ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
การทำงานใหญ่ต้องอดทน รอโอกาสให้ได้ จังหวะนิ่ง ให้นิ่งดุจคนตาย จังหวะถอย ถอยให้เป็น อย่าได้ลังเล แต่ต้องมากด้วยความระมัดระวัง อย่าให้หกล้ม…ทำเอาคอการเมืองพากันอ้าปากหวอ ยืนงงในดงกล้วยตามๆ กันกับท่าที “กลับลำ” 180 องศาของลูกพรรคเพื่อไทย ในการลงมติรับ-ไม่รับ กับข้อสังเกตในรายงานของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม”
ที่โหวตกันเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ผลปรากฏว่า มีเสียงเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 269 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยมีการตั้งข้อสังเกต ฝั่งที่เห็นด้วยเป็นของ “พรรคประชาชน” 138 คน ไม่อยู่ในที่ประชุม 7 คน นอกนั้นมาจาก “นายไชยาพวาน มั่นเพียรจิตต์” ส.ส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า “นายกัณวีร์ สืบแสง” พรรคเป็นธรรม
มีพรรคเพื่อไทยแหกโผข้ามดงมะขามเตี้ย มาร่วมแจม 11 คน ประกอบด้วย “นายจาตุรนต์ ฉายแสง-นายชูศักดิ์ ศิรินิล-นายวิสุทธิ์ ไชยการุณ-นายสุธรรม แสงประทุม-นายอดิศร เพียงเกษ-นายก่อแก้ว พิกุลทอง-นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” เป็นต้น ขณะที่ “น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล” โหวตงดออกเสียง ทั้งๆ ที่เป็นผู้เสนอ
ที่สร้างความแปลกประหลาด เพราะก่อนหน้าที่จะลงมติ พรรคเพื่อไทยนัดประชุม ส.ส.และมีมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของกรรมาธิการ (กรธ.) แต่พอลงมติจริงกลับให้ฟรีโหวต เสียงของ ส.ส.ส่วนใหญ่ 115 เสียง กลับลำกลางอากาศ โหวต “ไม่เห็นด้วย” 115 เสียง เห็นด้วยเพียง 11 คน งดออกเสียง 4 ตีกรรเชียงหนีไม่อยู่ในที่ประชุม 12 คน
ฝั่งของเสียงที่ไม่เห็นด้วย เป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” ยกทั้งดุ้น ประกอบด้วย “ภูมิใจไทย” 65 คน ไม่อยู่ในที่ประชุม 4 ราย “พลังประชารัฐ” ไม่เห็นด้วย 26 คน “รวมไทยสร้างชาติ” ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่อยู่ในที่ประชุม 9 คน “ประชาธิปัตย์” ไม่เห็นด้วย 13 คน “ชาติไทยพัฒนา” ไม่เห็นด้วย 5 คน “ประชาชาติ” ไม่เห็นด้วย 6 คน และ “ชาติพัฒนา” ไม่เห็นด้วย 3 คน
“เผือกร้อน” คือรายงานฉบับดังกล่าว จัดทำโดย กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่แต่งตั้งร่วมกันจำนวน 35 คน และคนที่ได้รับฉันทามติให้เป็นประธานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน วางตัวให้ “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย นั่งแป้น ซึ่งผลศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ “อาจารย์ชู” ยังไม่ได้รับตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ และได้ฤกษ์พิจารณารายงานกันจริงๆ จังๆ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม
ก่อนที่จะลงมติคว่ำ มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์ ส่งฝีปากคมมากระทุ้งไม่เห็นด้วย ชี้ให้เห็นว่า การนิรโทษกรรมการกระทำความผิดให้กับผู้ต้องหา/จำเลย ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า คดี 112 ไม่ใช่คดีการเมือง จึงไม่เห็นด้วย และ “ไม่รับรายงาน”
