ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
เราได้ยินข่าวเรื่องศักยภาพและความสามารถอันเก่งกาจของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อยู่เรื่อยๆ และได้เห็นตัวอย่างชัดๆ มาหลายครั้งหลายคราว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้จริงๆ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทรงอานุภาพขนาดนี้จะอย่างไรก็ต้องถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างความเสียหายและทำลายล้างได้ไม่ต่างกัน
และดูเหมือนกับว่าฝั่งมิจฉาชีพจะมีทักษะการหยิบ AI มาใช้หลอกลวงได้ไม่แพ้ฝ่ายที่หยิบมาใช้ทำเรื่องดีๆ เลย
ข่าวล่าสุดที่รายงานโดย NBC Miami ระบุว่ามีมิจฉาชีพพยายามใช้ AI เพื่อหลอกฮุบบ้านทั้งหลัง!
เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสิทธิความเป็นเจ้าของบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่ต้องการขายบ้านนั้นเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงได้รับการติดต่อจากผู้หญิงคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินผืนหนึ่งและเธอต้องการจะขาย ทางบริษัทจึงขอวิดีโอคอลล์เพื่อยืนยันตัวตน
ในตอนแรกผู้หญิงคนนั้นอ้างว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการได้ยินและไม่สะดวกที่จะวิดีโอคอลล์ แต่ผ่านมาไม่กี่วันทางบริษัทก็ได้รับอีเมลว่าเธอพร้อมจะเข้าวิดีโอคอลล์แล้ว
เมื่อกดเข้าไปในคอลล์ สิ่งที่ตัวแทนบริษัทเห็นก็คือภาพวิดีโอของผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องและมองจ้องกล้องเขม็ง แว้บแรกก็อาจจะไม่คิดอะไร แต่มองไปสักพักก็รู้สึกว่าผู้หญิงในวิดีโอดูแปลกๆ
เมื่อทางตัวแทนบอกให้เธอลองยกมือขึ้น ผู้หญิงคนนั้นก็นั่งนิ่งไม่ขยับ
ใช้เวลาไม่นานทางตัวแทนก็สรุปได้ว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้าเป็นวิดีโอของปลอมที่น่าจะสร้างขึ้นมาจาก AI และเป็นวิดีโอเลียนแบบใบหน้าของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีคนแจ้งความไว้ว่าหายตัวไปหลายปีแล้ว
เธออดคิดไม่ได้ว่าแม้ตัวเธอเองจะรู้สึกผิดสังเกตในครั้งนี้ แต่บริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันก็อาจจะแค่มองเร็วๆ แล้วอนุมัติให้ผ่านไปแบบไม่ทันได้เอะใจ
การหลอกลวงบริษัทที่ทำหน้าที่พิสูจน์สิทธิความเป็นเจ้าของอสังหาฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาก็มีมิจฉาชีพที่ใช้กลลวงมาแล้วหลากหลาย แต่เทคโนโลยี AI จะช่วยทำให้การหลอกลวงนั้นสมจริง รวดเร็ว และง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมาในอดีต
เช่นเดียวกับการใช้ AI มาปลอมแปลงตัวตนของคนอื่น อย่างการปลอมแปลงเสียงให้เหมือนกับคนในครอบครัวเพื่อโทรศัพท์ไปหลอกให้โอนเงิน โทรศัพท์หลอกว่าได้ลักพาตัวคนในครอบครัวไปแล้ว หรือการสร้างวิดีโอปลอมคนที่มีชื่อเสียงให้พูดหรือทำในสิ่งที่ตัวจริงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่เราได้เห็นตัวอย่างกันมาเยอะแล้ว
อีกรูปแบบของการใช้ AI มาช่วยหลอกลวงที่ในตอนนี้พบเห็นได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการใช้ AI สร้างรีวิวปลอม
รีวิวสินค้าหรือบริการมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะรีวิวที่อยู่บนโลกออนไลน์ แบรนด์สินค้าที่ไม่ซื่อสัตย์เริ่มหันมาใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างรีวิวผลิตภัณฑ์หรือคำบอกเล่าจากผู้บริโภคโดยที่คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่ารีวิวเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากผู้ใช้งานตัวจริงแต่เป็นการใช้ AI สร้างขึ้นมา
