ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
นิรโทษกรรม
ทำได้โดยผู้มีอำนาจ
เพื่อผู้มีอำนาจ (1)
ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนี้ยืนยันกับเราว่า การนิรโทษกรรม คือการยกเว้นโทษให้กับผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ซึ่งจะทำได้โดยผู้มีอำนาจจริงๆ ในขณะนั้นยินยอม
จากนั้นจึงค่อยเผื่อแผ่อานิสงส์ของกฎหมายไปยังผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ไร้อำนาจ หรือเหยื่อ ให้พ้นผิดจากการกระทำใดๆ ซึ่งพวกเขาจะทำผิดหรือไม่ทำก็ตาม
โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองการปกครอง ดำเนินต่อไปได้ การประนีประนอม การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และการสืบทอดอำนาจ จะเป็นขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น อย่าไปเพ้อฝัน ว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้กับคนธรรมดา ถ้ายังไม่มีอำนาจการต่อรอง
ที่ผ่านมามีกฎหมายนิรโทษกรรม จำนวนทั้งสิ้น 23 ฉบับ โดยออกเป็นพระราชกำหนด จำนวน 4 ฉบับ และออกเป็นพระราชบัญญัติ จำนวน 19 ฉบับ
ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ การรัฐประหาร หรือความพยายามในการก่อการรัฐประหาร ก่อการกบฏ ก่อการจลาจล เพื่อยึดอำนาจการปกครอง หรือกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร การกระทำความผิดตามกฎหมายคอมมิวนิสต์
และมีการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายประชาชนที่มาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับ ได้แก่
การนิรโทษกรรม
กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516…
(ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ)
“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
มีการวิเคราะห์ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่ได้รวมถึงฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นทหารตำรวจที่ปฏิบัติการจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยเหตุผลว่าสำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น เมื่อกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมิได้รับการคุ้มครองดังกล่าว
แต่ผู้วิเคราะห์การเมืองบางคนกล่าวว่าที่ทำแบบนี้เพื่อเป็นการกดดันกลุ่มอำนาจเดิม ไม่ให้ฟื้นอำนาจขึ้นมาอีก ถ้าใครมีปัญหาก็จะใช้ข้อหาสังหารประชาชนมาเล่นงาน
กฎหมายนิรโทษกรรมจะอ้างเหตุผลอย่างไรแต่ในทางการเมืองแล้วเหตุผลที่สำคัญก็คือผู้ชนะเป็นผู้กำหนดว่าจะนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง และมีขอบเขตแค่ไหน
ในกรณี 14 ตุลาคม 2516 นั้นฝ่ายนักศึกษาประชาชนอยู่ข้างผู้ชนะ ดังนั้น จึงได้รับผลประโยชน์อันนี้ด้วย และมีชื่อเรียกว่าเป็น…วีรชน…
แต่ในทางการเมืองนั้นแทบไม่ได้มีส่วนอะไรเลย แม้หลังเหตุการณ์ ในปี 2517 จะมีการชุมนุมเรียกร้องขอสิทธิการเลือกตั้งสำหรับคนที่มีอายุ 18 ปี ก็ยังไม่ได้
การนิรโทษกรรม
กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มี 2 รอบ
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งแรก เพื่อปกป้องผู้ทำการรัฐประหารและผู้เกี่ยวข้อง
พล.ท.ไสว ดวงมณี สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ผู้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ต่อสภาปฏิรูปฯ ซึ่งร่างเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2519
(แนะนำให้ไปหาอ่านเอกสารฉบับเต็มที่เป็นรายงานการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งที่ 1-5)
เห็นได้ว่าในที่ประชุมมีความวิตกกังวลว่าขอบเขตของกฎหมายนิรโทษกรรมจะแคบเกินไป ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นแต่ผู้นำการรัฐประหารเพียง 20 กว่าคน นอกจากนั้นเวลาในการทำการรัฐประหารก็เป็นช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ และหลายคนก็ได้ออกมาพูดว่าพวกเขามีส่วนร่วม แต่เป็นเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม เช่น ตั้งแต่คืนวันที่ 5 หรือหลังจากนั้น และมีบางส่วนที่อาจเตรียมการมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ดังนั้น ถ้าไม่เขียนให้ดีจะมีคนที่ยังมีความผิดติดตัวอยู่หลายคน
