ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
คุยกับ ‘นพดล ปัทมะ’
จากเรื่อง ‘นิติสงคราม’
ถึง ‘พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา’
หมายเหตุ “นพดล ปัทมะ” ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “เอื้อย talk” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี โดยมีประเด็นสนทนาน่าสนใจในเรื่อง “นิติสงคราม” และ “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา”
: รัฐบาลเพื่อไทยจะสู้กับ “นิติสงคราม” และบรรดา “นักร้อง” อย่างไร?
เราก็ไม่สามารถไปห้ามคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากพรรคเพื่อไทย ไม่ให้เข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ แต่ทางฝ่ายกฎหมาย (พรรคเพื่อไทย) ก็น่าจะไปพิจารณาเพิ่มเติมว่า จริงๆ “การร้องเท็จ” เนี่ย อาจจะต้องรับผลทางกฎหมายตามมา
การที่ไปกล่าวหาว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) สั่งการให้พรรคเพื่อไทยไป… มันมีสั่งการ สั่งการ สั่งการทั้งนั้น ซึ่งคุณจะต้องไปพิสูจน์ หน้าที่ในการพิสูจน์เป็นของผู้ร้อง
ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าเขาจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างไรว่าอดีตนายกฯ ทักษิณไปสั่งการให้รัฐบาลหรือท่านนายกฯ (แพทองธาร ชินวัตร) หรือพรรคเพื่อไทย ไปยอมให้สมเด็จฮุน เซน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เราคงต้องไปพิจารณาดูว่า นักร้องที่ร้องเท็จ คุณควรจะต้องชดใช้ราคาอย่างไรจากการร้องเท็จ อันนี้คงต้องไปพิจารณาต่อ
ทีนี้ เรื่อง “นิติสงคราม” ผมเรียนว่า ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็อย่าไปหวั่นไหวมาก เขาใช้คำว่า “the truth will set you free-ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ”
ผมใช้หลักการนี้ในการต่อสู้คดีเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร” ที่ผมถูกโจมตีว่า “นพดลขายชาติ” จนกระทั่งท้ายที่สุด 7 ปีผ่านไป ความจริงปรากฏว่านพดลคือคนที่ปกป้องดินแดนของประเทศไทย
ถ้าเราทำความจริง ทำความดี ความจริงมันจะปกป้องเรา ผมก็เลยอยากจะเรียนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ประมาท แต่ก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไรในเรื่องนี้
: ต่อไป ควรจะมีกฎหมายอะไรที่ปราม “นักร้อง” เหล่านี้หรือไม่?
ผมก็เข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชน เพราะว่าการร้องนี่ ถ้ามันไม่มีมูลเลย ปกติศาลท่านก็ยกอยู่แล้ว และมันมีความผิดฐานฟ้องเท็จด้วย
เรื่องนี้มีกฎหมายอยู่ ผมไม่ได้อยู่ในทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีท่านอาจารย์ชูศักดิ์ (ศิรินิล) เป็นประธานคณะทำงาน ผมคิดว่าเขาคงไปศึกษาดูว่าจะให้ผู้ร้องเท็จรับผิดชอบในส่วนใดได้บ้าง
ผมคิดว่ามันควรจะต้องมีมาตรการบ้าง ไม่เช่นนั้น มันก็ร้องเปรอะไปหมด มันจะไม่ใช่ “นิติสงคราม” แล้ว มันจะเป็น “นิติรำคาญ”
มันทำให้ หนึ่ง รัฐบาลก็เสียสมาธิ พรรคเพื่อไทยก็ต้องเสียสมาธิ ต้องเสียทรัพยากรในการที่จะต้องเตรียมทีมทนายไปยื่นคำร้องแก้ข้อคัดค้านต่างๆ
อย่างกรณีผม ผมอยู่เฉยๆ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมปกป้องดินแดน แต่ผมถูกกล่าวหา ผมก็ต้องไปต่อสู้คดี ผมหมดค่าทนายความหลายแสนบาท ผมก็ต้องรับผิดชอบตัวผมเอง จากการกล่าวหาที่มันไม่มีมูล
ท้ายที่สุด เราก็ต้องไปพิสูจน์ความจริง กว่าความจริงจะปรากฏ เราก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาไปค่อนข้างมาก
พูดตรงๆ นะครับ ตอนที่ต่อสู้คดีอยู่ อดีตภรรยาผมตั้งครรภ์ ลูกผมจะคลอดประมาณ 8-9 เดือนแล้ว ความเครียดของเขามันผ่านสายรกไปยังลูกผมที่อยู่ในครรภ์มารับรู้ด้วย เพราะว่าความเครียดของแม่ ลูกรับรู้ได้
ผมยังเจ็บปวดอยู่ ผมไม่ได้เจ็บปวดเรื่องเงินที่เสียไปจากค่าทนาย เงินมันหาได้ แต่เรื่องลูกที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมารับภาระ จากการมาหาโจมตีผมด้วยความเท็จ ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลสมัคร (ผมรับไม่ได้)
แต่ผมอโหสิกรรมให้หมดแล้ว มนุษย์เป็นไปตามกรรม ก็เห็นติดคุกไปหลายคนแล้ว คนที่พยายามใส่ร้ายผม นักการเมืองใหญ่บางคนก็ตกต่ำทางการเมือง อันนี้ไม่ได้ซ้ำเติม
: เรื่องแหล่งก๊าซใหญ่ เขตทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่ยังค้างอยู่ เราควรทำอย่างไร? นายกรัฐมนตรีเคยปรึกษาเรื่องนี้กับคุณนพดลไหม? และกลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยหรือไม่?
ประเด็นแรก อยากจะเรียนว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มันเกิดเพราะว่าลากเส้นไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ถูกต้องไหมครับ มันก็มีวิธีแก้ปัญหาสองทาง คือ หนึ่ง ทำสงคราม สอง เจรจาโดยวิธีทางการทูต ซึ่งแน่นอนประเทศที่ศิวิไลซ์เขาก็เลือกวิธีที่สอง
ที่มาของกลไกในการเจรจาคืออะไร ก็คือ “เอ็มโอยู 44” ซึ่ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในขณะนั้น ไปร่วมลงนามกับทางกัมพูชาเมื่อปี 2544
เจรจาตั้งแต่ 2544 ปัจจุบัน 2567 มัน 23 ปี มันไม่ไปถึงไหน ยังเจรจากันไม่ได้เลย แล้วกลไกการเจรจามันก็เป็นการเจรจา มันไม่ใช่เป็นการไปยกเกาะกูดหรือยกดินแดนให้กัมพูชา
เมื่อ 2-3 วันก่อน ยังมีนักวิชาการคนหนึ่งไปบอกว่าเกาะกูดเป็นของไทย ก็ใช่ดิ เกาะกูดมันก็เป็นของไทย “เอ็มโอยู 44” ไม่เคยยกเกาะกูดให้กัมพูชา เกาะกูดก็เป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส แล้วคุณจะไปเขียนบทความนี้ให้คนเข้าใจผิดทำไม?
ประเด็นที่สอง เรื่องนี้ท่านนายกฯ มีกระทรวงการต่างประเทศ มีรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านมีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ท่านมีกรมแผนที่ทหาร มี สมช. ช่วยให้คำแนะนำท่านอยู่แล้ว ท่านไม่ต้องมาปรึกษาผมหรอก เพราะผมเป็นแค่ ส.ส. ไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร
ประเด็นที่สาม อย่างที่ผมเรียน มันจะไม่มีการซ้ำรอยใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะผมทำ ก็ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน แต่ถูกโจมตี ใส่ร้าย อันนั้นทางบก
พอทางทะเล ผมคิดว่าคงไม่สามารถไปใส่ร้ายง่ายๆ แบบที่ใส่ร้ายผมในอดีต เพราะเราก็เรียนรู้ว่าการถูกใส่ร้ายในอดีตมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องหาทางชี้แจงให้มันกระจ่าง ให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ได้ทราบข้อเท็จจริง
ผมย้อนกลับนิดเดียว สมัยที่ผมทำเรื่องปราสาทพระวิหาร ถ้าสมมุติทำตามผม ไม่มีการไปประท้วง ไม่มีการปะทะตามแนวชายแดน จะไม่มีแม่ม่าย ก็คือทหารไทยที่ต้องไปสังเวยชีวิตที่แนวชายแดน ซึ่งผมสงสารพี่น้องทหารหาญและครอบครัวเขาเป็นอย่างยิ่ง
เพราะถ้าเราเจรจาทางการทูต มันก็ไม่ต้องรบกัน นอกจากนั้น กัมพูชาจะไม่นำคำตัดสินศาลโลกเมื่อปี 2505 ไปตีความที่ศาลโลกอีกครั้งหนึ่งในปี 2554 เราจะไม่ต้องเปลืองค่าทนาย ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน
สิ่งที่ผมทำมันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าใครสนใจ ก็ไปอ่านคำพิพากษาของศาลได้
: เรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาจะจบในรัฐบาลชุดนี้ไหม?
ผมไม่มั่นใจ ว่ามันจะจบในรัฐบาลนี้หรือไม่ เพราะการเจรจาทั้งสองฝ่ายมันก็อยู่ที่แต่ละฝ่ายจะมีท่าทีอย่างไร แล้วก็ต้องยอมรับว่า โดยประสบการณ์การทำงานกับกัมพูชา ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ โห ไม่ใช่เจรจาง่ายๆ
ไม่ใช่เดินในสวนสาธารณะแล้วจะเสร็จ ไปเด็ดดอกไม้มาดม มันไม่ใช่ง่ายอย่างนั้น คนที่รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศหรืองานด้านกฎหมายระหว่างประเทศ (ของกัมพูชา) เขานักเรียนฝรั่งเศส มีความรู้ความสามารถเยอะ เพราะฉะนั้น ผมถึงไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเสร็จภายในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลท่านนายกฯ แพทองธาร ตั้งเป้าไว้ คือ หนึ่ง จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้ จะต้องไม่เสียผลประโยชน์ สอง การเจรจาจะต้องไม่เสียดินแดน สาม การเจรจาจะต้องเข้าสู่การอนุมัติของรัฐสภา ให้ตัวแทนปวงชนชาวไทยได้เห็นชอบ
ผมมั่นใจสามหลักการนี้ ส่วนจะสำเร็จเร็วหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022