ประเทศไทยหลังเลือกตั้งสหรัฐ | ปราปต์ บุนปาน

หลังจากมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางแผงไม่นาน เราก็จะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากันแล้ว

ไม่ว่าผู้นำคนใหม่ของสหรัฐจะชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” หรือ “คามาลา แฮร์ริส” ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ ประเทศไทยควรวางบทบาท-ตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ในภูมิรัฐศาสตร์โลกหลังจากนี้

หนึ่งในนักวิชาการที่แสดงทรรศะต่อประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ในงานสัมมนา “US Election 2024 เจาะลึก ศึกชิงทำเนียบขาว” ซึ่งจัดขึ้นโดยสื่อเครือมติชนและพันธมิตรเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็คือ “รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ” แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ว่า

“(ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่) เป็นใครก็แล้วแต่ เราต้องตั้งสติดีๆ เขามีผลประโยชน์แห่งชาติของเขา เราก็ต้องดูว่าผลประโยชน์แห่งชาติของเขามันสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของไทยด้วยหรือเปล่า? ผมว่าต้องตั้งหลักดีๆ

“บางที เราชอบคิด หรือคำถามที่สื่อชอบถาม คือ เราจะเลือกข้างใคร? เพราะแรงกดดันมันมาอยู่แล้ว การแข่งขันของมหาอำนาจในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ มันทำให้ประเทศต่างๆ ถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง ผู้นำเอเชียทุกคนรู้กันดี เพียงแต่ว่าเราจะเล่นเกมอย่างไร ในเกมของการเลือกข้างตรงนี้

“บางเรื่อง ถ้าผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกับสหรัฐ เราก็ต้องเลือก แต่ถ้าสอดคล้องกับจีน เราก็ต้องเลือกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันต้องกลับมาที่โจทย์เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องวางอยู่บนหลักการระหว่างประเทศของยูเอ็น หรือของอะไรก็แล้วแต่ ที่เรายึดถือด้วย ก็จะทำให้ไทยมีท่าทีจุดยืนที่สง่างามในเวทีระหว่างประเทศ

“อันที่สอง เราต้องยอมรับความจริงว่า ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพใหญ่ของความมั่นคง การเมือง หรือเศรษฐกิจโลก ไทยเราอาจจะไม่ได้อยู่ในจอเรดาร์ของสหรัฐมากเท่าไรนัก

“อันนี้ ต้องยอมรับความจริง เพราะมีปัจจัยภายในของสหรัฐเอง ปัจจัยภายในของไทยเอง แม้ว่าตัวเลขทางด้านการค้าจะดี แต่ตัวเลขการค้าที่ดี (ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ) บางทีเขาอาจจะ ‘เล่น’ เราในประเด็นนี้ด้วยเหมือนกัน

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือจะขยับขยายอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสมดุลระหว่างสหรัฐกับจีน อียู และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มบริกส์อะไรต่างๆ เราจะรักษา ‘สมดุลในเชิงรุก’ อย่างไร”

“คําที่เรามักจะใช้ก็คือ ‘การทูตแบบไผ่ลู่ลม’ (bamboo diplomacy) ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามการทูตแบบไผ่ลู่ลมว่าคืออะไร

“ผมยกตัวอย่างว่า เวียดนามวันนี้เขาประกาศอย่างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของเขาจะเป็นการทูตแบบไผ่ลู่ลม ในมิติที่ว่าเขาจะประกันความเสี่ยง รักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจอย่างพอเหมาะพอควร อย่างนั้นเป็นในเชิงรุกในเชิงยุทธศาสตร์

“แต่พอมาถึงบริบทไทย เวลาเราคิดถึงคำว่าไผ่ลู่ลม ดูเหมือนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า คือมองว่าเราไม่มีจุดยืน เราก็ลู่ไปตามลม คือถ้ามองในลักษณะนั้น นิยามแบบนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรเป็นการทูตไผ่ลู่ลมแบบ ‘ลู่ตามลม’ อย่างเดียว หลายครั้ง ผมคิดว่าเราอาจจะต้อง ‘ลู่ก่อนลม’ บ้าง

“หมายความว่าเราอาจจะต้องคิดหรือคาดการณ์ว่าสถานการณ์โลกมันจะเป็นอย่างไร แล้วเราต้องมียุทธศาสตร์ว่าฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบไหน รับข้อดี-ข้อเสียคืออย่างไร ในลักษณะนี้ ผมว่าเราต้องลู่ก่อนลม”

 

“อีกทางหนึ่ง เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทที่เราจัดวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองใหม่ว่า เราเป็น ‘ประเทศอำนาจปานกลาง’ (middle power) บ้างไหม

“บางครั้งเราอาจจะต้องชกข้ามรุ่นบ้าง ไม่ใช่ทุกเรื่องนะ บางเรื่องที่สำคัญต่อเรา เช่น การเล่นบทบาทในการเป็นตัวแสดงที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมนุษยธรรม ประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราเล่นได้ในกรอบของสหประชาชาติ ซึ่งมาตอบโจทย์ของเราในภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งภาคบริการ-ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น ในมิตินี้ ผมคิดว่าบางครั้ง เราอาจจะต้องมีบทบาทนำบ้าง อาจจะใช้คำว่าเป็นการนำจาก ‘ประเทศตรงกลางๆ’ (leading from the middle)

“บางประเทศเช่นออสเตรเลียเขาเล่นบ้าง สแกนดิเนเวียเขาก็เล่นบทบาทเรื่องนโยบายต่างประเทศด้านสิทธิผู้หญิง ไทยเราเล่นในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไหม เราเล่นในเรื่องของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบ้างได้ไหม คือไม่ได้เป็นผู้รับแล้ว แต่เป็นประเทศที่จะเป็นผู้ให้” •

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน