เกษียร เตชะพีระ : ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง! (เปรียบเทียบวิสัยทัศน์)

เกษียร เตชะพีระ

ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง (2)

ต้นปีที่แล้ว สองผู้นำอภิมหาอำนาจของโลกปัจจุบัน ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระเบียบโลกที่พึงประสงค์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ คำปราศรัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต่อที่ประชุม World Economic Forum ประจำปี ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม (http://www.china.org.cn/node_7247529/content_40569136.htm) และคำปราศรัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เมื่อวันที่ 20 มกราคม (https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/the-inaugural-address/) สาระสำคัญโดยสังเขปแห่งวิสัยทัศน์เปรียบเทียบของทั้งสองได้แก่ (ดูตาราง)

ผ่านไปหนึ่งปี ปรากฏผลเชิงปฏิบัติว่าขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามลดทอนพันธกรณีทั้งหลายแหล่ของอเมริกาในต่างประเทศลงและถอนตัวจากข้อตกลงสนธิสัญญาต่างๆ จีนกลับทำตรงกันข้าม คือพยายามเข้าเติมเต็มช่องว่างที่อเมริกาเปิดทิ้งไว้ให้ ขยายอำนาจของตน และแสดงบทบาทใหญ่โตขึ้นในเวทีโลก

จนกล่าวได้ว่าคำขวัญ “Make America Great Again” ของทรัมป์กลับโอละพ่อกลายมาเป็นช่วยเปิดโอกาสส่งเสริมให้ “Make China Great Again” ไปในทางเป็นจริงเสียฉิบ!

ขณะที่นโยบายต่างประเทศในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นไปในทำนอง “นำจากแนวหลัง” (leading from behind) นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเรียกได้ว่า “ถอยจากแนวหน้า” (retreating from the front)! ได้แก่ :-

– ตัดรอนพันธกรณีต่างๆ ของอเมริกาในโลกที่ทรัมป์มองว่าสุ่มเสี่ยง สิ้นเปลือง หรือไม่ชักจูงใจให้ทำในทางการเมืองลง

– สัปดาห์แรกที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง ทรัมป์ออกคำสั่งบริหารห้ามไม่ให้ผู้เดินทางจากประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 7 ประเทศเข้าเมือง โดยอ้างว่าคนเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามที่จะก่อการร้าย

– ทรัมป์แสดงเจตจำนงที่จะถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและจากองค์การยูเนสโก รวมทั้งผละออกจากการเจรจาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสหประชาชาติ

– ทรัมป์ขู่จะยกเลิกเพิกถอนข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างนานาชาติกับอิหร่าน ข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)

– ในงบประมาณแผ่นดินสหรัฐประจำปี ค.ศ.2018 ทรัมป์เสนอที่จะตัดทอนความช่วยเหลือแก่ต่างชาติลง 42% หรือราว 11.5 พันล้านดอลลาร์ ลดการอุดหนุนทางการเงินแก่โครงการพัฒนาต่างประเทศ เช่นที่ดำเนินการผ่านธนาคารโลกลง เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน ทรัมป์ขู่จะตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศใดๆ ที่ลงมติในสหประชาชาติเพื่อประณามการตัดสินใจของเขาซึ่งรับรองกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นหลังทรัมป์ขู่ มติดังกล่าวกลับผ่านการรับรองของนานาประเทศอย่างท่วมท้น

– ทรัมป์เสนอที่จะลดเงินอุดหนุนของสหรัฐแก่สหประชาชาติลง 40% อีกทั้งกดดันสมัชชาใหญ่สหประชาชาติให้ตัดทอนงบประมาณรักษาสันติภาพลง 600 ล้านดอลลาร์

– ทรัมป์อธิบายเหตุผลที่พาอเมริกาถอยห่างจากโลกว่าเพื่อความอยู่รอดของอเมริกาเองซึ่งกำลังอยู่ในภาวะแตกสลาย

ในคำปราศรัยแรกของทรัมป์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เขาเน้นย้ำความสำคัญก่อนอื่นของอำนาจอธิปไตยแห่งชาติ เหนือสปิริตรวมหมู่ของนานาชาติ เขาต้องถืออเมริกาสำคัญก่อนอื่นเสมอ และผู้นำประเทศอื่นก็ย่อมถือชาติตัวเองสำคัญก่อนอื่นใดเหมือนเขานี่แหละ

ทว่า ขณะทรัมป์พาอเมริกา “ถอยจากแนวหน้า” ของโลก สีจิ้นผิงกลับนำจีนเปิดฉากรุกครั้งใหญ่ในโลก!

