‘วิกฤตละครไทย’ วงการละครโทรทัศน์ไทยจะเป็นอย่างไรต่อ?

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

วงการละครโทรทัศน์ไทยซึ่งเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่และเป็นสื่ออันทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ ได้ลดความนิยมลงอย่างมากหลังจากที่ครองบทบาทนำมายาวนาน

ภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิด “วิกฤตละครไทย” ขึ้น จากการที่รายได้ของผู้คนในแวดวงละครลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อยอดผู้ชมลดลง เม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาสู่สถานีก็น้อยลง ทำให้งบประมาณการผลิตที่ผู้จัดละครได้รับลดลง จนส่งผลให้นักแสดงได้ค่าตัวน้อยลงตามไปด้วย

นอกจากงบฯ การผลิตที่ต่ำลงแล้ว ปริมาณการผลิตก็ยังลดลงอีกด้วย ซึ่งนำมาสู่การปิดบริษัทผลิตละคร เกิดการนำผลงานเก่ากลับมาวนฉายใหม่ซ้ำไปซ้ำมา ตลอดจนลดช่วงเวลาในการฉาย

แล้วแทนที่ด้วยรายการประเภทอื่นที่มีความยืดหยุ่นและมีโอกาสทำรายได้มากกว่า เช่น รายการข่าว การถ่ายทอดสดกีฬายอดนิยมอย่างเช่น มวย ฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น

รายการข่าวมีความได้เปรียบละครในหลายแง่มุม เช่น มีความรวดเร็วทันสถานการณ์ โดยสามารถตัดสินใจเลือกประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนได้แบบปัจจุบันทันด่วน

ในขณะที่ละครไม่สามารถปรับเปลี่ยนรายวันได้ แถมรายการข่าวยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และเปลี่ยนแปลงทิศทางไปตามสภาพการณ์จริงได้ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับการถ่ายทอดสดกีฬาที่มีลักษณะ “real time” ซึ่งยังไม่รู้ผลแพ้ชนะในการแข่งขัน จึงดึงดูดให้ผู้ชมจำเป็นต้องเข้ามาดูในระหว่างถ่ายทอดเท่านั้น ช่วงเวลาที่สนุกที่สุดจึงมีอยู่เฉพาะขณะถ่ายทอดสด

ต่างกับละครที่ต่อให้เรื่องราวสนุกแค่ไหน ผู้ชมก็สามารถตามดูย้อนหลังในช่องทางอื่นๆ ได้โดยไม่ลดทอนความบันเทิงลง

 

ยุคสมัยที่ละครโทรทัศน์ไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงมหาชนในอดีตสามารถเห็นได้ชัดจากเรตติ้ง เช่น “คู่กรรม” ทางช่อง 7 ปี พ.ศ.2533 นำแสดงโดย “เบิร์ด” ธงชัย แมคอินไตย์ และ “กวาง” กมลชนก โกมลฐิติ สร้างความนิยมถล่มทลายครองเรตติ้งมากถึง 40 ทำสถิติยอดผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์

ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่ามีคนไทยเกือบครึ่งประเทศที่รับชมอยู่พร้อมกันหน้าจอโทรทัศน์

ส่วนปรากฏการณ์ฟีเวอร์ที่ละครไทยทำได้ในระดับใกล้เคียงกันเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2561 กับเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 นำแสดงโดย “โป๊ป” ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ “เบลล่า” ราณี แคมเปน ซึ่งถึงแม้จะทำเรตติ้งไม่ถึง 40 แบบคู่กรรมก็ตาม

ทว่า เมื่อรวมการรับชมจากทุกแฟลตฟอร์มบวกกับช่องทางเผยแพร่อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับเดียวกัน แถมยังมีมูลค่าอื่นๆ ทางการตลาดมากขึ้นอีกด้วย