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ… “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว…
…ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำใน วันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
และเมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมา ผู้มีอำนาจและผู้ที่ทำการรัฐประหารผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังก็ได้ประโยชน์กันหมดยกเว้นนักศึกษาประชาชนที่เป็นเหยื่อและถูกสังหารในวันนั้น ซึ่งบางส่วนต้องหนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
แก่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4-6 ตุลาคม 2519
11 พฤศจิกายน 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการรัฐประหารซ้ำ ในขณะที่สถานการณ์สงครามจรยุทธ์กระจายไปทั่วประเทศ เพราะนักศึกษาไปร่วมกับ พคท. เป็นแรงบีบให้รัฐบาลต้องหันไปคิดเกมใหม่คือการเจรจาสงบศึก
แม้ในต้นปี 2521 จะมีการสั่งฟ้องผู้ที่ถูกคุมขังกรณี 6 ตุลาคม 2519 จำนวน 18 คน และผู้ที่ยังหลบหนีไปอีก 30 กว่าคน แต่แรงบีบคั้นจากต่างประเทศซึ่งส่งผู้แทนเข้ามาฟังการพิจารณาคดีในศาลทหาร ตลอดจนการสืบพยานของฝ่ายโจทก์เองที่ทำให้สังคมได้รับรู้ความจริงมากขึ้น และกลัวความจริงจะเปิดเผยว่าใครที่อยู่เบื้องหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 จึงทำให้เกิดการนิรโทษกรรมขึ้นมาอีกครั้งในกลางปี 2521 ผ่านสภารวดเดียว 3 วาระ
รอบสองจึงออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ
“มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
เราอาจมีข้อสรุปของการนิรโทษกรรมในกรณี 6 ตุลาคมได้ดังนี้
1. เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ที่ทำความผิดอย่างแท้จริง โดยไม่สนใจเลยว่านักศึกษาประชาชนจะเป็นอย่างไร จะต้องได้รับชะตากรรมที่โหดร้ายได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
2. การนิรโทษกรรมให้กับเหยื่อคือนักศึกษาประชาชนเกิดขึ้น เพราะแรงกดดันทางการเมือง การทหาร รอบด้านกลัวความจริงจะเปิดเผยจึงรีบปิดเกมแต่ในขณะเดียวกันก็ได้พ่วงผลประโยชน์ของคนที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ในกฎหมายนี้และโทษกันครั้งนี้ ใช้รูปแบบของการให้อภัยกันเถอะคนไทยด้วยกัน
3. ผลประโยชน์ของการออกนิรโทษกรรมก็คือต้องการเปิดระบบการปกครองแบบเผด็จการครึ่งใบหรือประชาธิปไตยครึ่งใบขึ้นมา เพื่อสืบทอดอำนาจปกครองต่อไปได้ สะดวกขึ้น ความขัดแย้งที่รบกันด้วยกำลังอาวุธลดลง ซึ่งก็ติดตามมาด้วยการใช้นโยบาย 66/23 เปิดการสงบศึกกับพวกที่จับอาวุธอยู่ในป่า
การนิรโทษกรรม
คณะรัฐประหาร รสช. 2535
ภายหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 มีการตั้งรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือ หากคณะ รสช.กระทำผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับ รสช. แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชาติชาย ส่งผลให้ คตส.ยังคงพิจารณาคดีกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชาติชายต่อไป เป็นการบีบไม่ให้กลับมาเล่นการเมือง
ธันวาคม 2534 รัฐบาลอานันท์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535
มีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ รสช. ทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ จึงมีการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2535 และในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2535 ทหารและตำรวจใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุม 2 ครั้งจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ต้องถอยไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
21 พฤษภาคม 2535 แกนนำการชุมนุมตัดสินใจสลายการชุมนุม
แต่ พล.อ.สุจินดา ยังไม่ประกาศลาออก จึงกลายเป็นผู้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเสียเอง ซึ่งสภาก็ไม่ยอมรับ
…ตอนต่อไปจึงต้องมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาเกี่ยวข้องด้วย…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022