เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ความวิตกของโลกภายนอก

ไม่เพียงแค่คนอเมริกัน ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกโดยตรงเท่านั้นที่ ตื่นเต้น กังวล กระวนกระวายเพิ่มมากขึ้นตามการกระชั้นเข้ามาของวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 5 พฤศจิกายนนี้

คนที่ไม่ได้มีสิทธิ์โหวต อย่างเช่น หนุ่มสาวในยูเครน หรือนักศึกษาชาวไต้หวัน หรือแม้กระทั่งเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในเม็กซิโก ก็พากันกังวลจนออกนอกหน้าเช่นกัน

เพราะเชื่อว่า ประเทศของตนมีส่วนได้ส่วนเสียใหญ่หลวงมากจากผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 7 วันข้างหน้านี้

ส่วนที่เป็นปัญหาสำหรับทุกคนในเวลานี้ก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน ที่เป็นการชิงชัยกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับ กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ในปีนี้ยังคงสภาพความสูสี ใกล้เคียงกันมากชนิดคาดการณ์ไม่ได้ ฟันธงไม่ขาด

ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ความกระวนกระวาย ความตื่นเต้น เป็นกังวล เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

อาจบางที ทั่วทั้งโลก ยากที่จะหาที่ไหนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ได้มากเท่ากับผู้คนยูเครนอีกแล้ว

หลายคนเชื่อว่า ถ้าหากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้เงินช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อต่อต้านการรุกรานด้วยกำลังของกองทัพรัสเซียต้องยุติลงในทันที

ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบบังคับกลายๆ ให้ยูเครนต้องหาทางเจรจายุติสงครามโดยโอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขที่ผู้ชนะอย่างรัสเซียเป็นผู้กำหนด

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ แห่งยูเครน พยายามหาช่องทางคงสภาพการติดต่อสื่อสารกับทรัมป์เอาไว้ ด้วยการเข้าพบระหว่างการเยือนนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนไร้ผลโดยสิ้นเชิง เพราะในการหาเสียงระยะหลังมานี้ ทรัมป์หันมาโจมตียูเครนตลอด

ถึงขั้นติเตียนว่าเป็นตัวการต้นเหตุที่ทำให้เกิดการบุกขึ้นในปี 2022

ดังนั้น ในเวลานี้สิ่งที่คนยูเครนเป็นกังวลมากถึงระดับหวั่นกลัวกันเป็นพิเศษ คือกลัวว่าชัยชนะจะตกเป็นของโดนัลด์ ทรัมป์

 

นอกจากยูเครนแล้ว ชาติอื่นๆ ในภาคพื้นยุโรป ก็ดูเหมือนจะกังวลกับการกลับมาเป็นผู้นำของทรัมป์อีกครั้งเช่นกัน แม้จะไม่สูงเทียบเท่ากับในยูเครนก็ตามที

ในทางหนึ่งนั้น เนื่องจากว่าทุกชาติยังคงจำได้ถึงรสชาดของ “สงครามการค้า” ของทรัมป์

แต่ในอีกทางหนึ่ง คนในยุโรปกลับเป็นกังวลว่า การประสบผลสำเร็จอีกครั้งของคนอย่างทรัมป์ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อขนบประชาธิปไตยในยุโรป

กระตุ้นให้กลุ่มการเมืองชาตินิยม-ประชานิยมกล้ามากขึ้น อาจหาญมากขึ้น จนทำให้กระแสขวาจัดหวนคืนมาครองยุโรปอีกครั้งเหมือนเมื่อตอนที่ทรัมป์เคยทำได้ในปี 2016

ประเทศอีกส่วนหนึ่ง ไม่รู้สึกกระไรนักกับผลการเลือกตั้งอเมริกัน เหตุผลสำคัญไม่ได้เป็นเพียงเพราะมองไม่เห็นความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ

หากแต่ยังเกิดขึ้นเพราะความเชื่อที่ว่า ผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองของเขาน้อยเหลือเกิน น้อยจนแทบไม่รู้สึก