การตรวจสอบพบว่าบนโลกออนไลน์มีบทความที่เขียนเชิงรีวิวสินค้าตีพิมพ์อยู่บนเว็บไซต์มากมายและหลายๆ เว็บไซต์ก็เป็นสื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียงด้วย โดยจะมาในรูปแบบของบทความรีวิวที่ปลอมแม้กระทั่งชื่อ ภาพโปรไฟล์ และประวัติของผู้เขียนเลยทีเดียว
รีวิวปลอมนอกจากจะมาในรูปแบบของการอวยสินค้าหรือบริการของตัวเองแล้ว ก็อาจจะมาในอีกรูปแบบคือรีวิวโจมตีที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายคู่แข่ง
หรือรีวิวเชิงบวกที่ไม่เป็นความจริงแต่สร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นตลาดด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ตรงไปตรงมา
เรื่องนี้ทำให้คณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐ หรือ FTC ต้องออกไกด์ไลน์มาเพื่อจัดการรีวิวปลอมโดยการใช้ AI ว่าเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายและยังสาวไปได้ถึงบริษัทต่างๆ ที่ซื้อบริการเขียนรีวิวปลอมเหล่านี้ด้วย และรวมไปถึงบริษัทที่ซื้อผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย และบริษัทที่ข่มขู่ลูกค้าที่เขียนรีวิวหรือให้ดาวน้อยด้วย
ทาง FTC บอกว่ารีวิวปลอมไม่เพียงแต่จะทำให้คนเสียเวลาและเสียเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นมลพิษต่อตลาดและทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่ซื่อสัตย์ ดังนั้น ก็หวังว่าการกวาดล้างในครั้งนี้จะทำให้รีวิวปลอมจาก AI ลดน้อยลงและเราจะกลับมาเห็นรีวิวจากผู้ใช้งานจริงๆ มากขึ้น
ในระหว่างที่ยังกวาดล้างกันอยู่นั้น เราในฐานะผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไรว่ารีวิวไหนเป็นรีวิวจริง อันไหนเป็นของปลอมที่ AI สร้างขึ้น เว็บไซต์ The Conversation ได้ให้เคล็ดลับในการจับสังเกตบางอย่างโดยหยิบยกข้อมูลมาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง
ข้อแรก เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง รีวิวที่แท้จริงมีแนวโน้มที่จะชี้ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อย ถ้ารีวิวไหนเทไปอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนที่เหมาะสมก็ให้ตั้งการ์ดระวังไว้ก่อน
อันที่จริงข้อแรกก็คล้ายๆ กับที่ตัวแทนบริษัทตรวจสอบสิทธิอสังหาฯ ได้ทำไป คือเชื่อในสัญชาตญาณตัวเองว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้าดูไม่ใช่การเคลื่อนไหวของมนุษย์จริงๆ จนไปสู่ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นวิดีโอปลอมจาก AI
ข้อสอง อ่านระหว่างบรรทัด รีวิวที่จริงใจมักจะใช้คำที่แสดงถึงความคิดเห็นส่วนตัวที่บอกเล่าประสบการณ์ได้ตรงไปตรงมา ไม่ได้ใช้คำทั่วๆ ไป คำซ้ำซ้อน หรือคำที่ดูโปรโมตจนหนักหน่วง
ข้อสาม ตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อให้แน่ใจว่าคนเขียนรีวิวเป็นผู้บริโภคตัวจริง มีข้อมูลการซื้อสินค้าหรือบริการที่ชัดเจน
และข้อสี่ มองหาแพตเทิร์นที่น่าสงสัย เช่นอยู่ๆ ก็เห็นรีวิวด้านบวกหรือด้านลบของสินค้าหรือบริการนั้นๆ เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากการทำเพื่อจุดประสงค์บางอย่างและไม่ใช่รีวิวจากประสบการณ์ผู้ใช้งานที่แท้จริง
ไม่ว่าจะเป็น AI ที่ใช้เพื่อหลอกลวงปลอมแปลงตัวตน หรือ AI ที่ช่วยเขียนรีวิวเก๊ให้ก็ล้วนเป็นการใช้งาน AI ที่เราจะได้เห็นเพิ่มมากขึ้นพอๆ กับการใช้งานเพื่อสร้างประโยชน์
และมันก็จะแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022