แต่เมื่อทิศทางของวงการละครโทรทัศน์ไทยไม่ได้อยู่ในเส้นกราฟที่พุ่งชันเหมือนวันที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว หากแต่ปักหัวดิ่งลงอย่างน่ากลัว ทำให้บุคลากรทุกฝ่ายได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทีมงานเบื้องหลังต้องอยู่กันอย่างตัวลีบ เพราะมีโอกาสเลือกงานที่น่าพอใจได้ยากจากการที่มีตัวเลือกน้อยลง จนใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียร กระทั่งโบกมือลาไปหาอาชีพใหม่ในที่สุด

ขณะที่นักแสดงซึ่งเคยอู้ฟู้จากการได้รับรายได้มากมายก็ถอยร่นลงมาจนต้องมีหลายบทบาทหลายอาชีพ

นักแสดงแต่ละคนในปัจจุบันจึงอาจเป็นทั้งดาราและแม่ค้าในเวลาเดียวกัน หรือหาลำไพ่พิเศษผ่านงานอื่นๆ

เมื่อเวลาและสมาธิถูกกระจายออกไป ก็ยิ่งทำให้นานวันเข้าเราเห็นดารามากมายเต็มวงการ แต่ใช้ศิลปะการแสดงแบบแค่ผ่านๆ ไม่ได้ลงลึกอะไรมากมายนัก

 

อาชีพนักแสดงซึ่งในอดีตรับรายได้ทางตรงจากการรับจ้างแสดง และรับรายได้ทางอื่นจากการที่ผลงานประสบความสำเร็จ แล้วส่งผลสู่มูลค่าอื่นๆ ที่ตามมาในภายหลัง เช่น ความโด่งดังของละครเรื่องหนึ่งทำให้นักแสดงเดินสายออกงานอีเวนต์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ ซึ่งรายได้ที่เป็นผลพวงสืบเนื่องจากละครเมื่อรวมกันแล้วอาจมากกว่ารายได้จากค่าจ้างแสดงด้วยซ้ำ

ทว่า ยุคทองของอาชีพนักแสดงเช่นนั้นได้จบสิ้นแล้ว จากการที่บทบาทนำของละครโทรทัศน์ล่มสลายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ

เช่น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจากยุคอะนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ชม และการที่โลกออนไลน์ผงาดขึ้นมาแทนโลกทีวีที่กำลังตายไปตามกาลเวลา

บุคลากรในวงการละครไทยปัจจุบันต่างตระหนักถึงสภาวะนี้ดีและไม่ได้นิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะมองไกลไปข้างหน้าแล้วหาทางกระโดดออกจากจุดที่ยืนอยู่ไปสู่จุดที่คาดว่าน่าจะเป็นในอนาคต

ดังนั้น ความพยายามดิ้นรนปรับตัวส่วนใหญ่จึงมักแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว โดยทุ่มพลังไปกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและท่าทีในปัจจุบันเสียมากกว่า

เช่น ปรับบทให้ทันยุคทันสมัย ปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวละคร บทพูด เสื้อผ้าหน้าผม และฉาก

นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างต่อเสียงของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น “มาตาลดา” ทางช่อง 3 ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของกลุ่ม LGBTQ+

มีการแตกสายไปสร้างละครในประเภทใหม่ๆ เช่น ละครวาย มีการยกระดับคุณภาพการถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี

มีการร่วมมือกันกับผู้สร้างหลายบริษัทหรือหลายประเทศ มีการผ่อนคลายข้อจำกัดที่ถูกเซ็นเซอร์ ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาฉาย ลดจำนวนตอน ลดความยาวให้สั้นลง เป็นต้น

 

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า “ยุคทอง” ของวงการละครโทรทัศน์ไทยได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

ซึ่งสาเหตุหลักก็ไม่ได้มาจากสถานี ผู้ผลิต นักแสดง และทีมงาน

แต่มาจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั่นเอง

ข้อบกพร่องต่างๆ อย่างเช่นกรณีล่าสุดที่ละคร “มรกตสีรุ้ง” ทางช่อง 7 ถูกวิจารณ์เรื่องต้นไม้วิเศษ เป็นเพียงองค์ประกอบยิบย่อยที่ไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายความล่มสลายของวงการได้

