ทำได้แค่ ‘อยู่ต่อไป’

ท่ามกลางข่าวกระแสที่ทะลักออกมาล้นทุกช่องทางการนำเสนอของสื่อที่นำความสนใจของประชาชนไปในทางสะท้อนความเลวร้ายของการสร้างความร่ำรวยโดยใช้ “ความเดือดร้อนของผู้ถูกหลอกลวง” เป็นบันไดให้ชีวิตไต่ขึ้นสู่ความสำเร็จ และความฟอนเฟะของการสร้างเนื้อสร้างตัวและสำนึกการใช้ชีวิตในกรอบศีลธรรมอันดีของกลุ่มคนในชนชั้นที่ควรเป็นแบบอย่างที่เหมาะสมให้กับสังคม

เหมือนความเป็นไปทางการเมืองซึ่งเป็นหัวใจของการฟื้นฟูวิกฤตประเทศจะไม่มีผู้คนใฝ่คิดเฝ้าติดตามไปแล้ว

แต่เมื่อ “นิด้าโพล” เลือกเรื่องสำรวจล่าสุดเป็น “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” คงทำให้หลายคนมีความหวังขึ้นมาหน่อยว่า “ความรู้สึก นึก คิดของผู้คนในสังคมไทยไม่ถูกชักจูงไปวุ่นวายอยู่กับเรื่องที่สะท้อนความเสื่อมทรามเช่นนั้นไปเสียหมด”

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังมีสมาธิอยู่กับประเด็นที่เป็นหัวใจของการจัดการปัญหา

 

ว่าไป “อุ๊งอิ๊งจะไปรอดหรือไม่” เป็นประเด็นที่ถามไถ่กันต่อเนื่องในวงสนทนา โดยเฉพาะที่คนที่มีความหวังกับ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

การ “ข้ามขั้ว” มายืนนำใน “พรรคร่วมรัฐบาลชุดเก่า” ที่รับรู้กันอยู่ว่า ไม่สนว่าอะไรจะเป็นไปอย่างไร ขอให้ได้เป็นรัฐบาลยืนอยู่อย่างมีอำนาจในการจัดการผลประโยชน์ของชาติเป็นอันใช้ได้นั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับพรรคที่ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องฟื้นฟูประชาธิปไตย

และช่วงที่ผ่านมาเห็นชัดว่า “เพื่อไทย” ขยับอะไรไม่ออก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “สูญเสียการนำที่แท้จริง” ไปแล้ว ทำให้คำถาม “อุ๊งอิ๊งไปไหวหรือไม่” แทรกเป็นหัวข้อหนึ่งในทุกวงสนทนาอย่างที่ว่า

 

จาก “นิด้าโพล” ร้อยละ 41.68 เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570, ร้อยละ 19.08 เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569), ร้อยละ 16.87 เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568), ร้อยละ 11.99 เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570, ร้อยละ 9.77 เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

แม้รวมแล้วส่วนใหญ่จะเชื่อว่าอยู่ได้ แต่มีเปอร์เซ็นต์ไม่ต่างกันนักที่เห็นว่าไปได้อีกไม่นาน

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อถามถึงเหตุที่จะทำให้ “ไม่ต่อไม่ได้” ร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง,

ร้อยละ 32.52 ให้น้ำหนักไปที่กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย,

ร้อยละ 29.47 ชี้ไปว่า การบริหารที่ผิดพลาดของนายกฯ แพทองธาร จนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤต,

ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย,

ร้อยละ 19.77 เชื่อว่าการบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น,

ร้อยละ 17.25 เห็นความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล,

ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้ไปต่อไม่ได้,

ร้อยละ 10.92 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง,

ร้อยละ 9.62 ให้น้ำหนักที่การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง,

ร้อยละ 9.08 ระบุว่า การทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล,

ร้อยละ 8.24 เห็นว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีประเด็นอ่อนไหว,

ร้อยละ 8.09 ชี้ไปที่ประเด็นคดีตากใบ

และร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล

 

ที่เห็นว่าน่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเข้าใจโครงสร้างอำนาจการเมืองในระดับที่เรียกว่าเป็นอย่างดี

ภาพนี้สะท้อนจากมีแค่ร้อยละ 6.95 หรือน้อยที่สุดเท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้เพราะ “รัฐประหาร” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นเงื่อนไขอื่น ไม่มีครั้งใดที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนจะถูกล้มด้วยกลไกอื่น ทุกครั้งจบลงที่รัฐประหารทั้งนั้น

แต่หลังจากมีการเขียนรัฐธรรมนูญเอา “กลไกของระบอบสืบทอดอำนาจ” มาใส่ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจะเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธล้มล้างรัฐบาลนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็น “บทบาทของนักร้องเรียน” เสียเป็นส่วนใหญ่

นักร้องเรียนที่เป็นตัวชงให้ “กลไกตามรัฐธรรมนูญ” จัดการ

รัฐธรรมนูญที่ปิดทางแก้ไข เพื่อ “คงกลไกระบอบสืบทอดอำนาจไว้” โดย “พรรคการเมือง” ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือก แสดงอำนาจแข็งขันที่จะปกป้องไว้

และพรรคการเมืองที่เชื่อมั่นใจอำนาจประชาชนทำอะไรไม่ได้