หรือไม่เช่นนั้น ก็ตกอยู่ในชะตากรรมทำนองเดียวกับชาวเลบานอนหรือปาเลสไตน์ในค่ายอพยพ ที่ไม่ว่าทรัมป์ หรือแฮร์ริส จะได้รับชัยชนะ วิถีลำเค็ญของพวกเขาก็ยากที่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ตอนเริ่มรับตำแหน่งใหม่ๆ อาจดูดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แต่ยิ่งนานก็ยิ่งเลือนหาย แล้วพวกตนก็กลายเป็นเหยื่อเหมือนเดิม

อิสราเอลกลับจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้งอเมริกันครั้งนี้มากกว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการอิสราเอลที่เชื่ออยู่เล็กน้อยว่า ชัยชนะของทรัมป์อาจทำให้อิสราเอลมีอิสระเสรีมากขึ้นในการปฏิบัติการเชิงรุกต่อคู่ขัดแย้งอย่างอิหร่าน และกลุ่มตัวแทนอย่างฮามาส กับฮิซบอลเลาะห์

 

ในประเทศอีกกลุ่มหนึ่ง กิจกรรมทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาไม่เพียงไม่ได้รับความสนใจ พวกเขายังเลือกที่จะ “ท้าทาย” ความเป็นอเมริกันมากขึ้นด้วยอีกต่างหาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความพยายาม “ท้าทาย” การครอบงำทั้งในเชิงนโยบายและในแง่ของอิทธิพลด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ปรากฏขึ้นอย่างแหลมคมในเวทีประชุมระดับนานาชาติหลายเวที

ล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการประชุมสุดยอดกลุ่ม “บริกส์” ที่เมืองคาซาน ของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่ซึ่งบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ออกมาเรียกร้องการมีปากมีเสียงเพิ่มมากขึ้นใน “สถาบันระดับโลก” ทั้งหลาย

รวมทั้งการเรียกร้องให้รังสรรค์ระบบชำระเงินใหม่ขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป

 

ชาติในเอเชียที่ “รู้สึก” และ “กระวนกระวาย” กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกามากที่สุด เห็นจะเป็นไต้หวัน

ทรัมป์เคยได้รับความนิยมสูงในไต้หวัน จากการแสดงบทบาทเป็น “ผู้แข็งแกร่ง” ที่พร้อมเดินหน้าชน สี จิ้นผิง ในทุกเรื่อง รวมทั้งการใช้กำลังยึดไต้หวันคืน ที่จีนย้ำนักย้ำหนาว่าเป็นเรื่องภายใน เพราะไต้หวันคือมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้น ไม่ใช่ชาติอธิปไตยเหมือนอย่างที่พยายามจะเป็นกัน

อย่างไรก็ตาม ทัศนะของทรัมป์ต่อไต้หวันที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่องระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกมาวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันว่าเป็นตัวการดูดการจ้างงานออกจากสหรัฐ รวมถึงการออกมาเรียกร้องให้ไต้หวัน “จ่ายเงิน” เพื่อแลกกับการคุ้มครองจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ความเห็นต่อทรัมป์ในไต้หวันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทรัมป์กลายเป็นคนที่เห็นแก่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ ถ้าได้รับผลประโยชน์มากพอ ก็พร้อมที่จะทิ้งไต้หวันได้ทุกเมื่อ

จึงไม่น่าแปลกที่ผลการทำโพลของสถาบันบรูกกิ้ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีคนไต้หวัน 1,500 คนตอบแบบสอบถาม มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นว่า ต้องการให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะ

 

สถานการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นที่เม็กซิโก “บ้านใกล้เรือนเคียง” ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่มองว่า ทรัมป์เป็นปัญหาระดับชาติของเม็กซิกันทั้งประเทศ เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ทรัมป์เคยทำกับเม็กซิโกมาขณะดำรงตำแหน่ง

มาคราวนี้ ดูเหมือนยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าเดิม บทวิเคราะห์ล่าสุดของมูดี้ส์ อะนาไลติกส์ สรุปความได้ว่า ถ้าทรัมป์ชนะ แล้วประกาศตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วทันทีเหมือนที่หาเสียงเอาไว้

เศรษฐกิจของเม็กซิโกทั้งประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตามมาทันทีเช่นกัน