ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยมากมาโดยตลอด
2-3 ปีมานี้ตำรวจญี่ปุ่นกำลังเผชิญงานหนักกับอาชญากรรมเกิดขึ้นต่อเนื่อง
เหตุการณ์ฆ่าหรือทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์จำนวนมากเกิดในบ้านพักของประชาชน ชายฉกรรจ์หลายคนจู่โจมเข้าไปปล้นทรัพย์และนาฬิการาคาแพงในร้าน และทำร้ายร่างกายเจ้าของร้าน
อีกหลายคดีเชื่อมโยงได้ว่าคนขับรถพร้อมกับพวกที่นั่งรถมาด้วยกันก่อเหตุบุกรุกเคหสถานหยิบฉวยทรัพย์สินและทำร้ายร่างกายเจ้าของบ้านที่มักเป็นผู้สูงอายุ เป็นต้น ในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว ชิบะ โยโกฮามา และเขตชนบทในบ้านผู้สูงอายุ
ผู้ก่อเหตุที่ถูกจับได้ มักเป็นคนวัยหนุ่มอายุ 20 กว่าๆ หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นธรรมดาของนักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษาที่ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเล่าเรียน ซื้อของที่อยากได้ หรือกินดื่มเที่ยวเตร่ตามประสาคนหนุ่ม
เรียกได้ว่า ไม่ใช่ “มืออาชีพ” ในสายงานนี้แน่นอน
ว่าแต่จับพลัดจับผลูมารับ “งานสายดาร์ก” แบบนี้ได้อย่างไร?
“งานพิเศษสายดาร์ก” (闇バイト) มักประกาศหาผู้สมัครทางสื่อออนไลน์ ทวิตเตอร์ บ้าง เป็นงานง่าย รายได้ดี ทำแป๊บเดียว ไม่ทันเหนื่อยก็ได้เงินแล้ว พอเหยื่อหลงเชื่อติดต่อเข้าไป ก็ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ข่มขู่ ไม่ให้เปลี่ยนใจไม่รับงาน หรือหนักกว่านั้นก็คือ ไม่กล้าปฏิเสธงานครั้งต่อๆ ไปอีก
ในระยะ 2-3 ปีมานี้ “งานพิเศษสายดาร์ก” นี้เป็นที่รู้จักและเกี่ยวพันกับหลายคดีที่เกิดขึ้น ลงทะเบียนแล้วเชื่อมต่อไปยังชื่อผู้จ้างงาน “รูฟี” ซึ่งไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในญี่ปุ่น แต่อยู่ในฟิลิปปินส์รับสมัครผู้สนใจทำงานพิเศษ แต่เดิมมักเป็นงานหลอกลวง โกง ฉ้อฉล แล้วพัฒนามาเป็นงานปล้น ฆ่าชิงทรัพย์ด้วยวิธีการที่เหี้ยมโหดมากขึ้น ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างคำชักชวนให้หลงเชื่อได้ง่ายๆ เช่น
– เสร็จงานแล้วจ่ายเงินทันทีวันรุ่งขึ้น (ไม่ต้องรอรับตอนสิ้นเดือน)
– ค่าตอบแทนงามๆ ที่ไม่ใช่ “งานดาร์ก” (แต่ไม่บอกรายละเอียดของงาน) หรือ
– งานพาคนไปส่งที่หมาย ค่าตอบแทน 5 หมื่นเยน (11,500 บาท)
– ตามเอาเงินของบริษัทที่ถูกเชิดหนีไป จ่าย 3.5 แสนเยน (85,000 บาท)
– งานย้ายบ้าน
– งานขับแท็กซี่ ขับรถส่งของ รับส่งเอกสาร รายได้สูง เป็นต้น
งานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประกาศรับสมัครทางออนไลน์ ตรงเข้ากลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ นักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษามหาวิทยาลัย ใช้สื่อโซเชียลอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวัน
จากผลสำรวจ นักเรียนมัธยมปลาย 46.6% ตอบว่าค้นหางานพิเศษจากสื่อออนไลน์ ไม่ได้ดูประกาศในนิตยสารเฉพาะด้านงานพิเศษ และ 34.5% เคยทำงานที่หาได้จากสื่อออนไลน์แล้ว
นอกจากนี้ มีผู้ตอบว่า เคยเจองานที่น่าสงสัยในสื่อออนไลน์ ถึง 41.3% และอีก10.4% เคยถูกชักชวนให้ทำงานที่น่าสงสัย
คนที่หลงเชื่อสมัครทำงานพิเศษ แต่เกิดสงสัยว่าไม่น่าจะใช่งานถูกกฎหมาย ทำไมจึงไม่กล้ายกเลิกหรือปฏิเสธ? แต่จำยอมทำตามที่คนจ้างสั่ง
