ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
อยู่ดีๆ สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ทนายเป็นองค์ประกอบในสื่ออย่างที่ไม่มีที่ไหนในโลกเป็นเลย
ทุกวันนี้เปิดทีวีช่องไหนก็เจอทนายด่าทนาย ทนายแฉคดี ทนายแฉพิธีกร สื่อแฉทนาย ทนายแฉบริษัทโกง ฯลฯ
จนถ้าหากทุกคนพูดความจริงกันหมดก็เท่ากับทุกคนโกหกเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันหมดทันที
สื่อบางคนโจมตีทนายบางกลุ่มว่าเป็น “ทนายหิวแสง” ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับทนายทุกคน เพราะทนายที่ทำงานว่าความตามวิชาชีพโดยสุจริตก็มี
ทนายที่ช่วยเหลือคนยากจนอย่างเที่ยงธรรมก็เยอะ
ส่วนคนกลุ่มที่เข้าข่าย “ทนายหิวแสง” ก็มีทั้งคนที่ออกสื่อเพื่อพูดความจริง กับคนที่อาจไม่สนความจริงเลย
นอกจากคำว่า “ทนายหิวแสง” อีกคำที่สื่อและประชาชนใช้เรียกทนายกลุ่มนี้คือ “ทนายโซเชียล”
ซึ่งแม้จะทำให้เห็นภาพว่ากำลังพูดถึงทนายคนไหนได้ดี
แต่ในอีกแง่ก็ไม่แฟร์กับทนายที่ทำหน้าที่โดยสุจริตและมักแสดงความเห็นทาง “โซเชียล” ซึ่งอาจถูกมองเป็นพวกเดียวกับ “ทนายโซเชียล” ที่สังคมโจมตีโดยปริยาย
ล่าสุด นายกสภาทนายความก็ประกาศว่าจะตรวจสอบ “ทนายหิวแสง” และ “ทนายโซเชียล” ว่าผิดมารยาททนายความอย่างไร แต่นิยามว่าอะไรคือการผิดมารยาทนั้นก็กว้างจนใครก็ใช้ข้อหานี้กลั่นแกล้งใครได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะการอ้างว่ามารยาทหมายถึง “ประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี”
ยกตัวอย่างง่ายๆ “ทนายอานนท์ นำภา” ซึ่งติดคุกมาปีกว่าๆ เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัวคดี 112 ก็เคยถูกกล่าวหาว่าผิดมารยาททนายจากการวิจารณ์กฎหมายอาญา ม.112 ทั้งที่การไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม และทนายอานนท์ไม่ได้เป็นทั้ง “ทนายหิวแสง” และ “ทนายโซเชียล” เลย
ถ้าอ้างว่ามารยาททนายหมายถึงการไม่ทิ้งคดี ไม่หลอกลูกความ ไม่ตบทรัพย์ ไม่หลอกชาวบ้าน ไม่รับเงินผิดปกติ ไม่อวดอ้างว่าจ้างให้ทำคดีแล้วจะชนะ ฯลฯ
ทนายอานนท์ที่ไม่เคยทำอะไรที่ผิดมารยาทแน่ๆ กลับถูกตั้งกรรมการสอบ ขณะที่ “ทนายหิวแสง” และ “ทนายโซเชียล” ยังไม่เคยถูกสอบอะไรแบบนี้เลย
โดยปกติแล้วทนายไม่เคยมีพื้นที่ในสื่อแบบทุกวันนี้มีในสังคมไทย และหากมองในแง่ภาพกว้างออกไปก็ไม่เคยมีสังคมไหนที่ทนายมีบทบาทจนเกิดคำว่า “ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” อย่างสังคมไทยทุกวันนี้
เพราะหน้าที่ของทนายคือการว่าความให้ลูกความผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่แสดงความเห็นทางกฎหมายทุกกรณี
เมื่อเทียบกับผู้พิพากษาที่มีหน้าที่ตัดสินคดี ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ไม่เคยพูดเรื่องคดีทั้งที่ตัวเองตัดสินและไม่ได้ตัดสินกับใครทั้งนั้น
ยิ่งแสดงความเห็นเรื่องคดีออกสื่อยิ่งไม่มีแน่ๆ ถึงแม้โดยพื้นฐานแล้วผู้พิพากษาจะเป็นเจ้าของคำตัดสินของตัวเองจนมีข้อมูลมากพอที่จะพูดเรื่องคดีที่ตัวเองตัดสินได้อย่างแน่นอน
