สองนักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐ ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ หรือวันที่ 5 พฤศจิกายน จะเป็นวันชี้ชะตา “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ” โดยคะแนนความนิยมจากผลโพลต่างๆ ขณะนี้ ยังออกมาแบบสูสี ไม่อาจชี้ชัด หรือฟันธงลงไปได้ว่า ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับนางกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ใครจะกำชัยชนะในครั้งนี้

ดังนั้น ในมุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายจึงทำได้เพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนถนนทุกสายจะพุ่งเป้าไปที่ “ทรัมป์” ว่าหากเขาได้หวนคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความปั่นป่วนในหลายๆ เรื่อง

มากกว่าการก้าวขึ้นมาของ “แฮร์ริส” ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่า การเลือกตั้งสหรัฐที่จะมาถึง เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรจะต้องกังวลและปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิต ซึ่งต้องส่งออกสินค้า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่จะสร้างผลกระทบแน่ๆ ก็คือ นโยบายทางภาษี

ทั้งนี้ หาก “ทรัมป์” ชนะ จะมีการลดภาษีอีก เหมือนกับครั้งที่เป็นประธานาธิบดีรอบที่แล้ว ซึ่งรอบนี้น่าจะมีการลดภาษีนิติบุคคลต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนในตลาดหุ้นหลายคนจึงอยากให้ทรัมป์มา

“แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าลดภาษีแล้ว จะลดค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะหากทรัมป์มา ตัวเลขการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐใน 10 ปีข้างหน้า อาจมากกว่าแฮร์ริส 2 เท่า หลายคนจึงกังวลว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐจะขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นโยบายของทรัมป์ยังมีผลกระทบด้านการลงทุน ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การขุดเจาะน้ำมัน อาจจะเกี่ยวข้องและกระทบไทยด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่จะกระทบไทยมากที่สุด น่าจะเป็นนโยบายการค้า”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า กรณีหากนางแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายน่าจะใกล้เคียงกับนายไบเดน หรือเหมือนกับ 4 ปีที่ผ่านมา แต่หากเป็นทรัมป์เข้ามา จะ Disrupt ในทุกมิติ โดยเฉพาะนโยบายการค้า

“มาตรการที่ทรัมป์ชูเป็นพระเอก คือ การขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นมิติที่คนตั้งคำถามว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ทั้งด้านกฎหมาย ธุรกิจ และเศรษฐกิจ โดยมีการกล่าวว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิด ทุกประเทศ 10% และกับประเทศจีน จะขึ้นถึง 60%”

ดังนั้น หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง จะมองได้ 4 ประเด็น ได้แก่

1. มูลค่าการค้าในโลก จะลดลงจากการขึ้นภาษี ซึ่งจะเป็นลบกับไทยในการส่งออก

2. ผู้ซื้อผู้ขายเปลี่ยนเจ้า เช่น เมื่อสินค้าจีนถูกขึ้นภาษี 60% สหรัฐอาจจะซื้อสินค้าจากไทยก็ได้ หรือผู้ผลิตในไทยมีต้นทุนที่ถูกกว่าจีน

3. มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายฐานไปประเทศอื่น

และ 4. การแข่งขันจากสินค้านำเข้า เพราะเมื่อจีนโดนภาษี 60% ผู้ประกอบการจีนบางส่วนอาจส่งสินค้ามาแข่งในไทย เหมือนอย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เกิดขึ้นแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร โจทย์สำคัญคือการที่ไทยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งส่งเสริมให้คนไทยลงทุนเพิ่มเพื่อให้ GDP โตได้มากขึ้น

แต่วันนี้สิ่งที่เจอก็คือ บุญเก่าของไทยค่อยๆ หมดไป ขณะที่บุญใหม่ก็สร้างไม่ทัน

หากดูอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของไทย อันดับ 1.รถยนต์ 2.เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 3.ปิโตรเคมี ทั้งหมดกำลังเจอการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงมาก

ดังนั้น จึงต้องวางแผนอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อม เตรียมคนที่เหมาะสมกับการลงทุน ภายใต้โครงสร้างประชากรวัยทำงานที่ลดลง

“อุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่อย่างรถยนต์ มีการจ้างงาน 6-7 แสนคน ทั้งซัพพลายเชน เราควรต้องทำอย่างไร หรือให้เวลาในการปรับตัวอย่างไร ขณะที่ข้อจำกัดสำคัญของเมืองไทยคือ โครงสร้างประชากร แรงงานไทยลดลง และคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ฐานการผลิตที่ตั้งในจีนจะกระจายมาที่ไทย จากการถูกกีดกันด้านภาษี แต่ต้องดูว่าจะมาไทยได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยยังแพ้ประเทศอื่นๆ โดยจะเห็นว่า FDI จากจีนไหลไปอินโดนีเซีย กับเวียดนามมากกว่ามาไทย นอกจากนี้ มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นในไทยมากน้อยแค่ไหนก็ต้องมาพิจารณากัน

ขณะที่ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังจะส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลง โดยประเมินฉากทัศน์ที่ทรัมป์จะได้รับการเลือกตั้ง เพราะหากนางแฮร์ริสชนะ คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก

“หากทรัมป์ชนะ เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย”

โดยผลด้านบวก คือ

1. เศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐเพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตขึ้น

2. ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐ และการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทย และจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ

และ 3. มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลเสี่ยงการค้าโลกชะลอตัว

ส่วนประเด็นด้านลบ กรณีที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คือ

1. การส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก

2. ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาลจะอยู่ระดับสูง ตามความเสี่ยงทางการคลัง สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น และต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้นไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐ แต่รวมถึงไทยด้วย เพราะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

และ 3. รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม

“การค้าภูมิภาคจะชะลอลง เพราะเมื่อจีนส่งออกลดลง จีนจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสช่วงชิงสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐมากขึ้น หรือแย่งส่วนแบ่งการตลาดของจีนในสหรัฐที่ลดลงได้”

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์ และขยายตัว 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส

จากภาพทั้งหมดนี้ หวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คงมีการเตรียมการรับมือผลกระทบที่จะตามมากันไว้แล้ว