาลเมียนมาเก่า
สัญญาณความไม่พอใจของจีน
ตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 (เริ่ม 27 ตุลาคม 2023) จีนโอนย้ายอาวุธให้ทหารเมียนมา
สิงหาคมที่ผ่านมา ทหารเมียนมาได้รับเครื่องบินเจ็ต FTG-200 G และครูฝึกจาก Guizhou Aviation Industriesบริษัทใหญ่ด้านการทหาร
ในขณะที่กำลังทางอากาศเมียนมาสามารถลงโทษพลเรือนที่ไม่สามารถยึดดินแดนได้ แม้มีการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย 6 ครั้ง ได้กำลังพล 30,000 นาย
กำลังพลใหม่ฝึกอย่างรีบเร่ง อาวุธไม่เพียงพอและกำลังพลใหม่ขาดแรงจูงใจการสู้รบ มีทหารยอมแพ้ในหลายมณฑล กำลังทหารไม่สามารถทดแทนได้ง่ายๆ
ในขณะที่กองกำลังปกป้องประชาชนและทหารของชนกลุ่มน้อย มีเป้าหมายการโจมตีไปที่ระบบการขนส่งอยู่เป็นประจำ ทำให้ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียขวัญ และยอมแพ้
กองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลตอบโต้กลับ เอาดินแดนที่สูญเสียไปตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 มีการต่อสู้กันโดยมีเป้าหมายที่เมืองสำคัญคือ หล่าก่าย (Laukkuing) เขตโกกัง รัฐฉาน
แต่มีข่าวออกมาว่า ผู้แทนจีนด้านกิจการเมียนมาและผู้นำกลุ่มทหารว้า แสดงความผิดหวัง
เมื่อพันธมิตรสามภราดรปฏิเสธการยุติการสู้รบ จีนมีความกังวลต่อการพ่ายแพ้ของทหารเมียนมาชัดเจน
จงใจละเลย
เหตุผลเดียวที่จีนเรียกร้องให้เมียนมามีการเลือกตั้ง จีนเห็นแนวทางการทหาร เพื่อรักษาอิทธิพลทางการเมืองของจีน ช่วงหลังรัฐประหาร 2021 ทูตจีนประจำเมียนมาคนใหม่ Ma Jia แสดงการละเลยอย่างจงใจต่อคนเมียนมา
คือ จีนพยายามค้ำจุนทหารเมียนมา ให้อาวุธพวกเขา ขยายการโจมตีทางอากาศโจมตีเป้าหมายพลเรือน และหาหนทางให้ทหาร ยืดเวลาการแทรกแซงทางการเมืองที่พินาศ
จีนอยู่ผิดข้างในประวัติศาสตร์เมียนมา แต่ทูตจีนและเหล่าปัญญาชนจีนไม่ใช่คนโง่ ทำไมพวกเขาจึงกำลังอยู่ผิดข้าง
เหตุผลคือ หนึ่งในนั้นเพราะอุดมการณ์ของพวกเขา และการวิเคราะห์อย่างสนุกสนาน ด้วยว่าจีนเป็นระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) จีนไม่สามารถคิดไปได้ว่า ระบอบอำนาจนิยมล่มสลาย โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นที่พวกเขาสนับสนุน แล้วความคิดนี้ยังผลักดันความหวาดกลัว จีนคือ รัฐที่หยุดนิ่งสนิท จีนไม่มีความสะดวกใดๆ ต่อความคิดประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่ยุ่งยากใจ มาอยู่บริเวณชายแดนจีนคือ เมียนมา
ตอนนี้จีนกำลังหนุนทหาร ที่มีทั้งความเหนือกว่าทางทรัพยากร และสมรรถนะทางการทหาร แต่กลับไม่มีความสามารถจริงๆ ด้วยหลงผิดกับความยิ่งใหญ่และหลงตัวเอง
จีนเชื่อว่า รัฐบาลทหารที่คอร์รัปชั่นและเชื่อง่าย ยังเชื่อด้วยว่า ทหารจะช่วยหนุนดีที่สุดต่อผลประโยชน์ของจีน ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเก่าและพันธมิตรจะไม่ยอมรับการเลือกตั้ง หรือเจรจายุติสงครามกับทหาร จีนเห็นว่า พวกเขาไม่บริสุทธิ์ใจ
คนฉลาดก็หลงผิด ผิดพลาดซ้ำซากได้ จริงไหม
1Zachary Abuza, “Zoned out : China-Myanmar Economic Corridor still going nowhere” Radio Free Asia, 20 August 2023.
2Min Thein Augag, “Hundred Protest Presence of Chinese Oil Tanks in Myanma Post City” Radio Free Asia, 22 May 2017
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022