อาจารย์สอนกฎหมายสามารถพูดเรื่องกฎหมายได้มากกว่าทนาย
แต่อาจารย์หรือนักวิชาการด้านกฎหมายก็โฟกัสที่การพูดตามหลักวิชามากกว่าการแสดงความเห็นว่าใครถูกใครผิดในคดีต่างๆ อย่างเป็นเอกเทศ
จะมีข้อยกเว้นบ้างก็แต่การพูดถึงคดีที่ตัดสินแล้วว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่เท่านั้นเอง
“คอนเทนต์” ในการพูดของทนายคือเรื่องกฎหมายแต่ละคดี และทนายความโชคดีที่ “คอนเทนต์” การพูดแบบนี้ไม่มีนักกฎหมายกลุ่มไหนพูดแข่งด้วยทั้งนั้น เพราะผู้พิพากษาหรืออัยการไม่มีทางพูด “คอนเทนต์” แบบนี้ออกสื่อแน่ๆ เช่นเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่คงไม่พูดเรื่องแบบนี้ออกสื่อทุกวันด้วยเช่นกัน
สังคมไทยในอดีตมีทนายที่มีชื่อเสียงจนสังคมยกย่องหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ทนายทองใบ ทองเปาด์ ซึ่งโด่งดังเรื่องการต่อสู้ให้กับคนจนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจนได้รางวัลแมกไซไซ
แต่ “ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” ที่พูดเรื่องคดีต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่เกินสิบปีเท่านั้นเอง
ผมคิดว่าปรากฏการณ์ “ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” เป็นอาการของโรคความยุติธรรมบกพร่องในสังคมไทย 3 ประเด็น
ข้อแรก “ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของรายการโทรทัศน์ประเภท Gossip หรือซุบซิบเล่าข่าวคดีดังในกระแสต่างๆ ซึ่งสื่อต้องการ “คอนเทนต์” ที่พูดเรื่องคดีเหล่านี้ในเวลาที่ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี รวมทั้งในเวลาที่คดียังไม่มีความคืบหน้าเข้าสู่ศาล, ตำรวจ หรืออัยการ
เมื่อใดที่เกิดคดีดังจนสังคมอยากรู้ว่าใครถูก ใครผิด ใครฆ่า ใครก่อเหตุ ใครคือบอส ใครเป็นจอมบงการ เมื่อนั้นสังคมย่อมต้องการผดุงความยุติธรรมให้ปรากฏจนเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้
และถึงจุดนี้สื่อก็จะควานหาทนายมาทำหน้าที่ผลิต “คอนเทนต์” ว่าใครผิด ใครถูก ใครลงมือ ใครเป็นจอมวางแผน ฯลฯ
ในสังคมที่ธุรกิจสื่อเป็นมืออาชีพที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย องค์กรสื่อจะมีทีมข่าวเจาะหรือข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงจนความยุติธรรมปรากฏ
แต่ในสังคมที่องค์กรสื่อไม่สนใจความเป็นมืออาชีพ สื่อก็จะหยิบทนายกลุ่มนี้มาช่วย “เผาเวลา” สร้างคอนเทนต์ขึ้นมา
ปัญหามีอย่างเดียวคือไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าสื่อและ “ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” ทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมในสังคมจริงๆ
หรือปั่นกระแสในสังคมเป็นแอร์ไทม์เพื่อต่อยอดทำมาหากิน โดยทุกฝ่ายที่ทำแบบนี้อาจไม่สนใจเรื่องความจริงหรือความยุติธรรมเป็นเรื่องหลักเลย
