เศรษฐกิจการเมืองสหรัฐ-โลก จะเป็นอย่างไร? เทียบนโยบาย ทรัมป์ VS แฮร์ริส

เพื่อตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในการเมืองสหรัฐ ตั้งแต่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ต่อเนื่องมาจนยุคโจ ไบเดน ขอเรียกเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐยุคสมัยนี้ว่าอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “Reimagining American Economic Leadership” หรือ “จินตนาการใหม่ของสหรัฐในฐานะผู้นำเศรษฐกิจ” แนวคิดนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างการเมืองภายในสหรัฐและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ คลื่นการเปลี่ยนทางการเมืองใหญ่หลังยุคสงครามเย็นก็คือ “โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่” และการโปรโมต “การค้าเสรี” แต่ระบบนี้ก็นำมาสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจในสหรัฐคือวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ปี 2008 กระทบอย่างหนักต่อภาคส่วนแรงงาน ประเทศอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบนำมาสู่ความยากจน

ในสหรัฐ รีแอ็กชั่นที่เกิดจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2008 ก็คือการขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ชู Amarica First

ไม่เอาการค้าเสรี นโยบายกีดกันทางการค้า ต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นฐาน ดำเนินนโยบายไปในทางพลิกกลับต่อ “ระเบียบโลกที่ปูอยู่บนพื้นฐานของเสรีนิยม” ที่สหรัฐโปรโมตมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ค่อยร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ นั่นคือภาพความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่เกิดขึ้น

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ จึงมีประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาในเรื่องนโยบายประกอบด้วย

 

การอพยพลี้ภัยย้ายถิ่น

ถือเป็นประเด็นสำคัญมากของทั้ง 2 พรรค ทรัมป์มองว่าผู้อพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แย่งงานคนสหรัฐ ทำให้อาชญากรรมสูงขึ้น พูดดูถูกอย่างรุนแรงตามสไตล์ของทรัมป์ที่เน้น “การสร้างความเป็นอื่น”

เช่นที่เราได้เห็นข่าวไปกล่าวหาว่าผู้อพยพ กินแมว กินหมา ซึ่งโดยทั่วไปเป็นธรรมชาติของฝ่ายขวาสุดโต่ง เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้น ก็เริ่มจากการหาคนเพื่อ blame (กล่าวโทษ) ปัญหา โดยไม่ได้เริ่มจากการไปดูโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาจากระบบทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ หรือการค้าเสรีอะไร

เมื่อมองมาที่นโยบายของทั้งสองพรรค รอบนี้ต่างเห็นตรงกันว่ามันมีปัญหา ต้องจำกัดการอพยพย้ายถิ่นทั้งคู่ แตกต่างกันเพียงวิธีที่จะจัดการหรือดีลกับปัญหา

มีความน่ากังวลอยู่ในการพูดของทรัมป์ เช่น การบอกจะไล่คนลักลอบเข้าเมืองมาทำงานออกให้หมด

ฝั่งกมลา แฮร์ริส ก็ประกาศจะจำกัดไม่ให้มีการลักลอบอพยพเข้ามา

แต่ยังให้โอกาสเด็กๆ ที่เข้ามาในสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย หรือเข้ามาตั้งแต่เด็กๆ ให้ใช้ชีวิต เรียน หรือสามารถหางานทำได้แบบไม่ให้ citizen

 

การค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ประกาศใช้กำแพงภาษีนำเข้า ด้วยเชื่อว่าจะทำให้อีกฝ่ายกลัวหรือยอมทำตาม แต่ในความเป็นจริง เมื่อสหรัฐขึ้นกำแพงภาษีสินค้าบางอย่าง จีนก็ตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐบ้าง เขาคิดว่าถ้ามีกำแพงภาษี จะนำรายได้เข้าสู่สหรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีรายได้เข้ารัฐบาลก็จริง แต่คนที่จ่ายจริงๆ คือคนอเมริกันในฐานะผู้บริโภคเอง ไม่ใช่จีน

ในการหาเสียงคราวนี้ ทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าจากกจีน 60% และจะมีการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าทุกอย่างทั่วโลก 10%

ด้วยมองว่าการกีดกันทางการค้าสามารถสร้างความมั่งคั่งโดยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ดังนั้น สำหรับทรัมป์ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน คือความสัมพันธ์แบบหลุดแยกออกจากการเป็นคู่ค้า เขาเชื่อว่าหากมีการกีดกันทางการค้ากับจีนรวมถึงการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจะสร้างงานให้คนสหรัฐ ทั้งที่เอาเข้าจริงมันไม่ได้สร้างงานสักเท่าไหร่ แถมทำให้อุตสาหกรรมการผลิตลดลงด้วย เพราะหากไม่เอาสินค้าจีน ก็ขยับไปประเทศอื่นได้ หากจีนค้าขายสหรัฐไม่ได้ เขาก็ไปค้าขายประเทศอื่นแทนได้ เป็นต้น

ขณะที่นโยบายของแฮร์ริสก็คงจะดำเนินนโยบายกำแพงภาษีกับจีนต่อคล้ายๆ กับไบเดน ไม่มั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่จะไม่มากเท่าทรัมป์

โดยแฮร์ริสจะยังคงมองประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจผูกกับความมั่นคงของชาติอยู่

 

เงินเฟ้อ

ช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2% แต่ช่วงไบเดน เงินเฟ้อเกิดพุ่งขึ้นถึง 9% เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด (ตอนนี้จะลดลงมาแล้ว) ส่งผลให้ค่าครองชีพในสหรัฐแพง โดยธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด แก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

ท่าทีของทรัมป์ต่อบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ คือไม่เห็นด้วยกับการที่ธนาคารกลางเข้ามาจัดการเรื่องดอกเบี้ย และอยากให้ตัวรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางดอกเบี้ย

ขณะที่แฮร์ริสเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐมีความเป็นเอกเทศจากการเมือง รัฐบาลกลางไม่ควรเข้าไปวุ่นวาย

ทรัมป์เสนอวิธีลดเงินเฟ้อด้วยการสร้างกำแพงภาษีโดยยังไม่บอกว่าจะใช้วิธีการใด

ขณะที่แฮร์ริสจะเน้นควบคุมไม่ให้บริษัทใหญ่ๆ ขึ้นราคาสินค้า ด้วยวิธีให้องค์กรที่ดูแลการค้าภายในประเทศเข้าไปจัดการหากบริษัทไหนที่ขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าบริโภค

 

ภาษีในประเทศ

ช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีมีการออกนโยบายลดภาษีคนรวยหรือบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยาวถึงปี 2025 ซึ่งหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี เขาสัญญาว่าจะต่ออายุมาตรการนี้ ด้วยความที่เขาเป็นนักธุรกิจจึงมองเรื่องการลดภาษีบริษัทใหญ่

แม้จะลดการเก็บภาษีเอกชน แต่ทรัมป์ก็มีมาตรการทางภาษีที่จะช่วยชนชั้นกลาง เช่น การลดภาษีสำหรับผู้มีบุตร 2,000 เหรียญ ขณะที่แฮร์ริสก็มีนโยบายคล้ายๆ กัน แต่ให้มากกว่าถึง 6,000 เหรียญ ต่างกันตรงที่แฮร์ริสประกาศชัดว่าจะเพิ่มการเก็บภาษีคนรวย ภาษีรายได้ผู้บริหารระดับสูงที่ปัจจุบันอยู่ที่ 37% ให้สูงกว่านี้อีก

ส่วนภาษีบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 21% แฮร์ริสก็ประกาศจะขึ้นเป็น 28% แต่เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แฮร์ริสก็ประกาศจะมีการลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัพ รวมถึงตัดภาษีเงินทิป และการลดภาษีจากดอกเบี้ยหรือการลงทุนซึ่งยุคไบเดนมีอยู่สูงถึงเกือบ 40%

 

สิทธิการทำแท้ง

กฎหมาย Roe v. Wade ซึ่งเป็นกฎหมายระดับทั้งประเทศออกมาตั้งแต่ปี 1973 อนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่ในยุคทรัมป์กฎหมายนี้ถูกยกเลิกไป

แน่นอน แฮร์ริสประกาศจะนำกฎหมายนี้กลับมา ให้การทำแท้งเป็นสิทธิที่เลือกได้ของพลเมืองสหรัฐทุกคน ขณะที่ทรัมป์จะยกอำนาจนี้ให้แต่ละมลรัฐตัดสินใจ

ยังมีประเด็นของยาทำแท้งที่เป็นยากิน ยุคทรัมป์ทำให้ยานี้หายากขึ้นและแพงมากขึ้นในตลาด แต่เดโมแครตประกาศจะทำให้มันหาซื้อง่ายขึ้นด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องเพศสภาพ เป็นเรื่องสิทธิในการเลือกของสตรีซึ่งจะลามไปยังนโยบายต่างประเทศด้วย เพราะการทำแท้งเป็นเรื่องสิทธิความปลอดภัย WHO ก็โปรโมตเรื่องนี้ด้วย

 

นโยบายต่างประเทศ

ในมุมมองต่างประเทศ ทรัมป์ไม่ใส่ใจอะไรเลยเกี่ยวกับประชาธิปไตย แม้หลักการนี้จะเป็นสิ่งที่สหรัฐโปรโมตมาต่อเนื่องยาวนาน พูดให้ชัดก็คือสำหรับทรัมป์ไม่มีเรื่องคุณค่าประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนในนโยบายการต่างประเทศ

ขณะที่แฮร์ริสยังมองว่า จุดแข็งของสหรัฐยังต้องพึ่งพาความร่วมมือจากประเทศอื่น หากจะทำให้ความมั่นคงของสหรัฐได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ต้องมีการสร้างพันธมิตรในการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ของทรัมป์ตั้งแต่ยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดีจนถึงตอนนี้เน้นนโยบายชาตินิยม

ทรัมป์ไม่ค่อยชอบพหุภาคีหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องร่วมมือ ทรัมป์จะชอบแบบ “ทวิภาคี” แบบไม่ต้องพึ่งองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งแต่สมัยเป็นประธานาธิบดีจนถึงตอนนี้ ทรัมป์ก็จะขู่ตลอดเวลา จะนำสหรัฐออกจากนาโต เป็นต้น

ส่วนแฮร์ริสนั้นต่างกัน เน้นการแสวงหาความร่วมมือ ให้ความสำคัญองค์กรระหว่างประเทศและพันธมิตร จะเห็นว่าเดโมแครตเข้าข้างยูเครนชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ก็มีความสัมพันธ์กับปูตินแบบแปลกๆ คือโชว์ว่ายังคุยกันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เขาเข้ามาข่ม

ส่วนศึกที่ตะวันออกกลาง ฝั่งเดโมแครตชัดเจนว่าเข้าข้างอิสราเอล ส่งอาวุธให้ ปกป้องอิสราเอล แต่ขณะเดียวกันก็ยังประกาศสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ช่วยเหลือมนุษยธรรม ขณะที่ทรัมป์ ต้องยอมรับว่ารีพับลิกันเองก็เข้าข้างอิสราเอลชัดเจน เพราะกลุ่มล็อบบี้อิสราเอลเป็นกลุ่มใหญ่สุดในอเมริกา

 

สิ่งแวดล้อม

2 พรรคแตกต่างกันสุดฤทธิ์ ทรัมป์ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม นำสหรัฐถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) แถมเลือกอดีตซีอีโอยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมัน มาบริหารองค์กรด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมประเทศ

ซึ่งเอาเข้าจริงพรรครีพับลิกันควรจะใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในประเทศ แต่เป็นเรื่องที่ผู้จะเป็นมหาอำนาจโลกต้องใส่ใจ จะดีลแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้

เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มันผูกโยงกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ส่งผลต่อภาวะเรือนกระจกในโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม ยุคนี้จึงเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด ประเทศพัฒนาแล้วทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าประเทศยากจน ประเทศมหาอำนาจจึงควรโปรโมตเรี่องพลังงานสะอาดเพื่อให้โลกขยับไปข้างหน้า

ถ้าทรัมป์ขึ้นมา น่าสนใจว่าสหรัฐยุครีพับลิกัน จะไม่เล่นบทบาทนี้เลยหรือ? หากไม่เล่นก็จงระวังประเทศอื่นจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเพราะเขาแคร์และดูแลเรื่องนี้ สุดท้ายบทบาทสหรัฐก็จะลดลง

โดยภาพรวม เลือกตั้งรอบนี้ไม่มีความคิดการเมืองขยับซ้ายแบบ “เบอร์นี่ แซนเดอร์ส” แล้ว วันนี้เดโมแครตขยับนโยบายมาเป็น “พรรคขวากลาง” มากขึ้น เพื่อดึงคะแนนเสียงคนที่เอียงไปทางขวา โดยรีพับลิกันเป็นพรรคขวา


หมายเหตุ : ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง เป็นอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