ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มีเรื่องบอกกล่าว

สำหรับการประกวดเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม “มติชนอวอร์ด 2024”

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ จะนำเสนอเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก เป็นฉบับสุดท้าย

นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่ตีพิมพ์เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม มาตั้งแต่ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 มาถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 6 เดือน

มีผลงานทั้ง 3 ประเภท รวมกว่า 800 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกรอบแรก อย่างละ 26 ผลงาน

(อ่านและชมผลงานที่เข้ารอบ ย้อนหลังได้ที่ https://www.matichonweekly.com)

หลังจากนี้ เราจะคัดสรรผลงานเข้ารอบสุดท้าย ประเภทละ 10 ผลงาน

แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคนนอก 9 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม ประเภทละ 3 ท่าน ตัดสินคัดเลือก ว่าผู้ใดสมควรจะได้รับมติชนอวอร์ด 2024

อันประกอบด้วย 1) รางวัลชนะเลิศ 2) รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ 3) รองชนะเลิศอันดับสอง

คาดว่าจะประกาศได้ในช่วงปลายปี 2567

ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป

 

ต้องถือเป็นความลำบากใจของคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน อย่างยิ่ง

เพราะจากผลงานที่ส่งเข้ามาประกวด รวมทั้ง 3 ประเภท กว่า 800 ผลงานนั้น

ยากยิ่งที่จะชี้ว่า ใครดีกว่าใคร แต่กระนั้น ที่สุดก็ต้องมีเรื่องที่ผ่านการคัดเลือกและไม่ผ่านการคัดเลือก

ซึ่งย่อมทำให้มีผู้ผิดหวังและสมหวัง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราต้องค้อมหัวคำนับ และให้คะแนนเต็ม 100

นั่นคือความตั้งใจของนักเขียนทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ที่มีส่วนทำให้แวดวงเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมือง

คึกคักและมีชีวิตชีวา

ถือเป็นการผลักดัน สนับสนุน ส่งเสริม ให้แวดวงวรรณกรรมและการ์ตูนการเมือง เดินหน้าต่อไป

 

เมื่อว่าถึงการ “ผลักดัน สนับสนุน ส่งเสริม” วรรณกรรมแล้ว

โปรดพลิกไปที่หน้า 24

อ่านบทความพิเศษของ ด๊อกเตอร์สิริกร มณีรินทร์ เรื่อง

“ใครสร้าง ฮัน คัง นักเขียนรางวัลโนเบล”

อ่านแล้ว จะเห็น “ตัวอย่าง” ว่า การผลักดันนักเขียน ให้เป็นนักเขียนระดับโลกและได้รับรางวัลโนเบลนั้น

ต้องทุ่มเทอย่างไร

โดยเฉพาะรัฐบาล จะต้องมีบทบาทอย่างมาก

ด๊อกเตอร์สิริกร มณีรินทร์ บอกว่า “ฮัน คัง” นักเขียนชาวเกาหลีใต้ นอกจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้แล้ว

ยังทำให้เธอเป็นนักเขียนหญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลระดับโลกนี้

แต่ที่สำคัญ ยังสื่อความหมายยิ่งใหญ่ว่า โลกยอมรับในคุณค่าของวรรณกรรมเกาหลีใต้

แน่นอน รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

โดยได้สร้างวัฒนธรรมการอ่านมาร่วม 20 ปี

ได้วางรากฐานอย่างมีระบบ รอบด้าน

เริ่มตั้งแต่ สร้างนักอ่าน นักเขียน นักแปลและธุรกิจการพิมพ์หนังสือ ให้แข็งแกร่ง

จนประสบความสำเร็จในที่สุด

ตอนนี้หนังสือของฮัน คัง ขายดีมากกว่า 1 ล้านเล่มในเกาหลีใต้ในเดือนนี้

มีโพสต์แสดงความยินดีกับฮัน คัง มากมาย

แสดงว่าหนังสือของเธอเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ รวมถึงวงการ K-pop และวงการบันเทิง

วี นักร้องวง BTS ซึ่งมีผู้ติดตาม 46.7 ล้านคน โพสต์อินสตาแกรมว่าอ่านนวนิยายเรื่อง Human Acts ของฮัน คัง ระหว่างเกณฑ์ทหาร และ “มีผลกระทบอย่างมากต่อตัวผม”

 

วรรณกรรมเกาหลีใต้

กลายเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” อันทรงพลังของเขาอีกประเภทหนึ่งแล้ว

ส่วน “วรรณกรรมไทย” ก้าวไปถึงขนาดไหน

คำตอบยังคงวนเวียนเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่เคลื่อนไปไหว

แถมยัง “ถอยหลัง” อีกด้วย? •