ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
แม้ว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ประสบปัญหา “เหตุการณ์อุทกภัย 2567” จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และทยอยทำบิ๊กคลีนนิ่งเตรียมพร้อมสำหรับเปิดการท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี 2567 แล้ว
แต่สิ่งที่วิกฤตภัยธรรมชาติครั้งนี้ ยังทิ้งค้างไว้กับประชาชนคือ ความเสียหาย
โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอันดับ 1 คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายที่ 2.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 74.3% และภาพรวม มูลค่าความเสียหายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย คิดเป็น 0.21% อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เรียกว่าปี 2567 เป็นปีที่ชาวเกษตรกรและภาคการเกษตร กัดฟันสุดขีด จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เอลนีโญ-ลานีญา ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนตลอดทั้งปี ภัยแล้งจบ ต่อด้วยฝนตกหนัก รวมถึงเจอวิกฤตน้ำท่วมซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ภาคเกษตรในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรเสียที่ทำมาหากินไปอย่างฉับพลัน
ส่งผลกระทบต่อภาพรวมจีดีพีการเกษตรในปี 2567
สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม-กันยายน 2567) จีดีพีจะหดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศและอุทกภัย
โดยการผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบ โดยสาขาพืช หดตัว 0.4% จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567 ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง
ต่อมา ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต มีโรคพืชและแมลงรบกวนสำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง
สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และเงาะ
โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลงเนื่องจากในช่วงเพาะปลูกมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน
มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงตามเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรบางรายปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบการเกิดโรคใบด่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
ยางพารา ผลผลิตลดลงเนื่องจากพื้นที่ปลูกในภาคใต้และภาคเหนือยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมัน รวมถึงทั่วประเทศมีฝนตกชุก ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง
ทุเรียน ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงออกดอก และในช่วงติดผลมีอากาศร้อนสลับฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก ดอกบางส่วนแห้งฝ่อและหลุดร่วง ส่วนที่ติดผลแล้วบางส่วนเกิดการร่วงหล่นเสียหาย
และเงาะ ผลผลิตลดลงจากเนื้อที่ยืนต้นลดลงจากการโค่นต้นเงาะที่มีอายุมากและทรุดโทรม เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
ด้านสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.3% เนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต
สศก.จึงประเมินแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้ง ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วง -0.8%-0.2% เมื่อเทียบกับปี 2566
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุความเสียหายของภาคเกษตรครอบคลุมถึง 90% หรืออยู่ในกรอบ 3-4 หมื่นล้านบาท เป็นความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อจีดีพีภาคการเกษตรในระดับหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ของภาคการเกษตรปี 2567 นี้มีทั้งเรื่องของภัยแล้ง
เมื่อพอมาเจอน้ำท่วมซ้ำอีกหลายระลอก จึงเป็นสาเหตุทำให้ภาคการเกษตรนั้นเจริญเติบโตต่ำ แต่คาดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะมีผลต่อภาคการเกษตร ให้ผลผลิตลดลงประมาณ 0.1-0.2% เท่านั้น
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประมาณเบื้องต้นว่าจีดีพีภาคเกษตรปี 2567 จะโตอยู่ที่ 0-0.5% ไม่ถือว่าร่วงมากจนอยู่ในตัวเลขที่น่ากลัว
เพราะรัฐบาลกำลังมีมาตรการเยียวยาและชดเชยให้กับชาวเกษตรกร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งดำเนินการเยียวยา
พร้อมเชื่อว่า รัฐบาลจะต้องมีการป้องกันในส่วนของชลประทาน และระบบของการระบายน้ำในอนาคต
ด้านหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเป็นที่จับตาว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูพี่น้องชาวเกษตรกรอย่างไร
เบื้องต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระยะเร่งด่วน 3 มาตรการ อาทิ
1. การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด 6 โครงการ
2. การปรับพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่เกษตร 2 โครงการ
และ 3. มาตรการลดภาระหนี้สินให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ
พร้อมปรับเกณฑ์ย่นระยะเวลาในการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยา จาก 90 วัน ให้เหลือ 65 วัน
อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย โดยทางกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหายไปกว่า 90% ซึ่งก็จะเร่งเยียวยาและฟื้นฟูตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงกรมวิชาการเกษตร ได้เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่ที่มีมวลน้ำที่ท่วมขังในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และสุโขทัย และเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ชีวภัณฑ์ รวมถึงสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อสกัดกั้นการระบาดอย่างเร่งด่วนของโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างฉุกเฉินทันต่อสถานการณ์
มาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเพียงพอ และจะขยายไปสู่การป้องกันในอนาคตหรือไม่ รอลุ้นเลย!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022