นั่นก็เพราะตอนสมัครต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น กรอกข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว ถ่ายรูปใบหน้าจริง ลงทะเบียนแล้วจึงได้รับแจ้งให้ทราบรายละเอียดของงาน
พอมาถึงตรงนี้ แม้จะสงสัยว่าเป็น “งานสายดาร์ก” แต่ไม่ทันเสียแล้ว ข้อมูลสำคัญของตัวเองและครอบครัวถูกส่งไปแล้ว และถูกใช้ข่มขู่ ไม่ทำก็ไม่ได้
ตัวอย่างที่ผู้ต้องหาให้การกับตำรวจว่ากลัวคำขู่ เช่น จะไปหาที่บ้าน พ่อแม่จะไม่รอดแน่ ถ้าไม่ทำงานนี้ก็ระวังไว้จะฆ่าให้หมดทุกคนในบ้าน เป็นต้น
ตัวอย่างของเหยื่อ “งานพิเศษสายดาร์ก” วัย 20 ปี ถูกจับกุมและต้องรับโทษจำคุก 9 ปี เพราะมีหนี้ก้อนใหญ่ อยากได้เงินมาใช้หนี้ และเพื่อใช้จ่ายประจำวัน
เมื่อพบข้อความ “งานง่าย รายได้งาม” ด้วยความอยากได้เงิน จึงหลงเชื่อติดตั้งแอพพ์ที่ผู้จ้างอ้างว่าข้อความที่ติดต่อกันจะถูกลบไปเมื่อจบงาน
งานแรกๆ เป็นงานเอาบัตรเอทีเอ็มหลายใบที่ผู้จ้างสั่งให้ไปเอาจากตู้ล็อกเกอร์ที่สถานีรถไฟแล้วไปตระเวนกดเงิน จากนั้นให้ไปเข้าห้องน้ำที่ระบุ ได้ยินเสียงเคาะประตู 3 ครั้งแล้วส่งซองเงินออกมาทางใต้ประตูแก่ผู้รับ ไม่ได้เจอหน้าคนรับเลย
จบงานได้รับค่าจ้างเพียงเศษเสี้ยวของเงินปึกใหญ่ที่อยู่ในซอง แต่ก็ไม่ใช่งานยาก ไม่ได้เหนื่อยอะไร เพียงแต่ตื่นเต้นบ้าง
แต่ต่อมาถูกใช้ให้เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายที่ระบุ รู้ทั้งรู้ว่าอาจถูกตำรวจจับ แต่ด้วยความโลภ ค่าจ้างงาม ที่ไม่มีทางได้จากการทำงานปกติ ก็ฮึกเหิม กล้าเสี่ยง อีกทั้งผู้จ้างก็พูดจาหว่านล้อมอย่างน่าฟังจนเคลิบเคลิ้ม
งานลักทรัพย์ครั้งแรกได้ค่าจ้างสูงมาก คิดว่าทำครั้งเดียวจะเลิกแล้ว แต่…มีงานต่อไปให้ทำอีก เมื่อปฏิเสธไม่ทำ ท่าทีของผู้จ้างต่างไปจากเดิมมาก กลายเป็นข่มขู่ จะทำร้ายทั้งครอบครัว อยากแจ้งตำรวจแต่ก็กลัวถูกจับจากงานแรก
ไม่มีทางเลือกต้องทำงานอีก จนถูกจับกุมและต้องรับโทษจำคุก
ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานให้ความเห็นว่า ค่าแรงของญี่ปุ่นที่หยุดนิ่ง ไม่เคยขึ้นมานานปี น่าจะเชื่อมโยงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “งานพิเศษสายดาร์ก” ขยายวงกว้างออกไปก็ได้ ในเมื่อทำงานสุจริตแล้วไม่พอกิน คนวัยหนุ่มก็ยอมเสี่ยง ทั้งๆ ที่รู้ถึงผลที่จะตามมา
ตำรวจญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาให้คำแนะนำว่า หากหลงเข้าไปในวังวนนี้แล้ว แม้ว่าได้ให้ข้อมูลส่วนตัวไปแล้วแก่มิจฉาชีพเหล่านี้ และถูกข่มขู่ จะทำร้ายร่างกายก็ไม่ต้องตกใจกลัว จนต้องลงมือทำงานตามที่สั่ง ให้ตั้งสติ หยุดคิดก่อนจะทำการใดๆ แล้วรีบแจ้งตำรวจทันที ตำรวจพร้อมปฏิบัติการเพื่อรักษาความปลอดภัยของท่านและครอบครัวแน่นอน
ผู้ต้องหาหลายราย เมื่อถูกตัดสินจำคุก รับโทษแล้ว สำนึกผิดอยากขอโทษเจ้าของทรัพย์และครอบครัว อยากเตือนคนหนุ่มสาวที่กำลังจะเข้ามาสู่วังวนนี้ว่า ความโลภอยากได้เงิน และประมาทว่าจะรับมือกับ “งานพิเศษสายดาร์ก” นี้ได้ โดยคาดไม่ถึงหรือไม่เคยรู้มาก่อนถึงความโหดเหี้ยมของจริง
“งานพิเศษสายดาร์ก” ก้าวเท้าเข้าไปแล้วออกไม่ได้หรอก ประตูคุกรออยู่แน่นอน…
จึงเป็น “จุดเริ่มต้นของจุดจบ” (終わりの始まり) โดยแท้…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022