ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Technical Time-Out |
เผยแพร่ |
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีการเปลี่ยนใหญ่อีกครั้ง หลังประกาศปลด อีริก เทน ฮาก ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ถ้าจะบอกว่าเป็นการปลดฟ้าผ่าหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะแฟนบอลจำนวนมากก็เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวกุนซือมาพักใหญ่แล้ว
การแยกทางกันครั้งนี้ คาดว่าแมนฯ ยูจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เทน ฮาก 15 ล้านปอนด์ (656 ล้านบาท) แต่จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานสตาฟฟ์ โดยให้ รุด ฟาน นิสเตลรอย ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ขยับขึ้นมารักษาการไปก่อน ในช่วงที่กำลังเดินหน้าว่าจ้างผู้จัดการทีมถาวรคนใหม่
ความคาดหวังในช่วงแรกที่ตั้งกุนซือชาวดัตช์มาคุมทีมนั้น คือ การไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์ลีก และกลับไปโลดแล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างที่ทีมปีศาจแดงเคยเป็น
แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมา 2 ฤดูกาลกว่าๆ เทน ฮาก ยังไม่สามารถพาทีมทำผลงานได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีเรื่องให้วิจารณ์กันอยู่ตลอด โดยเฉพาะเรื่องการซื้อนักเตะที่เคยเป็นศิษย์เก่ามาใช้งาน รวมทั้งแท็กติก การเปลี่ยนตัว ที่น้อยครั้งจะช่วยให้ทีมกลับมาแซงชนะได้
ถึงแม้จะมีแชมป์ติดมือ 2 รายการ คือ คาราบาวคัพในซีซั่นแรกที่มาคุมทีม และเอฟเอคัพ เมื่อฤดูกาลก่อน แต่ก็เป็นเพียงการต่อชะตาให้เขาได้ทำงานต่อไปเท่านั้น
ไม่ได้การันตีว่าบอร์ดบริหารจะให้เวลาในการสร้างทีมไปเรื่อยๆ แบบที่ตัวเทน ฮาก มักจะออกมาให้สัมภาษณ์บ่อยๆ
สไตล์การทำทีมของเทน ฮาก คือ การครองบอลมากกว่าคู่แข่ง เน้นเกมรุกที่รวดเร็ว การถ่ายบอลโดยตรง แต่กองหน้าต้องลงมาช่วยกันเพรสซิ่งในแดนหลังของคู่แข่งด้วย อย่างไรก็ตามกองหน้าที่มีอยู่ในเวลานี้ ทั้ง โยชัว เซิร์กเซ่, ราสมุส ฮอยลุนด์ ต้องลงมาช่วยกดดันแนวรับ ทำให้มีโอกาสในยิงประตูน้อยลง หรือถึงแม้จะมีแต่ก็ยังขาดทีเด็ดทีขาดกันอยู่มากทีเดียว ขณะที่แดนกลางยังไม่สามารถช่วยกันครองบอลและตัดบอลได้อย่างที่ควรจะเป็น
จุดเด่นในแผนของเทน ฮาก คือ การเล่นเกมสวนกลับเร็ว ซึ่งก็มีประตูให้เห็นจากการสวนกลับอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการบุกโดยปกติที่แนวรับคู่แข่งอุดแน่น การเจาะเข้าไปทำประตูของแมนยูในยุคเทน ฮาก มีประสิทธิภาพน้อยมากๆ
ฤดูกาลแรกที่เทน ฮาก เข้ามาคุมทัพ แมนยูมีผลงานที่ดีขึ้นกว่าตอนช่วงท้ายของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ และ ราล์ฟ รังนิก คุมทีมอย่างมาก
เขาเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ และตัดนักเตะที่เป็นของเหลือออกไปได้หลายคน พาทีมจบอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีก ได้แชมป์คาราบาวคัพ ไปได้ไกลในยูโรป้าลีก แถมยังเอาชนะบาร์เซโลนาได้