มีการตั้งข้อสังเกตกับท่าทีของ “ส.ส.เพื่อไทย” ที่แตกออกเป็น 3 ส่วน สับขาหลอกอะไรหรือไม่ มีทั้ง “เห็นด้วย” กับ “ไม่เห็นด้วย” และงดออกเสียง แต่เสียงส่วนใหญ่ 115 เสียงออกทางฝั่งไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่ว่าห้องเครื่องที่เสนอให้สภา คือ ส.ส.เพื่อไทย เท่ากับตัวเองเป็นเจ้าภาพ เสนอเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ถูกพรรคร่วม ทั้ง “ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์” แสดงจุดยืนคัดค้านมาตลอด ในท้ายที่สุด “เพื่อไทย” ตีไพ่หมอบยอมล้มโต๊ะ ทั้งๆ ที่ว่าตอนแรกคิดว่าเกมน่าจะสนุก เพื่อไทยพลิกไปปิดดีลร่วมกับ “พรรคประชาชน”
แต่ท้ายที่สุด “เพื่อไทย” ยอมกลืนเลือดตัวเอง ทั้งๆ ที่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ประกาศบนเวทีหาเสียงทั่วประเทศว่า จะนิรโทษกรรม เท่ากับประกาศเทมวลชนหน้าตาเฉย
ดั่งที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ระยะหลังๆ “นายใหญ่เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร” ลมเปลี่ยนทิศ เป็นแมวไม่กินปลา ปล่อยวาง โลว์โปรไฟล์ปลีกวิเวกออกจากสนามข่าวและสนามการเมือง กบดานอยู่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า เก็บตัวเงียบเชียบอย่างผิดปกติ เหตุและปัจจัย ยอมปรับจูนโมเมนตัมตัวเอง น่าจะไม่ใช่กิจอะไรอื่น นอกจากจะอุ้มลูกสาวให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่ง จุดไหนเงื่อนไขอะไรที่เป็นภาระให้ “ลูกสาว-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” สะดุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เจ้าตัวสลัดทิ้งหมด
ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ระบอบทักษิณ” ยึดเมืองมาได้หลายต่อหลายครั้ง แต่รักษาเมืองเอาไว้ได้มาตลอด เครือข่าย “ชินวัตร” นั่งแท่นหมายเลข 1 ตึกไทยคู่ฟ้ามาแล้ว 4 คน จาก “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ต่อด้วย “น้องเขย-นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ลำดับต่อมาเป็นน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แต่ไม่มีใครลงจากหลังเสือแล้วเสือไม่กัด
มาถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ถือว่าเป็นไพ่ใบสุดท้าย “ทักษิณ” ต้องหาสาเหตุและกลวิธีแห่งหนทางอยู่รอดอย่างสุดลิ่ม ถนอมยิ่งกว่าไข่ในหิน และ “อุ๊งอิ๊ง” ถือว่าเป็นลูกสาวคนโปรด ยีนเหมือนพ่อ เจ้าตัวสารภาพว่า เป็นฝ่ายครอบงำ บงการพ่อมากกว่า ด้วยประการดังกล่าว สิ่งไหนอะไรที่แสดงถึงตรรกะอันตราย “คุณโทนี่” ยอมศิโรราบทุกอย่าง
พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลก็จริง แต่เสียงไม่ขาดเหมือนสมัยตัวเองและยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ที่กุมเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว จึงไม่ขอทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ถอยได้เป็นถอย เนื่องจากกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ การกดปุ่มกลับลำคว่ำกระดาน รายงานที่จัดทำโดย กมธ.วิสามัญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ก่อนหน้านี้เพื่อไทยก็โยนผ้ายอมแพ้ไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยมาหนหนึ่งแล้วกับเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ยอมหือยอมอือ
จะใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ อยู่เบื้องหลัง ให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นให้ได้ภายใน 3 ปี เมื่อชาวบ้านอยู่ดีกินดี กระแสนิยมเพื่อไทยจะฟื้นมาเองโดยอัตโนมัติ
เทกระจาดทิ้งมวลชน ยอมผิดคำพูดที่หาเสียงเอาไว้ แต่พรรคเพื่อไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายตัวเสื้อ เศรษฐกิจดีเมื่อไหร่ กระแสก็มาเมื่อนั้น