ด้วยการขยับขยายอำนาจระหว่างประเทศของจีนในระดับและขอบเขตที่ไม่มีประเทศใดได้ทำมาก่อนนับแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา ทุ่มทุนทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและวัฒนธรรมมหาศาลแบบเดียวกับที่อเมริกาเคยทำในคริสต์ศตวรรษที่แล้วเพื่อซื้อใจและแผ่อิทธิพลเหนือนานาชาติ ไม่ว่าจะในรูปความช่วยเหลือแก่ต่างชาติ ความมั่นคงโพ้นทะเล อิทธิพลระหว่างประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยเช่นปัญญาประดิษฐ์

จีนกลายเป็นสมาชิกประเทศชั้นนำที่อุทิศเงินทุนและกำลังพลสนับสนุนงบประมาณของสหประชาชาติและกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การ รวมทั้งเข้าร่วมการเจรจาแก้ไขปัญหาหลักๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย โจรสลัด การแผ่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การค้าการลงทุน และภาวะโลกร้อนอย่างแข็งขัน

ที่โดดเด่นยิ่งได้แก่โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) อันเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งคมนาคมต่างชาติที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งสะพาน ทางรถไฟ ท่าเรือ ถนน ฯลฯ ในทวีปเอเชีย แอฟริกาและไกลโพ้นออกไป

ประเมินว่าต้นทุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอาจขึ้นสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับแผนการมาร์แชลในปี ค.ศ.1947 ที่อเมริกาใจใหญ่ทุ่มเทเงินราว 130,000 ล้านดอลลาร์ (คิดเทียบเป็นมูลค่าปัจจุบัน) ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ยุโรปที่พังพินาศไปขึ้นมาใหม่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ทรัมป์พาอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (T.P.P. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) อันเป็นหมากรุกทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาวางไว้รายล้อมถ่วงทานจีนในเอเชีย

จีนกลับเร่งรัดเจรจากับ 16 ประเทศหรือกว่านั้น เพื่อก่อตั้งเขตการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership (R.C.E.P. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งจีนเป็นโต้โผนำเสนอขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2012 เพื่อตอบโต้กับ T.P.P. โดยกีดกันอเมริกาออกไป

และหากตกลงกันสำเร็จและลงนามกันในปีหน้า R.C.E.P. จะกลายเป็นกลุ่มการค้าใหญ่ที่สุดในโลกหากวัดจากจำนวนประชากรที่ครอบคลุม

ฉากที่สะท้อนปรากฏการณ์ “อเมริกาถอย จีนสำแดงตนแทนที่” ในระดับโลกได้คมชัดบาดตายิ่งได้แก่การประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก เมื่อเดือนตุลาคมศกก่อน ซึ่งมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วมเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบการค้าสินค้าเกษตรกรรมและอาหารทะเลให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ปรากฏว่ารัฐบาลทรัมป์ซึ่งมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ WTO อยู่แล้ว ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมประชุมรายหนึ่งซึ่งเมื่อกล่าวปราศรัยเสร็จก็ผละออกจากที่ประชุมไปแต่เนิ่นๆ กลายเป็นว่าไม่มีตัวแทนอเมริกันอยู่เลยในช่วงการประชุมสองวันเต็มที่เหลือ ปล่อยให้ผู้แทนจีนเข้าร่วมการประชุมทุกรอบทุกวาระและประกาศกลั้วยิ้มหัวเริงร่าว่าบัดนี้จีนจะเป็นผู้ค้ำประกันระบบการค้า WTO แทนแล้ว

ยังไม่ต้องพูดถึงการที่ เหมิงหงเหว่ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้ขึ้นเป็นประธานตำรวจสากล (Interpol) ชาวจีนคนแรก ซึ่งสร้างความตื่นตกใจแก่กลุ่มสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เพราะองค์การตำรวจสากลได้ถูกวิจารณ์ระยะหลังนี้ว่าคอยช่วยรัฐบาลอำนาจนิยมชาติต่างๆ พุ่งเป้ารังควานเล่นงานฝ่ายค้านและนักกิจกรรมประชาธิปไตยของชาตินั้นๆ ในต่างประเทศ (ต่อสัปดาห์หน้า)