ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
คดีตากใบหมดอายุความลงท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง หลังจากที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยและผู้ต้องหาที่เป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในกองทัพ และมีตำแหน่งทางการเมือง มาดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายได้ทันเดดไลน์ วันที่ 25 ตุลาคม 2567
คดีนี้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดด่างพร้อยในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 14 คน หลบหนีหมายจับของศาล เมินเฉยต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่ยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นในอดีต ที่พวกเขาเคยร่วมกันสร้างบาดแผลซึมลึกให้กับครอบครัวผู้สูญเสียในโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งบนดินแดนปลายด้ามขวานของไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีประชาชนในพื้นที่ราว 1,300 คน ออกมารวมตัวกันที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องและกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกควบคุมตัวไป
จากนั้นเหตุการณ์ก็เริ่มบานปลายและทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อผู้ประท้วงบางส่วนได้ขว้างปาก้อนหินและใช้ท่อนไม้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย
ต่อมา พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ยศในขณะนั้น) ได้เป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ หลังจากพยายามเจรจาแบบสันติวิธีกับผู้ชุมนุมนานกว่า 7 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ข้อยุติ
โดยมีการใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ 7 ราย และหลังจากนั้นได้มีการควบคุมตัวผู้ประท้วงทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ด้วยรถบรรทุกจีเอ็มซีของทหาร
แต่ประชาชนที่ถูกจับกุมตัวไปถูกบังคับให้นอนหมอบลงกับพื้นและถูกจับมัดมือ พร้อมทั้งบังคับให้นอนทับกันหลายชั้นในรถบรรทุกอย่างแออัด ตลอดการเดินทางกว่า 5-6 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต 78 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมตากใบทั้งหมด 85 ราย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีความพยายามรื้อฟื้นคดีขึ้นมาหลายครั้ง หลายรัฐบาล โดยความพยายามครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ พร้อมด้วยกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส
เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม
จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 และออกหมายจับจำเลยทั้ง 7 คนในเดือนกันยายน ได้แก่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย, พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส
ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
แต่กระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์คดีตากใบกลับสูญเปล่า เนื่องจากจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ปรากฏตัวต่อหน้าศาลก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2567
พวกเขาไม่กล้าเผชิญหน้ากับความผิดที่ได้ก่อเอาไว้ในอดีต ส่งผลให้คดีขาดอายุความลง สร้างความเจ็บปวดในใจของญาติผู้เสียชีวิต
พร้อมทั้งตอกย้ำวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครได้รับบทลงโทษทางกฎหมายเลย โดยเฉพาะกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนท่าทีและความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีต่อคดีตากใบตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ต่างก็มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ คดีนี้มีจุดเริ่มต้นที่ทักษิณ ชินวัตร จ่ายเงินเยียวยาในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคดีหมดอายุความในรุ่นลูกคือ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร
ก่อนหน้านี้ในยุคทักษิณได้ทำให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทรุดหนัก ทั้งจากคำพูดคำจาและนโยบายด้านความมั่นคงที่เข้มข้นในการจัดการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
แต่หลังจากผ่านเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 และยิ่งลักษณ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เมื่อปี 2554 ทักษิณก็ได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อพี่น้องมุสลิม ยอมรับผิดที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในการสลายการชุมนุม และกล่าวขอโทษบรรดาญาติพี่น้องผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับความเสียหายในคดีตากใบอีกครั้งในปี 2565
ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีการจ่ายเงินเยียวยารวมทั้งสิ้น 987 ราย คิดเป็นเงินทั้งหมด 651,451,200 บาท และล่าสุดนายกฯ อิ๊งค์ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และกล่าวขอโทษในนามของรัฐบาล พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
ส่วนกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อต่ออายุความในคดีสลายการชุมนุม นายกฯ อิ๊งค์ระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. และไม่เข้าเกณฑ์ในการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ
ด้าน รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.พรรคประชาชน แสดงมุมมองในรายการประชาธิปไตยสองสี : ใบตองแห้ง ทางยูทูบมติชนทีวี โดยระบุว่าการปล่อยให้คดีขาดอายุความและไม่มีใครเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา
“พรรคประชาชนเราสนใจเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่แรก มันเป็นจุดยืนทางการเมืองของเรา เราไม่อยากเห็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เราต้องผลักดันนโยบายและกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอีก และไม่ใช่แค่กรณีของตากใบเท่านั้น”
“คดีตากใบขาดอายุความ มันก็เหมือนเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นอีกแล้ว ทำไมเราต้องปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก”
“รัฐที่ชอบธรรมไม่มีสิทธิ์ฆ่าประชาชน หรือฆ่าผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง” รอมฎอนกล่าว และยืนยันว่า จะใช้ช่องทางอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศลุยคดีตากใบต่อ
ขณะที่ กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง โดยเชื่อว่ารากเหง้าของปัญหาจะยิ่งดิ่งลงไป พร้อมแนะรัฐบาลให้ใช้ศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญาชายแดนใต้
“สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความรุนแรง หรือจำนวนสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราคงไม่สามารถตอบได้ แต่รากเหง้าของปัญหาจะยิ่งดิ่งลึกลงไป การสร้างสันติภาพเป็นเรื่องสละสลวย มันไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ มันคือศิลปะ”
“รัฐบาลชอบมองทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อว่ายิ่งลงงบประมาณไปมากเท่าไหร่จะแก้ปัญหาได้ เชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะลงเงินไปกี่หมื่นกี่แสนล้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คุณก็จะไม่สามารถสร้างสันติภาพได้เลย ถ้าคุณไม่รู้จักการสร้างสันติภาพที่แท้จริง”
“ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร และเป็นผู้นำรัฐบาลชุดนี้ ท่านวางยุทธศาสตร์ของท่านหรือยังว่าจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและกระบวนการในการสร้างสันติภาพในพื้นที่อย่างไร”
“ท่านนายกฯ ต้องบอกให้ได้ว่าท่านจะทำอะไรต่อไป เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนให้กลับคืนมา และให้เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทย” กัณวีร์กล่าว
ขณะเดียวกันหลังจากคดีตากใบหมดอายุความลงปรากฏว่า นายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีตากใบได้กลับมาปฏิบัติราชการทันที หลังจากที่ได้ยื่นลาพักผ่อนช่วงวันที่ 15-18 ตุลาคม แต่ผู้บังคับบัญชาได้ยกเลิกใบลา เนื่องจากมีหมายจับ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลามากกว่า 10 วัน จนกระทั่งคดีสิ้นสุดอายุความ
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการ จ.นครพนม ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นว่า จ.นครพนม ทราบหรือไม่ว่านายวิษณุตกเป็นจำเลยในคดีอาญา เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งให้ทราบว่ามีหมายจับ และประสานขอให้ส่งตัวเพื่อดำเนินการหรือไม่ พร้อมทั้งขีดเส้น 15 วันให้ จ.นครพนม รีบดำเนินการโดยด่วน
ปิดท้ายกันที่มุมมองของ รังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ออกมาซัดแรงถึงพรรคเพื่อไทย ชี้กรณีนายวิษณุสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอิ๊งค์ไม่ได้พยายามอะไรเลย
การที่คดีตากใบจบแบบนี้อาจจะเป็นความพึงพอใจของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้จบแบบมีความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย
แต่จบลงแบบไม่มีใครถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้เลย
ตอกย้ำประวัติศาสตร์ บาดแผล ซึมลึก เจ็บปวดในใจคน!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022