ทำให้แฟนบอลมั่นใจกันว่า ฤดูกาลถัดไป แมนฯ ยูจะเป็นทีมลุ้นแชมป์เต็มตัวเหมือนในอดีต
แต่ซีซั่น 2023-2024 ก็เต็มไปด้วยปัญหา คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตำนานของสโมสรไม่มาฝึกซ้อม และไปให้สัมภาษณ์โจมตีเทน ฮาก กับบอร์ดบริหาร ในที่สุดก็แยกทางกันไป
เจดอน ซานโช่ ก็ผิดใจกับผู้จัดการทีม จนต้องระเห็จกลับไปอยู่ดอร์ตมุนด์ด้วยสัญญายืมตัว
แอนโทนี่ มีข่าวทำร้ายร่างกายผู้หญิง ทำให้ต้องพักงานไปช่วงหนึ่ง
เมสัน กรีนวู้ด ที่เป็นกองหน้าอนาคตไกล เจอคดีความเรื่องทำร้ายร่างกายแฟนสาว จนไม่ได้กลับมาเล่นให้แมนฯ ยูอีก นักเตะทยอยเจ็บจนเกือบเปลี่ยนจากสโมสรฟุตบอลเป็นโรงพยาบาล
แมนฯ ยูในฤดูกาลที่แล้ว ไม่ค่อยมีเรื่องดีๆ ให้จดจำ จนปิดฉากด้วยการได้แชมป์เอฟเอคัพ ซึ่งก็มีผลพลอยได้จนได้มาเล่นยูโรป้าลีกฤดูกาลนี้ เพราะในลีกจบอันดับ 8 เชื่อกันว่าโอกาสของเทน ฮาก จบลงแล้ว และจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน
สุดท้ายแล้ว บอร์ดบริหารยังให้ความมั่นใจเทน ฮาก ด้วยการให้ทำงานต่อ และใช้ออปชั่นต่อสัญญาออกไปอีก 12 เดือน ซื้อนักเตะอย่างที่เขาต้องการมาให้อย่างรวดเร็ว ภายใต้การบริหารงานของทีมงานใหม่ หลังจาก เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีแฟนพันธุ์แท้ปีศาจแดง ซื้อหุ้นส่วนหนึ่งมาครอบครอง
ผลงานของแมนฯ ยูในซีซั่นนี้ แพ้ไป 4 จาก 9 เกมแรกในลีก ไม่ชนะใครในยูโรป้าลีก เสมอทั้ง 3 นัดแรก หลังจากแพ้เวสต์แฮมในเกมลีก สัญญาณในการปลดยังแทบจะไม่มี ก่อนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการหลังจากนั้น 1 วัน
หลังจาก เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือไปในปี 2013 แมนฯ ยูมีการเปลี่ยนแปลงกุนซือถาวรไปแล้ว 5 คน ไม่เคยมีใครอยู่ได้ถึง 3 ซีซั่นเต็ม รวมทั้งเทน ฮาก ด้วย
โค้ชทุกคนรู้ดีว่าการรับงานนี้เต็มไปด้วยความกดดัน เพราะความคาดหวังที่สูงลิ่วที่ต้องทำผลงานให้ได้ในระดับใกล้เคียงกับที่เฟอร์กี้เคยทำไว้
จนมีคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า อีกนานแค่ไหนที่แมนฯ ยูจะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ใครที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายจริงๆ ทั้งๆ ที่เป็นสโมสรที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งเงิน นักเตะ อคาเดมี ชื่อเสียง รวมทั้งทีมงานบริหารมือดีที่ดึงมาจากสโมสรต่างๆ มาทำงานร่วมกัน
ถ้าจะบอกว่าแมนฯ ยูไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามฟุตบอลที่เปลี่ยนไปจากยุค 10-20 ปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่ เพราะพวกเขาเปลี่ยนมาทุกรูปแบบแต่ก็ยังไม่ดีพอ
หรือเพราะคู่แข่งที่เก่งเกินจะต่อกรได้มีมากขึ้น ทีมอื่นมีเงินในการทุ่มซื้อที่มหาศาลเหมือนกัน
ก็ต้องดูกันต่อไป ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ จะพาแมนฯ ยูไปอยู่ตรงจุดไหน ดีขึ้นหรือแย่กว่าเดิม •
Technical Time-Out | จริงตนาการ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022