‘บรรทัดสุดท้าย’ ขององค์กรตำรวจ

ภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีของตำรวจสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

ไม่ใช่แค่ “ความรู้สึก” แต่เป็นความจริงที่พิสูจน์จับต้องได้

เมื่อก่อนนั้น “หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด” ใช้แค่ยศ “พันตำรวจเอก” ตำแหน่ง “ผู้กำกับการ” ปกครองบังคับบัญชาทั้งจังหวัด

ส่วนหัวหน้าโรงพัก ไม่มีใครใหญ่เกิน “สารวัตรใหญ่” แม้ยศแค่ “พันตำรวจโท” ก็คุมทั้งการบริหารจัดการและงานวิชาชีพเข้มข้นขึงขัง ขลังและศักดิ์สิทธิ์ (ในการบังคับใช้กฎหมาย)

สมัยนี้ “หัวหน้าโรงพัก” ใช้นายพันตำรวจเอกระดับ “ผู้กำกับการ”

เชื่อหรือว่า เทียบชั้นสารวัตรใหญ่ได้

ในหน่วยอื่นๆ ที่เรียก “กองกำกับการ” เช่นในวันนี้ แต่ก่อนก็ใช้ “สารวัตร” ที่มียศตั้งแต่พันตำรวจตรีถึงพันตำรวจโทเท่านั้นทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าแผนก” หลายคนสร้างชื่อเสียงฝากฝีไม้ลายมือเลื่องลือเอาไว้ตั้งแต่ช่วงที่เป็นสารวัตร ทำงานสอบสวนเป็น กฎหมายแม่น สืบสวนจับกุมคนร้ายได้

ไม่ใช่วันๆ คิดแต่ว่าจะ “หาเงิน” จากที่ไหน

 

ทุกวันนี้ตำรวจเปลี่ยนไปมากจนเลยเส้น!

แม้จะชั้นยศพลตำรวจตรี พลตำรวจโท หรือกระทั่ง “พลตำรวจเอก” ก็ต้องกรองแล้วกรองอีก เพราะหลายคนไม่เคยจับกุมคนร้าย สอบสวนไม่ได้ ยิงปืนไม่เป็น

บางคนบนเส้นทางตำรวจที่ผ่านมามีแต่ทำผิดกฎหมาย แปดเปื้อนสกปรกจนเข้าขั้นให้ตำแหน่ง “หัวหน้าองค์กรอาชญากรรม” ได้เลย

ถ้าหาก “นาย” ใช้ทุกตำแหน่งทุกหน้าที่แสวงหาแต่ผลประโยชน์ ไปอยู่หน่วยไหนใครๆ ก็รู้ว่ามาเพื่ออะไร ความเชื่อถือจากคนในหน่วยก็สิ้น

ระเบียบวินัยตำรวจที่มีบังคับไว้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าลูกน้องต้องเคารพนายด้วยหัวใจ ที่ยังอยู่ร่วมกันได้ถึงวันนี้ก็เพราะมีผลประโยชน์ร้อยจัดสรรระหว่างกันลงตัว

ขัดกันเมื่อไหร่ วันไหน ไม่ว่าพี่ไม่ว่าน้อง ไม่ว่าเล็กไม่ว่าใหญ่ ไม่ว่านายหรือลูกน้อง ใครมาก่อนหรือมาทีหลัง ทุกคนมีเสรีที่จะทำลายกันสุดลิ่ม

ยิ่งถ้าต่างฝ่ายต่างมีฤทธิ์ มีแบ๊กแข็งแกร่ง มีพวกมากสามารถก่อสงครามสาวไส้ ล้างผลาญ ห้ำหั่นกันด้วยเทคนิควิธีตำรวจได้เลย ถึงตอนนั้นอย่าได้ถามถึงความเป็นสุภาพบุรุษสุดเท่ ทุกคนหน้าไหว้หลังหลอก ถือมีดอยู่ข้างหลังพร้อมกะซวกให้ตายกันไปข้างหนึ่ง

 

ระบบการเมืองเลวในรอบเกือบ 20 ปีไม่สามารถเกื้อกูลให้เกิดสิ่งดีๆ ในระบบอื่นๆ ของสังคมได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือองค์กรตำรวจนั้นเป็น 1 ในองค์กรของ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาในทางที่ดีมานานแล้ว

“เข็มมุ่ง” ตำรวจอยู่ที่การเอาตัวรอด เห็นแก่ได้

ไม่ได้มุ่งพิทักษ์รับใช้ประชาชน!!

ผู้คนทั่วๆ ไปมองเห็นได้ สัมผัสได้ถึงความไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีมาตรฐานของตำรวจ

แบบนี้สักวันหนึ่งองค์กรตำรวจก็ต้องประสบกับการสูญเสียครั้งใหญ่

จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า ผู้ใดควรจะ “รับผิดชอบ”

ตามกฎหมายแล้วองค์กรตำรวจขึ้นตรงกับผู้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ!

