นโยบายรับยาฟรี อีกก้าวของสำนักงานประกันสังคม ต้องก้าวให้ทัน สปสช. เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมคณะกรรมการประกันสังคม พลางคิดถึงเรื่องราวที่ได้ยินจากมิตรสหายที่ส่งต่อมาเกี่ยวกับผู้ประกันตนในประกันสังคม

เธอเล่าให้ผมฟังว่า คุณลุงวัย 60 กว่าๆ ถูกเลิกจ้างมาได้หลายปี เป็นผู้ประกันตน ม.39 นั่งอยู่ริมทางเดินแคบๆ ในชุมชน เล่าให้ฟังว่าเป็นเป็นภูมิแพ้อากาศ ทุกวันนี้ยังต้องทำงานรับจ้างทั่วไป ทั้งเลี้ยงชีพและเพื่อหาเงินมาซื้อยา

แม้จะมีประกันสังคม แต่การต้องเดินทางไปโรงพยาบาลที่อยู่ไกลเพื่อรับยาทุกเดือน ทำให้ต้องหยุดงานและเสียรายได้ไปวันละ 400-500 บาท จึงเลือกซื้อยาแทน

“หมอบอกว่าต้องกินยาต่อเนื่อง ไม่งั้นจะมีปัญหาแทรกซ้อน แต่ผมไปโรงพยาบาลทีก็ต้องเสียทั้งวัน บางทีก็ไม่ได้ไป เพราะต้องทำมาหากิน”

คำพูดของคุณลุงที่มิตรสหายส่งต่อมายังก้องอยู่ในหัว

 

นี่คือตัวอย่างของปัญหา “ฝนไม่ถึงดิน” ในระบบสาธารณสุขไทย ที่แม้จะมีนโยบายดีๆ แต่การเข้าถึงบริการยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

ในช่วงปีที่ผ่านมาหลักประสุขภาพถ้วนหน้าได้ริเริ่มการรับยาฟรีจากร้านยาใกล้บ้าน และขยายสู่ 32 อาการ

โดยปัจจุบัน ตัวเลขจากรายงานล่าสุดชี้ให้เห็นว่า มีร้านยา มีร้านยาคุณภาพที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2,649 แห่ง จากร้านยา 5,348 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของศักยภาพที่ควรจะเป็น

ที่น่าสนใจคือ ในปีที่ผ่านมา มีผู้รับบริการจากร้านยาเหล่านี้มากถึง 1.4 ล้านคน รวมจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการกว่า 3.5 ล้านครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยแต่ละคนใช้บริการ 2.48 ครั้งต่อปี

ตัวเลขที่น่าสนใจจากกรณีสิทธิ์นี้ คือการชดเชยค่าใช้จ่ายให้ร้านยาอยู่ที่เพียง 174.01 บาทต่อครั้งเท่านั้น

และในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีการจ่ายชดเชยรวมทั้งสิ้น 621.7 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้

แม้จะยังไม่มีรายงานที่สมบูรณ์ออกมา แต่ผลที่ได้ชัดเจนคือ การลด “ผู้ป่วยหน้าใหม่” ที่จะเข้าโรงพยาบาล แม้อาจไม่สามารถลดความ “แออัด” ของโรงพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะคนที่จำเป็นต้องหาหมอก็ยังต้องมาหาที่โรงพยาบาลอยู่ดี

แต่ผลข้างเคียงสำคัญคือการรักษาเงินในกระเป๋าคนไข้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนที่สุดปัญหาเรื่อง Moral Hazard การใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ตรงกับเป้าหมาย หรือแสวงประโยชน์จากนโยบายที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ ก็มีอยู่จริงแต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แก้ไขได้

 

สําหรับประกันสังคมที่ผู้ประกันตนส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน การคาดการณ์จำนวนผู้ใช้บริการในปีงบประมาณ 2567 หากใช้นโยบายนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 688,789 ครั้ง ซึ่งจะมีการชดเชยรวมเป็นเงินเพียง 123.9 ล้านบาทโดยประมาณ

นี่คือตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า การขยายสิทธิประโยชน์นี้ไม่ได้สร้างภาระทางการคลังของกองทุนประกันสังคมมากเกินไป หากประกันสังคมเริ่มใช้ตัวแบบนี้ตามประกันสังคม ตามสิทธิ์สามสิบบาทฯ ที่ประชาชนเริ่มใช้สิทธิ์มาแล้วปีกว่า

ใช้เงินไม่เยอะแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคุ้มค่าเกินคาด

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การเข้าถึงยาที่เหมาะสมสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะฉุกเฉินได้มากถึง 30% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานและความดันโลหิตสูง

ตัวเลขจากการศึกษาระบุว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลงถึง 17% และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดลงถึง 35%

สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 40% และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึง 25%

American Diabetes Association ยังชี้ให้เห็นว่า การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ได้มากกว่า 4,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี จากการป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ที่สำคัญ การให้บริการรับยาใกล้บ้านยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทุ่มเทเวลาให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์จริงๆ ได้มากขึ้น

แล้วทำไมเราถึงยังลังเลที่จะขยายสิทธิประโยชน์นี้ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งมีจำนวนถึง 13.5 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด?

 

ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ผมและเพื่อนๆ จึงขอเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาอย่างจริงจังในการขยายสิทธิการรับยาใกล้บ้านให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39

โดยให้คณะกรรมการการแพทย์ศึกษาความเป็นไปได้ในมุมมองสุขภาพ และให้อนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์พิจารณาผลได้ผลเสียต่อทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน

โดยเราต้องร่วมติดตามกันต่อไปภายใต้กรอบ 45 วัน

เพราะสุดท้ายแล้ว การทำให้ “ฝนถึงดิน” ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขหรือนโยบาย

แต่เป็นเรื่องของการทำให้ระบบสาธารณสุขตอบโจทย์ชีวิตจริงของผู้คน โดยที่ไม่ต้องเพิ่มภาระงบประมาณมากนัก

อย่างน้อยก็เพื่อให้คนธรรมดาที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่ต้องเลือกระหว่างการทำมาหากินกับการดูแลสุขภาพของตัวเองอีกต่อไป