ในขณะที่เทคโนโลยีเป็นคลื่นที่ซัดโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสื่อบันเทิงไปอย่างมโหฬาร

เริ่มจากการกำเนิดของอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งบันเทิงทางเลือกเพิ่มขึ้น สถานการณ์ผูกขาดตลาดของสื่อโทรทัศน์ก็เริ่มสั่นคลอน กระทั่งพัฒนาไปสู่ยุคสมาร์ตโฟนที่ทุกคนต่างมีหน้าจอของตัวเองพร้อมกับทางเลือกในการบริโภคสื่ออย่างมหาศาล

เมื่อโลกดำเนินมาถึงจุดนี้ยุคทองของละครโทรทัศน์ไทยจึงถึงกาลอวสานลงอย่างถาวร

เพราะสถานะผูกขาดการเล่าเรื่องของช่องทางโทรทัศน์ได้ถูกทลายลง

หลักฐานยืนยันในเรื่องนี้เห็นได้จากสถิติของละครไทยที่ทำเรตติ้งสูงเป็นประวัติการณ์ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในยุคอะนาล็อกทั้งสิ้น โดยขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วง 10 ปีของทศวรรษที่ 2530-2540 ซึ่งฐานผู้ชมกระจุกตัวอยู่ที่ช่อง 7 มีสถิติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.คู่กรรม (2533) 2.ดาวพระศุกร์ (2537) 3.มนต์รักลูกทุ่ง (2538) 4.สายโลหิต (2538) และ 5.ทัดดาว บุษยา (2540)

ก่อนถูกแบ่งไปที่ช่อง 3 แล้วกระจายออกไปหลายช่องหลังการเกิดทีวีดิจิทัล กระทั่งลดอิทธิพลลงเป็นลำดับ

ทุกวันนี้โทรทัศน์กลายเป็นอุปกรณ์ชั้นรอง ขณะที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอุปกรณ์หลัก

ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่ละครโทรทัศน์เคยเป็นกระแสหลัก ในขณะที่ละครวิทยุเป็นกระแสรอง ก่อนที่ละครวิทยุจะเลือนหายไปในที่สุด

โลกในวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากยุคอะนาล็อกแทบจะสมบูรณ์แล้ว ออนไลน์เป็นหลัก ออฟไลน์เป็นรอง ไม่มีการผูกขาดการเล่าเรื่องจากสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์อีกต่อไป

แต่กลายเป็นผู้ผลิตเล็กใหญ่ในจำนวนมหาศาลที่แข่งกันผลิตคอนเทนต์ของตนออกเผยแพร่อยู่ตลอดเวลาโดยมิได้นัดหมาย

การเปลี่ยนแปลงนี้จึงไม่ได้กระทบแค่เพียงสถานีหรือผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังกระเทือนไปถึงบุคลากรทั้งหมดด้วย

เพราะการที่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำงานอยู่ทุกขณะก็ทำให้ทั้งดารานักแสดงและทีมงานทั้งหมดมีคู่แข่งที่เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งของการรับชมอยู่ตลอดเวลา

 

วงการละครไทยจะเดินต่อไปอย่างไร?

ขยับเคลื่อนสู่ทิศทางไหน?

อยู่รอดได้หรือไม่ในคลื่นของการเปลี่ยนผันอันเชี่ยวกราก คงไม่มีใครสามารถยืนยันคำตอบได้ในวันนี้

จนกว่าภูมิทัศน์ของสื่อบันเทิงยุคใหม่ในสมัยดิจิทัลจะ “นิ่ง”

และมีรูปแบบเป็น “new normal” ที่แน่ชัดและคาดการณ์ได้

เหมือนเช่นที่ยุคทองของละครโทรทัศน์ไทยสมัยทศวรรษที่ 2530-2560 เคย “normal” มาก่อน