แต่ผู้นำทางการเมืองหลายคนสืบทอดพฤติกรรมต่อเนื่องกันมา ใช้ตำรวจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้ามกับคนเห็นต่าง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับฝ่ายหนึ่ง แต่ผ่อนปรน ปล่อยปละละเลย ฉ้อฉล และช่วยเหลืออีกฝ่ายหนึ่ง จนเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า “กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์”

“กฎหมาย” แม้จะบัญญัติไว้ทันสมัยตามทันเหตุการณ์ แต่ถ้าการบังคับใช้ “คดงอ” ก็จะมีสภาพที่ “ไม่เป็นกฎหมาย”

กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์คือกฎหมายที่คร่ำครึ ล้าหลัง ปฏิบัติไม่ได้

แต่ในสังคมไทย “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” คร่ำครึ ล้าหลัง

องค์กรตำรวจมีอัตรากำลังใหญ่โตเทอะทะมาก

แต่ใน “ความมาก” ที่ว่านั้น

ที่นับเป็น “สาระสำคัญ” มีน้อย

ที่ “ไม่สำคัญ” กลับมีมาก

การปรับโครงสร้างและขยายตัวขององค์กรตำรวจที่ผ่านมา “กลับหัวกลับหาง”!!

สังคมไม่ได้ประโยชน์จากความใหญ่โตเทอะทะขององค์กรตำรวจ ไม่เคยมีการ “ผ่าตัด” เพื่อเอากำลังตำรวจไปกองไว้ในที่ที่จะเป็นประโยชน์กับงานพิทักษ์รับใช้ประชาชน

“เข็มมุ่ง” ของตำรวจถูกทำให้บิดเบือนไป

ปริมาณงานส่วนมากของตำรวจเป็นเรื่องเหลวไหล

การแต่งตั้งโยกย้ายบำเหน็จความดีความชอบที่ผ่านมาก็สุดจะเลวร้าย ถึงขั้น “ผู้ร้าย” โดยนิสัยและการประพฤติสามารถเข้ายึดครองตำแหน่งสำคัญๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

ตํารวจที่ยังเหลืออยู่ในราชการ “ทดสอบ” ด้วยตัวเองดูได้

ลองหานายที่สามารถเป็น “ตัวแบบ” ของตำรวจผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน มาให้ได้สักคน

ให้ตำรวจทุกลำดับชั้นยศและตำแหน่งสำรวจตรวจสอบ “สภาพขององค์กร”

ถ้ามี “ตัวแบบ” ที่ว่าก็ดี

แต่ถ้า “ไม่มี” แล้วละก็ ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรตำรวจที่มีกำลังพลนับแสน

เหตุใดจึงหาตัวแบบ “ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน” ไม่ได้สักคน

คำถามต่อไปคือ คุณคิดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรจากระบบตำรวจแบบนี้

และถ้าระบบตำรวจเป็นอย่างนี้ พฤติกรรม วัฒนธรรมองค์กร และแนวประพฤติปฏิบัติเป็นเช่นในทุกวันนี้ ประชาชนจะเชื่อหรือว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่บิดเบี้ยว ไม่เบี่ยงเบน มีความมั่นคง สุจริต คงเส้นคงวา

เหตุที่คนไม่เคารพกฎหมายก็เพราะสภาพสังคมทำให้ “เชื่อว่า” ถึงจะมีกฎหมายก็ละเมิดได้

เหตุที่คนท้าทาย หรือมีพฤติการณ์ไม่ยำเกรงตำรวจก็เพราะ “เชื่อว่า” เครื่องแบบตำรวจ ยศ ตำแหน่ง อำนาจ หน้าที่ ทั้งหมดนั้นเป็นแค่ “ภาพลวงตา”

ของจริงคือ “เงิน”!

จะไปโทษประชาชนไม่ได้ ที่เชื่อว่า เงินซื้อได้ทุกสิ่ง

แม้แต่ในแวดวงตำรวจเอง “เงิน” ก็สามารถซื้อและทำให้ “เส้นแบ่ง” ระหว่างความเป็น “ตำรวจ” กับ “มิจฉาชีพ” หายไป

ใช้เงินเป็นของขวัญ ใช้เงินเป็นเครื่องบรรณาการ เป็นบันไดไว้เหยียบย่างจากเล็กสู่ใหญ่ จากใหญ่เป็นใหญ่ขึ้น กระทั่งเป็น “ใหญ่กว่า”

แล้วถ้าหากสมมุติว่าไปถึงจุด “ใหญ่ที่สุด” ล่ะ บรรทัดสุดท้ายขององค์กรตำรวจคืออะไร!?!!!