ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“วงนั่งเล่น” ถือเป็นวงดนตรีสำคัญวงหนึ่งของวงการเพลงไทยร่วมสมัย แม้ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี-โชว์บิสกระแสหลัก ด้วยเหตุผล 2-3 ประการ
หนึ่ง นี่เป็นวงของบรรดาผู้อาวุโส ซึ่ง ณ ปัจจุบัน หลายคนมีอายุนำหน้าด้วย 7 แล้ว แต่ยังออกตระเวนแสดงสดได้อย่างมีพลังและสม่ำเสมอ
สอง แม้ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา “วงนั่งเล่น” จะมีความสุขกับการเล่น “เพลงใหม่ๆ” ที่พวกเขาแต่งขึ้นเองระหว่างทำวง แต่หากไปสำรวจชื่อเสียงเรียงนามของเหล่าสมาชิกในวงแล้ว ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนเป็นยอดโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักดนตรี และซาวด์เอ็นจิเนียร์ของอุตสาหกรรมดนตรีไทยยุค 80-90-2000
ไม่ว่าจะเป็นพนเทพ สุวรรณะบุณย์, กมลศักดิ์ สุนทานนท์, ปิติ ลิ้มเจริญ, เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์, อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา, เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์, พรเทพ สุวรรณะบุณย์, ณัฏฐ์ (เทอดไทย) ทองนาค และ ศราวุธ ฤทธิ์นันท์
สาม จนถึงบัดนี้ “วงนั่งเล่น” ยังคงเป็นกลุ่มคนดนตรีที่ “ทันสมัย” พิสูจน์จากกิจกรรมแสดงสดที่ไม่มีว่างเว้น โปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่คิดและทำกันอย่างไม่หยุดหย่อน มิหนำซ้ำ สมาชิกในวงก็ยังมีสถานะเป็นบุคลากรมือวางอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมเพลงไทยอยู่
เห็นได้จากการที่ “ปิติ ลิ้มเจริญ” กับ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” เพิ่งคว้ารางวัล “เพลงยอดเยี่ยม” บนเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งล่าสุดมาครอง จากผลงาน “ใจบันดาลแรง แรงบันดาลใจ” ที่พวกเขาเขียนให้ “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” ขับร้อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม “วงนั่งเล่น” เพิ่งนำเอา “จุดแข็ง” ในอดีตของตนเอง มาสร้างเป็น “จุดขาย” ใหม่ๆ ในงานคอนเสิร์ต “จากคนเขียน ถึงคนฟัง” ที่โรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์
ด้วยการนำ “บทเพลงฮิต” ที่สมาชิกของวงเคยแต่งให้ศิลปินดังๆ รายอื่นได้ขับร้อง มา “ร้อง-เล่นกันใหม่” ในแบบฉบับของตนเอง เพิ่มเสริมด้วยเรื่องเล่าเบื้องหลังของกระบวนการทำงานที่ทั้งสนุกสนานและน่าสนใจ
ถ้าใครตามดู “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” รวมถึงเป็นแฟนเพลงในโปรเจ็กต์ดนตรีต่างๆ ของ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” มาเนิ่นนานพอสมควร
หลายๆ โมเมนต์ในคอนเสิร์ตอาจเป็นความประทับใจที่คุ้นชิน ซึ่งเคยสัมผัส-รับฟังมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการร้อง-บรรเลงเพลง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” ในแบบพนเทพ ที่ไพเราะมีเสน่ห์ อย่างแตกต่างไปจากเพลงในเวอร์ชั่นของ “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร”
การถ่ายทอดแรงบันดาลใจสุดเศร้าสะเทือนขวัญของเพลง “หลับตา” ซึ่งมีที่มาจากละครโทรทัศน์เรื่อง “บุหลันลันตู” ของ “เชิด ทรงศรี”
หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “รักเธอจริงๆ” เพลงรักจากมุมมองผู้หญิงที่ตรงไปตรงมาและฉลาด (ผลงานโด่งดังของ “สุกัญญา มิเกล”) ซึ่งปิติเคยพูดถึงไว้บ้างแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน
อย่างไรก็ดี ยังมีโมเมนต์สดใหม่และน่าค้นหาอีกมายมายที่บังเกิดขึ้นในคอนเสิร์ต “จากคนเขียน ถึงคนฟัง”
ไม่ว่าจะเป็นที่มาของมิวสิกวิดีโอเพลง “รักล้นใจ” (ผลงานของ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” คำร้อง-ทำนองโดยพนเทพ) กำกับฯ โดย “เก้ง-จิระ มะลิกุล” ที่เนื้อเรื่อง-สไตล์ดูสวนทางกับเนื้อร้องและแนวดนตรีอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งตัวจิระก็ยอมรับ (ผ่านวิดีโอบทสัมภาษณ์) ว่า เอ็มวีชิ้นนี้เกิดจากความบ้าระห่ำในวัยหนุ่มของเขา มากกว่าเหตุผลลึกซึ้งใดๆ
เรายังได้ทราบศัพท์เทคนิคและวิธีการทำงานอีกหลายเรื่องของคนดนตรีที่เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานกันมาตั้งแต่ยุค 80-90 เช่น วิธีการคิดและสร้าง “เพลงเจาะ” ซึ่งหมายถึง “เพลงที่น่าจะฮิตหรือประสบความสำเร็จ”
หลายครั้ง กระบวนการสร้าง “เพลงเจาะ” ดังกล่าวก็อาศัยแรงบันดาลใจ (ไม่ว่าจะเป็นทางคอร์ดหรือเมโลดี้บางส่วน) มาจากเพลงต่างประเทศ โดยผลลัพธ์ของ “การดัดแปลง” ที่ได้ก็อาจไม่เหมือนกับแรงบันดาลใจต้นทางแบบเป๊ะๆ เสมอไป
การเปิดเผยเรื่องนี้แบบซื่อตรงบนเวทีคอนเสิร์ตของ “วงนั่งเล่น” คล้ายจะเป็นการพยายามผลักดันข้อวิพากษ์หรือความรู้สึกต่อต้าน “เพลงก๊อบปี้” ในสังคมดนตรีไทย ให้ไปไกลว่าการ “แบ่งขาวแยกดำ” ชนิดเด็ดขาด
หากเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า “การปรับ/แปลงเพลงต่างประเทศ” ถือเป็นวิธี/วัฒนธรรมการทำงานแขนงหนึ่งในอุตสาหกรรมเพลงไทยสากลยุคตั้งไข่ แม้ว่านี่อาจเป็นจารีตที่คนรุ่นหลังรู้สึกรับไม่ได้และมองว่าเป็นสิ่งผิดก็ตาม
ขณะเดียวกัน ก็มีการหยิบยกกรณีศึกษาที่ผิดแผกออกไปขึ้นมาพูดคุยในคอนเสิร์ต เช่น กรณี “ความเหมือนกัน” ระหว่างเพลง “คนขี้เหงา” (ผลงานของ “นีโน่-เมทนี บุรณศิริ” คำร้องโดย “ฉัตรชัย ดุริยประณีต” ทำนองโดยพนเทพ) กับเพลง “Sleeping Child” ของวงซอฟต์ร็อกจากเดนมาร์ก “Michael Learns to Rock”
ในประเด็นนี้ “วงนั่งเล่น” ได้โต้แย้งอย่างมีอารมณ์ขันผ่านข้อเท็จจริงที่ว่าเพลง “คนขี้เหงา” ได้รับการเผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) ส่วน “Sleeping Child” ถูกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ดังนั้น ถ้าจะมีใคร “ก๊อบ” ใคร คนก๊อบก็ควรเป็นฝ่ายสร้างผลงานที่เกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งว่ากันว่าเคยมาเที่ยวเมืองไทยก่อนปี 2536 ด้วย
คอนเสิร์ต “จากคนเขียน ถึงคนฟัง” ยังมีห้วงเวลาน่ารักและน่าประทับใจเกิดขึ้นอีกหลายช่วง
เช่น นี่น่าจะเป็นครั้งแรกสุดตั้งแต่ “วงนั่งเล่น” ทำโชว์มาสิบกว่าปี ที่ “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” มือคีย์บอร์ดของวง นักแต่งเพลงที่ฝากเมโลดี้และการเรียบเรียงเสียงประสานเพราะๆ หวานๆ ไว้ในเพลงของชรัส เฟื่องอารมย์, ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, มาลีวัลย์ เจมีน่า, กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, และปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ซึ่งปกติมักนั่งเงียบอยู่หลังเครื่องดนตรี ได้พูดจาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน
แม้เขาจะถ่อมตัวว่าตนเองเป็นทีมงานผู้แต่งเพลงจากโจทย์ที่ตั้งต้นขึ้นโดย “บอสตุ่น พนเทพ” ก็ตาม
หรือหลายคนอาจจะทราบว่ามือเพอร์คัสชั่นของ “วงนั่งเล่น” นั้นคือ “ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” อดีตนักร้องนำ “วงแฟลช” และเจ้าของผลงานอัลบั้มเดี่ยวที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเลยภายใต้สังกัด “โอ! มาย ก็อด” ปลายยุค 90 แต่ “พี่ป้อม เกริกศักดิ์ ยุควงนั่งเล่น” กลับเลือกเล่นเครื่องเคาะจังหวะและร้องประสานสนับสนุนเพื่อนๆ น้องๆ อย่างสงบเสงี่ยมตรงฉากหลัง
อย่างไรก็ตาม บนเวทีวันนั้น พี่ป้อมได้โชว์เสียงร้องแหลมสูงมีเอกลักษณ์ถึงสองเพลง และเรียกเสียงกรี๊ดได้ลั่นโรงละคร เพลงแรกคือเพลงฮิตของตัวเอง “อยากจะมีเธอ” ส่วนเพลงหลังคือเพลง “คนไม่มีวาสนา” ที่เศกสิทธิ์แต่งทำนองให้แก่ชรัส
แม้เสียงแหบเสน่ห์ของ “เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์” จะเป็นเสียงร้องนำที่คุ้นเคยสำหรับแฟนๆ “วงนั่งเล่น” อยู่แล้ว แต่เมื่อเสียงแหบๆ นั้นมารับหน้าที่ถ่ายทอดเพลง “มีเธอ” (ต้นฉบับโดย “อัญชลี จงคดีกิจ” คำร้องโดย “ดิลก ดิเรกฤทธิ์” -นามปากกาของ “มณฑวรรณ ศรีวิเชียร”- และทำนองโดยเศกสิทธิ์) นั่นก็นับเป็นประสบการณ์การฟังเพลงที่เปี่ยมสุข
เช่นเดียวกับการได้ยินพี่เป๋าร้องเพลงฮิตมากๆ ที่ตนเองเป็นคนแต่งคำร้อง ไม่ว่าจะเป็น “ใช่เลย” (ต้นฉบับโดย “ไท ธนาวุฒิ” ทำนองโดย “เทียนชัย เกียรติปรุงเวช”) และ “เล่าสู่กันฟัง” (ต้นฉบับโดย “เบิร์ด ธงไชย”)
เพลงหลังนี้ นอกจากกมลศักดิ์จะเล่าถึงที่มาตลกๆ ของท่อนฮุก “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เขาคิดงานไม่ออก จึงเข้าไปอาบน้ำเปิดฝักบัวเจอน้ำเย็นเจี๊ยบแล้ว เขายังอุทิศเพลงเอกดังกล่าวให้แก่ผู้แต่งทำนองและผู้ที่วางไอเดียแรกเริ่มของเพลงอย่าง “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” ที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
ขณะที่เจ้าของเสียงร้องหลักอีกคนของวงอย่าง “ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ” ก็เรียกเสียงเฮฮาก่อนจะร้องเพลง “รักเธอสุดหัวใจ” ที่ตนเองเป็นผู้แต่งคำร้อง-ทำนอง โดยแจ้งว่าเขากับผู้ขับร้องเพลงต้นฉบับอย่าง “ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา” นั้นอายุเท่ากัน
ปิติยังปลุกพลังใจผู้ชมด้วยเพลง “อย่ายอมแพ้” ในช่วงท้ายคอนเสิร์ต ซึ่งเพลงแจ้งเกิดของ “อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์” เพลงนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นแรกสุดในฐานะนักแต่งเพลงอาชีพของเขาเช่นกัน
เมื่อผนวกบรรยากาศ-ประสบการณ์ดีๆ ทั้งหมดเข้ากับระบบเสียงที่ยอดเยี่ยมของโรงละครอักษรา สามารถกล่าวโดยสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า คอนเสิร์ต “จากคนเขียน ถึงคนฟัง” ถือเป็น “โชว์เต็มรูปแบบ” ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของกลุ่ม “คนดนตรีตัวจริง” ในนาม “วงนั่งเล่น” •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022