“ทนายหิวแสง” หรือ “ทนายโซเชียล” เป็นภาพสะท้อนของธุรกิจสื่อที่บิดเบี้ยวจนข้อมูลข่าวสารเป็น “กระแส” หรือสินค้าให้ปั่นจนจรรยาบรรณสื่อผลุบๆ โผล่ๆ ตามอารมณ์ของพิธีกร, เจ้าของรายการ, โปรดิวเซอร์, เจ้าของช่อง และฝ่ายโฆษณา
ข้อสอง “คอนเทนต์” ที่สื่อและทนายกลุ่มนี้สนใจคือคดีอาชญากรรม ไม่อย่างนั้นก็คดีที่คู่กรณีเป็นผู้มีชื่อเสียงหรือดารา ส่วนความอยุติธรรมที่นโยบายรัฐหรือเจ้าหน้าที่กระทำต่อคนด้อยโอกาสกลับถูกพูดถึงน้อยมาก ยกเว้นจะมีอะไรบางอย่างที่กระตุ้นความสนใจอย่างเจ้าหน้าที่เลวจนไม่เหลือความเป็นคน
ยกตัวอย่างง่ายๆ คดีตากใบเป็นอาชญากรรมที่ศาลรับฟ้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันฆ่าจนคนตาย 85 ศพ ศาลดำเนินคดีต่อไม่ได้เพราะนายพลที่เป็น ส.ส.พรรครัฐบาลหนีคดี ตัวคดีจึงอุดมด้วย “คอนเทนต์” ที่ควรพูดเพื่อให้ความจริงปรากฏ แต่ไม่ปรากฏสื่อและทนายประเภทนี้พูดถึงตากใบแม้แต่คนเดียว
“ทนายหิวแสง” ทำคดีอาชญากรรมเป็นคดีดาราพอๆ กับทำคดีดาราเป็นคดีอาชญากรรม
ความสูญเสียในชีวิตจึงถูกเล่าในรูปการ “แฉ” ประเภทก่อนตายดาราเจอใคร ดาราเป็นบอสหรือแค่รับงาน ใครฟุ้งเฟ้อ ใครบินหรู ใครรับเงินใคร ฯลฯ ซึ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าอะไรเท็จหรือจริง
โดยปกติสื่อต้องให้พื้นที่คนในข่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวโดยตรง ยกเว้นรายงานความเห็นหรือข้อวิเคราะห์ที่ต่อเนื่องจากประเด็นข่าวนั้น
แต่ “ทนายหิวแสง” สร้างเนื้อหาซุบซิบเรื่องชาวบ้านที่ตัวเองเกี่ยวข้องน้อยมาก เพราะเมื่อแกนเรื่องคือการ “แฉ” ทุกคนก็พูดอะไรได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานเลย
ธรรมชาติของการ “แฉ” คือการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะที่ผู้แฉและพวกได้ประโยชน์โดยตรง การแฉจึงเป็นได้ทั้งความจริงทั้งหมด, ความจริงบางส่วน และไม่ใช่ความจริงเลย การรับสารจากการ “แฉ” จึงต้องระวังขั้นสูงสุดที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้แฉเรื่องซุบซิบต่างๆ เอง
ข้อสาม สังคมไทยเผชิญปัญหาความยุติธรรมบกพร่องจนคนไทยต้องการเห็นความยุติธรรม
แต่คนไทยทุกคนรู้ดีว่าความยุติธรรมในสังคมไทยขึ้นอยู่กับสถานะของคนในสังคมเสมอ
การ “แฉ” คือเครื่องมือที่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะทำให้ความยุติธรรมปรากฏได้
แต่การแฉก็เป็นเครื่องมือแบล็กเมล์ได้เช่นกัน
เมื่อใดที่มีการแฉบุคคลหนึ่งบุคคลใดผ่านสื่อและ “ทนายหิวแสง” เมื่อนั้นสังคมต้องระวังว่าการแฉอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด หรืออาจเป็นข้อเท็จจริงบางส่วนเพื่อหวังผลทางการเมือง, ทางคดี หรือแม้แต่การตบทรัพย์
การแฉจึงไม่ใช่หลักประกันของความยุติธรรมอย่างที่สื่อและทนายทำให้สังคมไทยเข้าใจ
ในประเทศที่ความยุติธรรมมีจริง การแฉและปรากฏการณ์ “ทนายหิวแสง” จะเป็นเพียงข่าวชาวบ้านที่ไม่มีทางเป็นวาระหลักของสังคมอย่างในประเทศที่ความยุติธรรมผลุบๆ โผล่ๆ ตามอัธยาศัยและดีลลับแบบปัจจุบัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022